คลีนิคกทม.เมินรับยาต้านหวัด09 ร่วมแค่31จาก181แห่ง แพทยสภาหวั่นถูกฟ้อง ห่วงจ่ายยาเด็กเล็ก

คลีนิคกทม.เมินรับยาต้านหวัด09 ร่วมแค่31จาก181แห่ง แพทยสภาหวั่นถูกฟ้อง ห่วงจ่ายยาเด็กเล็ก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คลีนิคเอกชนในกทม.เมินร่วมรับยาต้านไวรัสหวัด2009 สมัครเข้าโครงการเพียง 31 จากทั้งหมด 181 แห่ง แพทยสภาหวั่นถูกฟ้องหากรักษาผิดพลาด ผู้ป่วยไม่เข้าใจ ห่วงการจ่ายยาให้เด็กเล็ก แบ่งปริมาณไม่เหมาะสมกับน้ำหนักและอายุ เหตุไม่มีเครื่องละลาย แนะควรส่งเด็กที่ป่วยรักษาต่อในโรงพยาบาล

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์ ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (สทท.11) เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ว่า ขณะนี้ทั่วโลกกังวลกันมากรัฐบาลไทยเองก็ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดจุดหลักขณะนี้จะอยู่ระบบการกระจายยาและติดตามว่ามีผลกระทบต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่อะไรหรือไม่ส่วนมาตรการป้องกันกรณีที่อาจมีการแพร่ระบาดในระลอก 2 และ 3เท่าที่ติดตามพบว่าสถานการณ์ใน กทม.น่าจะเริ่มเบาลงแม้จะไม่ชัดเจน แต่อย่างน้อยก็ไม่ใช่ขาขึ้น

ผมไม่ค่อยสบายใจเพราะมีคนชอบไปพูดว่าเรามีปัญหามากที่สุดในโลก ที่จริงมันไม่ใช่ เพราะองค์การอนามัยโลก (ฮู) เลิกให้รายงานตัวเลขไปแล้วหลายประเทศถือว่าเป็นโรคปกติธรรมดาไปแล้ว ตอนนี้ประเทศที่พบการติดเชื้อและการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นมากคือ ประเทศชิลี บราซิล ออสเตรเลีย แคนาดา และอังกฤษ ถึงขั้นบอกว่าบางวันอาจมีผู้เสียชีวิตเป็นร้อยคน ซึ่งผมหวังว่าจะไม่เป็นอย่างนั้นและยังไม่อยากจะเชื่อ นายอภสิทธิ์กล่าว

ด้านนพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธานประชุมการกระจายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ และจัดอบรมความรู้ในการวินิจฉัยโรคและการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ 2009ให้กับคลีนิคในพื้นที่ กทม.จำนวน 181 แห่ง ที่ สธ. โดยที่ประชุมได้แจกใบสมัครเข้าร่วมเป็นคลีนิคเครือข่ายของ สธ. มีให้เลือก 2 แนวทาง คือ 1. เข้าร่วมเฉพาะการคัดกรองผู้ป่วย และส่งต่อในโรงพยาบาลแม่ข่ายที่กำหนด 2.เข้าร่วมโครงการ และพร้อมจ่ายยาต้านไวรัสตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยคลีนิคใดตอบรับที่จะกระจายยาต้านไวรัส และมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ กองประกอบโรคศิลปะจะจ่ายยาต้านไวรัสให้ทันทีคลีนิคละ 50 เม็ด รักษาผู้ป่วยได้ 5 คน และพร้อมที่จะใช้รักษาประชาชนตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป

นพ.สมยศ กล่าวว่า มีคลีนิคลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเป็นเครือข่ายคัดกรองและส่งต่อผู้ป่วย 39 แห่ง จากทั้งหมด 181 แห่ง ในจำนวนนี้มีเพียง 31 แห่ง ที่สมัครใจรับยาต้านไวรัสสำรองในคลีนิค แต่ตัวเลขยังไม่นิ่งต้องรอให้ครบกำหนดคือวันที่ 5 สิงหาคมนี้ซึ่งเป็นวันสุดท้าย แต่ต้องยอมรับว่ามีคลีนิคที่สมัครรับยาต้านไวรัสน้อย เพราะคลีนิคทั้ง 181 แห่ง ส่วนใหญ่หรือประมาณ3 เป็นคลีนิครักษาโรคเฉพาะทาง เช่น ผิวหนัง โรคหัวใจ หู คอ จมูก เป็นต้น ส่วนคลีนิคตรวจรักษาโรคทั่วไป เป็น 1 ใน 3 ของคลีนิคทั้งหมดในเขต กทม.

นพ.สมยศ กล่าวว่า ประชาชนที่เข้าใช้บริการที่คลีนิคที่ร่วมโครงการ จะได้รับการยกเว้นค่ายาเฉพาะยาต้านไวรัสโอเซลทาเวียร์อย่างเดียวเท่านั้น แต่บริการอื่นๆ คงต้องจ่ายตามปกติ เช่น ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก หรือยาแก้อักเสบ และอื่นๆ เป็นต้น และหากคลีนิคพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่มีอาการรุนแรง ให้ส่งตัวผู้ป่วยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลในสังกัด สธ.ใน กทม.และปริมณฑล 6 แห่ง ได้แก่ เลิดสิน สถาบันโรคทรวงอก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ราชวิถี นพรัตนราชธานี และสถาบันบำราศนราดูร ตลอด 24 ชั่วโมง

นอ.(พิเศษ.) นพ.อิทธิพร คณะเจริญ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า การกระจายยาต้านไวรัสลงคลีนิคเอกชนนั้น ไม่กังวลเรื่องการรักษาเพราะแพทย์มีมาตรฐาน และมีแนวทางการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 อยู่แล้ว แต่เป็นห่วงในส่วนของประชาชน เพราะมีความรู้ ความเข้าใจโรคแตกต่างกัน และมีจำนวนมากที่ยังเข้าใจไม่ถูกต้อง ว่าหากไปรักษาที่คลีนิคแล้วจะต้องได้รับยาต้านไวรัสทันที ซึ่งข้อเท็จจริงแล้ว หากไม่เป็นกลุ่มเสี่ยง ไม่มีอาการของโรค ก็จะไม่ได้รับยาต้านไวรัส ซึ่งจุดนี้อาจทำให้เกิดปัญหาได้ว่า ทำไมคนนี้ได้ยา คนนี้ไม่ได้ยา

"แพทย์จะต้องอธิบายทำความเข้าใจกับผู้ป่วยอย่างละเอียดว่า ทำไมจึงจ่ายยาให้ และทำไมจึงไม่จ่ายยาให้ ส่วนผู้ป่วยที่ได้รับยาแพทย์ต้องอธิบายถึงผลข้างเคียงของยาที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะภูมิต้านทางแต่ละคนไม่เหมือนกัน หากเกิดปัญหาความไม่เข้าใจ หรือเข้าใจผิดเกิดขึ้น อาจเป็นจุดที่กระตุ้นให้ผู้ป่วยฟ้องร้องแพทย์ได้ ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก นอ.(พิเศษ)นพ.อิทธิพร กล่าว

นอ.(พิเศษ)นพ.อิทธิพร กล่าวว่า ยังเป็นห่วง เรื่องคลีนิคจ่ายยาต้านไวรัสให้เด็กเล็ก จะต้องผ่านการะบวนการแบ่งยาเพื่อให้ได้ปริมาณยาที่เหมาะสมกับน้ำหนักและอายุ ซึ่งไม่สามารถใช้การหักยา ตัด หรือแบ่งยาเหมือนกันยาทั่วไปอื่นๆ ได้ ต้องใช้เครื่องทำละลายตัวยาโดยเฉพาะ และผสมกับน้ำให้เด็กทาน แต่ในคลีนิคจะไม่มีเครื่องละลายยา หรือไม่มีความเชี่ยวชาญพอ มีความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาด และอาจทำให้เด็กได้รับอันตรายได้ ดังนั้น หากมีผู้ป่วยเด็กเล็กควรส่งต่อไปรักษาในโรงพยาบาลเด็กทันที

นายไพศาล บางชวด นายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข กล่าวว่า สมาคมฯเห็นว่า สาเหตุสำคัญที่ สธ. ไม่สามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องมาจากยุทธศาสตร์การควบคุมและป้องกันโรคไม่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงแรกของการพบว่ามีการแพร่ระบาด รัฐบให้น้ำหนักกับการควบคุมและป้องกันโรคน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

นายไพศาล กล่าวว่า ประเด็นสำคัญของการควบคุมโรคไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด ที่ตรงจุดคือ การให้คนที่ป่วย หรือมีอาการสงสัยว่าจะป่วยให้อยู่บ้านเพื่อดูอาการ 5-7 วัน ซึ่ง ครม.ก็มีมติให้หยุดได้โดยไม่ถือเป็นวันลา กลับไม่ได้รับการเน้นย้ำเท่าที่ควร ทำให้มีผลอย่างมากในการแพร่ระบาด เพราะการที่ผู้ป่วยออกมาใช้ชีวิต หรือมาร่วมทำกิจกรรมกับคนทั่วไปตามที่ชุมชนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โรคแพร่ระบาดไปอย่างกว้างขวาง รวดเร็วจนน่าตกใจ

เมื่อราววันที่ 30-31 กรกฎาคมที่ผ่านมา ผมเข้าไปประชุมที่ สธ. มีข้าราชการสังกัดสำนักงานหนึ่งใน สธ. 2-3 ราย เดินเข้ามาบอกผมว่าให้ไปดูที่ชั้น 3 ของตึกหนึ่งภายในสธ. เพราะเจ้าหน้าที่และข้าราชการต้องใส่หน้ากากอนามัยกันทั้งชั้น เนื่องจากมีแพทย์ป่วยเป็นไข้หวัด ยังไม่ยอมหยุดพักอยู่บ้าน แต่กลับมาทำงานตามปกติ เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อให้แก่ผู้ร่วมงาน เป็นการสะท้อนว่าแม้แต่บุคลากรของ สธ. บางคนยังขาดจิตสำนึกและไม่ตระหนักในเรื่องนี้นายไพศาลกล่าว และ ว่างบประมาณที่รัฐทุ่มเทลงไปในการต่อสู้กับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้ให้น้ำหนักเรื่องการรักษา ด้วยการจัดซื้อยาและวัคซีนมากเป็นพิเศษ ทั้งที่เป็นประเด็นปลายเหตุ ไม่ใช่เป็นการป้องกันโรคแต่อย่างใด

นายไพศาล กล่าวว่า สมาคมฯขอเสนอ 4 ข้อเพื่อเสริมมาตรการของ สธ. ได้แก่ 1.ให้นำเรื่องการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนในสังคมไทยเข้าร่วมควบคุม ป้องกัน โดยมีสธ. เป็นแกนกลาง 2.สธ.กำหนดบทบาทภารกิจของหน่วยงานในสังกัดให้ชัดเจน 3.ดูแลขวัญและกำลังใจบุคลากรของ สธ. และอสม. ที่ร่วมปฏิบัติภารกิจนี้ ในกรณีที่อาจจะได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 รัฐจะชดเชยค่าเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ให้อย่างไร และ4.สมาคมฯ จะนำข้อเสนอแนะและปัญหาจากพื้นที่ๆที่เป็นรูปธรรม เป็นเอกสารเพื่อนำเรียนผู้บริหารระดับสูง เพื่อพิจารณาใช้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าวต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook