เปิดใจประธานบอร์ด ''นริศ ชัยสูตร'' เคลียร์ปมร้อนทุจริต

เปิดใจประธานบอร์ด ''นริศ ชัยสูตร'' เคลียร์ปมร้อนทุจริต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ปัญหาทุจริต 499 ล้านบาท ความบกพร่องของระบบ คอร์แบงกิ้ง ( Core Banking System : CBS )รวมไปถึงความขัดแย้งระหว่างบอร์ดธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) และฝ่ายบริหารกรณีการทำป้องกันความเสี่ยงจากดอกเบี้ยบนอนุพันธ์ FRCD ยังเป็นคำถามต่อภาพลักษณ์ และอนาคตของธนาคารแห่งนี้ ฐานเศรษฐกิจ จึงถือโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ดร. นริศ ชัยสูตร ในฐานะ ประธานกรรมการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ซึ่ง ดร.นริศ เข้าร่วมงานกับธอส.ตั้งแต่ปลายปี 2549 ในตำแหน่งกรรมการ และเคยรับตำแหน่งประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง จนปัจจุบันได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานบอร์ดธอส.

****ข่าวแง่ลบมีผลต่อธนาคารอย่างไร

แน่นอนมีผลต่อขวัญกำลังใจของพนักงาน รวมถึงช่วงนี้พนักงานก็เกิดความกลัวว่าทำอะไรไปแล้วจะผิดระเบียบ ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาก็มีพนักงานฝ่าฝืนระเบียบปฏิบัติ ด้วยความคิดว่าไม่เป็นไร ครั้งนี้เมื่อเกิดเรื่องแล้วเอาระเบียบมาจับทุกคนก็กลัว แต่คิดว่าเป็นในช่วงต้นเท่านั้น ผมเชื่อว่าหากเราทำให้ชัดเจนถูกต้อง คนที่ทำผิดก็ต้องไม่ละเว้น จะช่วยให้คนที่เขาทำถูกต้อง มีกำลังใจในการทำงาน

ส่วนในแง่ผลกระทบกับผลประกอบการ ในแง่ความเชื่อมั่นไม่ได้ลดลง ทั้งในด้านสินเชื่อ และเงินฝาก ผมก็ห่วงในเรื่องนี้และติดตามอย่างใกล้ชิด ล่าสุดจากที่ฝ่ายจัดการรายงานเป้าหมายสำคัญของ ธอส. คาดว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ทั้งหมด รวมทั้งกำไรที่น่าจะสูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งตรงนี้รวมการรับรู้ผลเสียหายจากการทุจริตแล้วด้วย

****รับทราบปัญหาธอส.หรือไม่

ในช่วงนั้น เป็นช่วงต้นปี 2550 ธอส. ประสบปัญหาในเรื่องธุรกรรมอนุพันธ์ที่มีอยู่ตามที่ฝ่ายจัดการรายงาน ก็หลายหมื่นล้านบาท ต้องยอมรับว่าธุรกรรมอนุพันธ์เป็นเรื่องที่ซับซ้อน และมีรายละเอียดมาก ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ก็พยายามแก้ไขโครงสร้างในภาพรวม เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับธนาคารในอนาคต ซึ่งท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนี้ และ ธปท. ก็มีความเห็นให้จัดการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต จำได้ว่าเมื่อรับตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง เรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่ดำเนินการ โดยกำหนดนโยบายการทำอนุพันธ์ และเงื่อนไขในการเข้าไปแก้ไขปัญหา หาก Structure บางอันที่มีปัญหา รวมทั้งกำหนดอำนาจอนุมัติให้เกิดความชัดเจน ด้วย

****ทุจริต499ล.เกิดในช่วงที่เป็นบอร์ดความเสี่ยง

เราจัดกลุ่ม การทุจริต เป็นความเสี่ยงด้านปฏิบัติการและระบบ ซึ่งเป็นแนวทางการบริหารความเสี่ยงของ ธปท. ซึ่งยอมรับว่าความเสี่ยงในด้านนี้ ค่อนข้างยากกว่า ความเสี่ยงด้านเครดิต หรือ ด้านตลาด จะเห็นว่าบาเซิลเอง ยังไม่กำหนดไว้ในบาเซิล1 แต่จะเริ่มในบาเซิล2 เนื่องจากมันเป็นเรื่องของ บุคลากร กระบวนการทำงาน และ ระบบไอที ซึ่งแต่ละองค์กร ก็จะมีมาก

แนวทางหลักๆ ที่ผมริเริ่ม ก็คือการวางระบบการรายงานความเสี่ยง การให้ความรู้ต่อพนักงานทุกระดับ ที่จริงแล้ว ทางคณะกรรมการธนาคาร คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง และฝ่ายบริหารความเสี่ยงก็ได้เตือน ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสาเหตุที่เกิดทุจริต 499 ล้านบาท บางเรื่องตั้งแต่ปี 2550 ส่วนเรื่องความเสี่ยงด้านทุจริต ก็ได้เตือนตั้งแต่เดือนมกราคม 2551 ก็เป็นช่วงใกล้ๆกับที่นายสมเกียรติ เริ่มทุจริตผ่านระบบพอดี เพราะเราเห็นว่าขั้นตอนการทำงานมีการผ่อนปรน

****มีความแตกแยกในบอร์ดกรณีผลข้อเท็จจริงทุจริต499ล.

ผมกลับไม่มองแบบนั้น อย่าลืมว่ากรรมการของธนาคารทุกท่านก็เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ดังนั้น

หากจะมีความเห็นแตกต่างกันก็เป็นเรื่องปกติซึ่งก็ถือเป็นเรื่องดี สำหรับเรื่องการสอบสวนข้อเท็จจริงการทุจริตหากคณะกรรมการแตกแยกกันจริง คงจะมีการโหวตกันไปแล้ว แต่เราก็สรุปร่วมกันได้ แม้ว่าใช้เวลานานกว่า 8 ชั่วโมง ก็เนื่องจากต้องพิจารณาให้รอบคอบ และให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาเต็มที่ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีหลายครั้งที่ใช้เวลาพิจารณานานแบบนี้

****ข่าวลือการเมืองเลื่อยขาเก้าอี้เอ็มดี

เป็นเรื่องเหลวไหล และไม่มีมูลอีกเรื่อง ลองนึกดูดีๆว่า บอร์ดจะสั่งให้นายสมเกียรติ (พนักงานที่ทุจริต) ทำทุจริตเพื่อจะได้สอบสวนคุณขรรค์ ประจวบเหมาะ อย่างนั้นหรือ และ บอร์ดจะเข้าไปบัญชาการให้ระบบ CBS มันพังหรือ มีช่องว่างได้อย่างไร จริงๆเรื่องนายสมเกียรติทุจริต และการตัดสินใจนำระบบ CBS มาใช้นั้น มีมาก่อนหลายคนในบอร์ดนี้เข้ามาเป็นกรรมการธนาคาร ซึ่งรวมถึงผมด้วย

****กระบวนการลงโทษผู้ทุจริตและผู้มีส่วนร่วม

ถ้าเป็นพนักงานและทำทุจริต ก็ลงโทษและส่งป.ป.ช. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ถ้าเป็นพนักงานธอส.มีมูลว่าต้องมีส่วนรับผิดชอบ ก็ต้องให้ฝ่ายบริหารตั้งกรรมการสอบวินัย ได้ผลอย่างไรก็ นำมาเสนอบอร์ดเพื่อตัดสิน ถ้าโดนวินัยร้ายแรง ก็อาจต้องรับชดใช้ด้วยเพราะเป็นความผิดทางละเมิด ส่วนคนที่ไม่ได้เป็นพนักงานและเป็นผู้บริหารระดับสูง จะมีคณะกรรมการที่มีคุณชัยเกษม นิติศิริ ประธานกรรมการบริหารเป็นประธานในการตรวจสอบประสิทธิภาพ และถ้าตรวจพบว่ามีการกระทำที่ไม่เป็นไปตามสัญญา และทำให้ธนาคารเสียหายร้ายแรง ก็ต้องดำเนินการตามระเบียบต่อไป

****สอบวินัยอาจมีมวยล้มเพราะใบสั่งการเมือง

การเมืองที่คุณพูดถึงนี้คือ ใคร ถ้าหมายถึงรัฐมนตรี กรณ์ จาติกวณิช และรัฐมนตรี ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ คงบอกได้ตรงนี้ชัดๆว่า ไม่จริง ไม่มีการสั่งการใดๆจากท่านทั้งสองเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าให้ช่วยใครหรือให้ฟันใครคนไหนเป็นพิเศษ ที่สำคัญถึงสั่งก็ทำไม่ได้ง่ายๆ เพราะมีข้อเท็จจริงหรือหลักฐานพยานต่างๆที่มาจากขั้นสอบสวนข้อเท็จจริงมีมาก และยังมีตัวแทนอิสระและตัวแทนแบงก์ชาติเข้ามาเป็นกรรมการสอบในขั้นสอบสวนข้อเท็จจริงอีก ถ้าพิจารณาบิดเบี้ยวไปก็ต้องอธิบายกันมากทีเดียว

****ความคืบหน้าสอบข้อเท็จจริงFRCD

เรื่องนี้เป็นงานใหม่ที่เพิ่งเข้ามา ในชั้นแรกได้หารือกับคุณชัยเกษม ซึ่งท่านเป็นประธาน

คณะกรรมบริหาร ว่าสมควรมอบหมายให้ คุณโสภาวดี ในฐานะประธานตรวจสอบเป็นผู้เตรียมข้อเท็จจริงเบื้องต้น แล้วนำเสนอคณะของคุณชัยเกษมซึ่งบอร์ดตั้งให้ประเมินประสิทธิภาพผู้บริหารระดับสูงอยู่แล้ว พิจารณาในรายละเอียดเพื่อนำเสนอ สคร. (สำนักงานคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ) เพื่อพิจารณาต่อไป

****ในฐานะประธานบอร์ดมีหลักการทำงานอย่างไร

ซื่อสัตย์สุจริต และรักษาผลประโยชน์ของรัฐเป็นสำคัญ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook