ไทย-เขมรถกพื้นที่พิพาททางทะเล ยันเกาะกูดอยู่เขตไทย

ไทย-เขมรถกพื้นที่พิพาททางทะเล ยันเกาะกูดอยู่เขตไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม น.ส.วิมล คิดชอบ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายฮอร์ นัม ฮง รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา จะร่วมเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 6 ซึ่งจะจัดขึ้นวันที่ 4-5 สิงหาคมนี้ที่โรงแรมเซนทารา แกรนด์ โดยจะมีการหารือถึงประเด็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาในภาพรวมทั้งหมดครอบคลุมทั้งประเด็นการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยเรื่องเขตแดนก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่จะหยิบยกขึ้นมาหารือกันด้วย ทั้งนี้จะมีการลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการโอนตัวนักโทษระหว่างกันในระหว่างการประชุมด้วย

นายวศิน ธีรเวชญาน ประธานคณะอนุกรรมาธิการร่วมด้านเทคนิคการปักปันเขตแดนทางทะเลไทย-กัมพูชา กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มพันธมิตรฯตั้งข้อสังเกตว่าไทยอาจเสียเกาะกูดจากแผนที่แนบท้ายความตกลงที่ทำไว้กับกัมพูชาในปี 2544 ว่า รับรองว่าตามความตกลงดังกล่าวนั้นชัดจนมากว่าเกาะกูดเป็นของไทย อย่างไรก็ดีตามปกติแล้วการอ้างสิทธิในพื้นที่สองประเทศต่างอ้างสิทธิด้วยกัน ต่างฝ่ายก็ต้องอ้างสิทธิกันอย่างเต็มที่ แต่การอ้างสิทธินั้นไม่ถือเป็นที่สิ้นสุด เพราะต้องมีการมาเจรจาเพื่อหาข้อยุติกันต่อไป ยืนยันว่าเรื่องนี้จะทำด้วยความระมัดระวังอย่างดีที่สุด เพราะเรื่องเขตแดนเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต่างคนต่างก็ต้องการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติของตนอย่างเต็มที่

เมื่อถามว่าการที่กัมพูชาให้สัมปทานกับบริษัทน้ำมันต่างชาติในพื้นที่ดังกล่าวจะทำให้ไทยเสียสิทธิใดๆหรือไม่ นายวศินกล่าวว่า เข้าใจว่าทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาต่างก็ให้สัมปทานในพื้นที่เต็มหมดแล้ว ใครจะให้ใครก็ตามแต่ยังไม่สามารถทำอะไรได้ทั้งสิ้นจนกว่าไทยและกัมพูชาจะตกลงกันได้ การให้สัมปทานกับบริษัทโททาลนั้นเท่าที่ทราบก็เป็นการให้สัมปทานในพื้นที่เก่าที่อายุสัมปทานหมดไปแล้วอีกครั้ง ไม่มีอะไรใหม่ และจนถึงขณะนี้ก็เห็นได้ว่ายังไม่มีใครเข้าไปทำอะไรในพื้นที่ดังกล่าวเพราะเข้าใจตรงกันว่าในพื้นที่นี้ถือเป็นพื้นที่พิพาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้ระหว่างที่นายวีรพันธุ์ วัชราทิตย์ อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำกัมพูชาได้ไปเข้าเยี่ยมคาราวะฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เพื่ออำลาตำแหน่ง สมเด็จฮุนเซนระบุว่า ทั้งสองประเทศต้องร่วมมือกันเพื่อทำเอาพลังงานที่นอนรออยู่ก้นทะเลขึ้นมาใช้ประโยชน์ให้ได้ ส่วนปัญหาความขัดแย้งตามแนวชายแดนนั้น สมเด็จฮุนเซนเห็นว่าสองฝ่ายต้องร่วมมือกันเพื่อทำให้ข้อขัดแย้งลดน้อยลง และควรจะเพิ่มการติดต่อเจรจาระหว่างทหารทั้งสองฝ่าย ขณะที่การมองปัญหาควรมองแบบมองป่าทั้งป่ามากกว่าจะมองแค่จุดใดเพียงจุดเดียว และไม่ควรให้ความขัดแย้งเพียงจุดเดียวขยายกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งตลอดแนวชายแดนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาความร่วมมือด้านต่างๆระหว่างกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook