ครม.ประชุมลับค้านคำตัดสินอนุญาโตตุลาการสั่งจ่าย1.5พันล้านให้บ.ถือหุ้นดอนเมืองโทลล์เวย์ สั่งคมนาคมสู้

ครม.ประชุมลับค้านคำตัดสินอนุญาโตตุลาการสั่งจ่าย1.5พันล้านให้บ.ถือหุ้นดอนเมืองโทลล์เวย์ สั่งคมนาคมสู้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ครม.ปิดห้องประชุมลับ ไม่พอใจคำตัดสินอนุญาโตตุลาการให้จ่าย1.5พันล้านบริษัทถือหุ้นดอนเมืองโทลล์เวย์ อ้างไม่ใช่คู่สัมปทานรัฐโดยตรง รมต.ฉุนยุบทั้งคณะ สั่งคมนาคมดูกม.เตรียมสู้ชั้นศาล ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ปิดห้องประชุมลับในช่วงเวลา 12.00 น. เป็นเวลาประมาณ 15 นาที โดยไม่อนุญาตข้าราชการอยู่ร่วมรับฟัง เพื่อพิจารณากรณีที่คณะอนุญาโตตุลาการตัดสินให้กรมทางหลวงจ่ายค่าเสียหายจำนวน 29 ล้านยูโร หรือประมาณ 1,500 ล้านบาท ให้แก่บริษัท วอเตอร์บาวน์ จำกัด ผู้รับเหมาจากประเทศเยอรมนี หนึ่งในผู้ถือหุ้นบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ผู้รับสัมปทานโครงการดอนเมืองโทลล์เวย์ กรณีที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำผิดสัญญา ขอให้ลดค่าผ่านทางเหลือ 20 บาทตลอดสาย ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวถูกหยิบยกขึ้นหารือในที่ประชุม ครม.เป็นวาระจร โดยตีตรา ลับที่สุด มีนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นเจ้าของเรื่อง

ระหว่างการพิจารณา ครม. ทั้งหมดต่างแสดงความไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการ เนื่องจากมองว่าบริษัท วอเตอร์บาวน์ไม่ได้อยู่ในฐานะคู่สัมปทานของรัฐโดยตรง แต่เป็นเพียงผู้ถือหุ้นในบริษัทที่มารับสัมปทานจากรัฐเท่านั้น จึงไม่น่าจะมีสิทธิมาฟ้องรัฐไทย แต่บริษัทดังกล่าวกลับอ้างสิทธิตามสนธิสัญญาว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนต่างตอบแทน ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี พ.ศ.2545 ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐ

รัฐมนตรีรายหนึ่งแสดงความคิดเห็นต่อที่ประชุมว่า รัฐมักเป็นฝ่ายเสียเปรียบเอกชนทุกครั้งที่มีข้อพิพาทกัน และนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ จึงอยากเสนอให้ยกเลิกกระบวนการอนุญาโตตุลาการไปเลย อย่างไรก็ตาม ครม.ส่วนใหญ่เห็นว่ากระบวนการดังกล่าวจำเป็นต้องมีอยู่ เพราะเป็นการประนีประนอมระหว่างคู่ขัดแย้งก่อนที่เรื่องจะขึ้นสู่การพิจารณาในชั้นศาล ภายหลังการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ครม.ได้มีมติให้ร้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในกรณีดังกล่าว โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาข้อกฎหมาย และเตรียมการต่อสู้คดีในชั้นศาลต่อไป ซึ่งตามข้อกฎหมายรัฐมีเวลาในการดำเนินการ 90 วันหลังได้รับสำเนาคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการ ครม. หรือจะครบกำหนดในช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้

รายงานข่าวแจ้งว่าที่ประชุม ครม.นัดเดียวกันนี้ ยังตีกลับร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ทั้งนี้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต้องการผลักดันร่างฉบับแก้ไขดังกล่าว โดยการห้ามนำเอาระบบระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ มาใช้ในสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชนทุกประเภท ไม่ว่าสัญญานั้นจะเป็นสัญญาทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองหรือไม่ก็ตาม โดยพยายามชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ปัญหาร้อยละ 8-10 ที่มีการนำเรื่องเข้าอนุญาโตฯ จะทำให้รัฐเป็นฝ่ายแพ้ โดยเฉพาะกรณีค่าโง่ทางด่วนในอดีต ที่ต้องแก้ไขก็เพื่อป้องกันรัฐไม่ให้เสียเปรียบเอกชน เพราะพบว่ามีปัญหาเรื่องการทุจริต โดยคนในฝ่ายรัฐเองที่เข้าไปเป็นกรรมการอนุญาโตฯ ดังนั้น นอกจากจะเป็นการแก้ความเสียเปรียบแล้ว ยังเป็นการแก้การทุจริตของคนของรัฐด้วย

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี สอบถามนายพีระพันธุ์ว่า ถ้าใช้แนวทางที่เสนอ จะมีปัญหาในการทำธุรกิจกับนานาชาติหรือไม่ และมีประเทศใดบ้างที่ไม่ใช้กระบวนการอนุญาโตฯระหว่างรัฐกับเอกชน นายพีระพันธุ์ชี้แจงว่า จริงๆ แล้วในต่างประเทศจะใช้รูปแบบของอนุญาโตฯเฉพาะกรณีเอกชนกับเอกชนเท่านั้น ขณะที่นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้ความเห็นว่า หากแก้ไขเรื่องนี้ อาจทำให้เอกชนไม่กล้ามาทำสัญญากับรัฐได้ ส่วนนายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เสริมว่า วันนี้ไทยอยู่ในระบบการค้าเสรี และกำลังจะมีการทำความตกลงเขตการค้าเสรี หากมีการจำกัดตรงนี้ก็กลัวว่าจะมีปัญหา อย่างไรก็ตาม นายพีระพันธุ์พยายามชี้แจงว่า แม้กระบวนการอนุญาโตฯจะต้องไปจบที่ศาล แต่ในความเป็นจริงคดีส่วนใหญ่ถ้ารัฐแพ้ในชั้นอนุญาโตฯ เมื่อไปถึงศาลก็จะแพ้อีก ยากที่จะชนะ อย่างค่าโง่ทางด่วน เอกชนมีเอกสารไปสู้ในชั้นศาลถึง 20 คันรถ แต่ฝ่ายรัฐไม่ได้เตรียมอะไรเลย ในที่สุดนายอภิสิทธิ์ได้สรุปให้กระทรวงยุติธรรมนำกลับไปพิจารณาข้อทักท้วงและนำเสนอ ครม.พิจารณาใหม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook