วิทยาเซ็งคนไทยไม่อ่านคู่มือหวัด09 ทำแพร่ทั่วปท. หวั่นจ่ายยาเด็กไม่ถูก ทำดื้อยารายแรกๆของโลก

วิทยาเซ็งคนไทยไม่อ่านคู่มือหวัด09 ทำแพร่ทั่วปท. หวั่นจ่ายยาเด็กไม่ถูก ทำดื้อยารายแรกๆของโลก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
วิทยาบ่นคนไม่อ่านคู่มือป้องกันหวัด2009 ทำให้ไม่มีความรู้วิธีป้องกันโรค จนแพร่ไปทั่วปท. แม้แต่หมอยังอ่านแค่ 10%เท่านั้น ห่วงจ่ายยาต้านไวรัสให้เด็กไม่ถูกต้องทำให้เชื้อดื้อ ย้ำถ้าเป็นเด็กให้ส่งต่อร.พ.ทันที หวั่นกลายเป็นปท.ดื้อยารายแรกๆ ของโลก จี้คลีนิคต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วย วิทยาบ่นคนไม่อ่านคู่มือป้องกัน

นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์ระบาดโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ระหว่างเป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการเวชกรรมสังคม เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ที่โรงแรมมารวย มีแพทย์ พยาบาล นักวิชาการ ที่ปฏิบัติงานด้านเวชกรรมสังคมในโรงพยาบาลทั่วไปกว่า 300 คนเข้าร่วมว่า เป็นสิ่งที่ท้าทายงานเวชกรรมสังคม เนื่องจากขณะนี้โรคดังกล่าวแพร่ระบาดไปทั่วประเทศแล้ว แต่ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แจกคู่มือป้องกันโรคให้ประชาชน แต่พบว่าส่วนใหญ่กลับไม่อ่านรายละเอียด จึงทำให้ไม่มีความรู้วิธีป้องกันโรคที่ถูกต้อง เช่นเดียวกับแพทย์ที่รับคู่มือแนวทางการรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ไปแล้วก็ไม่อ่านให้เข้าใจ

มีแพทย์เพียงร้อยละ 10 เท่านั้นอ่านคู่มือ ซึ่งตามธรรมชาติของคนไทยชอบที่จะสื่อสารแบบปากต่อปากมากกว่าการอ่านด้วยตนเอง จึงฝากให้เจ้าหน้าที่เวชกรรมสังคม ซึ่งต้องลงพื้นที่พบประชาชนเป็นประจำอยู่แล้วทำหน้าที่สื่อสารด้วย นายวิทยา กล่าว

ชี้คลีนิคต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วย

นายวิทยา ยังกล่าวถึงกรณีคลินิกเอกชนในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ไม่เข้าร่วมโครงการจ่ายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ว่า ไม่รู้สึกกังวล เพราะขณะนี้เป็นเพียงเริ่มต้นโครงการและอยู่ระหว่างทำความเข้าใจกับบุคลากรทางการแพทย์

เข้าใจว่าสาเหตุที่คลีนิคไม่เข้าร่วมโครงการ เพราะกลัวจะเพิ่มภาระการทำงาน ถือเป็นความเข้าใจไม่ถูกต้อง เพราะจะมุ่งทำงานเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ เป็นเพียงการขอความร่วมมือ หากคลีนิคใดไม่พร้อม และไม่สมัครใจ จะไม่มีการบังคับ แต่สำหรับคลีนิคในกรุงเทพฯ ที่สมัครเข้าโครงการเริ่มจ่ายยาให้กับผู้ป่วยแล้ว นายวิทยากล่าวและว่า สำหรับคลีนิคในต่างจังหวัด เริ่มมีสมัครเข้าโครงการบางแล้ว และพบว่าบางจังหวัดมีคลีนิคเข้าร่วมโครงการถึงร้อยละ 80 ส่วนใหญ่อยู่ในเขตเทศบาล และแพทย์ประจำคลีนิคส่วนใหญ่ทำงานในโรงพยาบาลรัฐด้วย จึงมีความเข้าใจแนวทางการรักษาดี วันที่ 4 สิงหาคมนี้ จะประชุมผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อประเมินความพร้อมของคลีนิคในต่างจังหวัดหากพื้นที่ใดพร้อมก็จะกระจายยาทันที รวมถึงหารือเรื่องการจ่ายยาต้านไวรัสในกลุ่มผู้ป่วยเด็กด้วย

"ขอความร่วมมือคลีนิคทุกแห่ง หากพบผู้ป่วยต้องสังสัยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือมีอาการรุนแรง ให้แนะนำส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลทันที เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ซึ่งหากคลีนิคส่วนใหญ่เข้าใจแนวทางนี้ก็ไม่จำเป็นต้องมียาสำรอง เพราะเป้าหมายหลักคือ ต้องการลดการเสียชีวิต ประชาชนเข้าถึงยาให้ได้มากที่สุด นายวิทยากล่าวและว่า ได้ขอความร่วมมือคลีนิคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ ให้ขึ้นป้ายประกาศหน้าคลีนิคแจ้งให้ประชาชนทราบ และมอบกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ออกแบบจัดทำป้ายสติ๊กเกอร์แจกคลีนิคทั่วประเทศในสัปดาห์หน้า

เผยหญิงท้องรพ.ปากน้ำปลอดภัย

ต่อมานายวิทยา เดินไปทางเยี่ยมผู้ป่วยอาการหนัก 3 คน ที่โรงพยาบาล (รพ.) สมุทรปราการ ซึ่งมีหญิงตั้งครรภ์ด้วย พร้อมให้สัมภาษณ์ว่า ป่วยทั้ง 3 คน เป็นไข้หวัดแม้ยังไม่รู้ผลตรวจเชื้อจากห้องปฏิบัติการ แต่แพทย์ได้ให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ทั้ง 3 คน โดยรายที่เป็นหญิงตั้งครรภ์ สันนิษฐานว่าจะติดเชื้อจากบิดา ซึ่งป่วยอยู่ก่อนแล้ว และไปรักษาตั้่มป่วย ขณะนี้กินยาต้านไวรัสครบชุดรักษาแล้ว ไม่มีไข้ แต่ยังไอเล็กน้อย มั่นใจว่าผู้ป่วยรายนี้จะหายเป็นปกติ และสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ในเร็วๆ นี้ ส่วนผู้ป่วยรายที่ 2 เป็นชายอายุประมาณ 50 ปี ไข้สูง ปอดบวม และผู้ป่วยรายที่ 3 เป็นหญิง อายุ 72 ปี มีโรคประจำตัวหลายโรคไปพบแพทย์ด้วยอาการป่วยของโรคประจำตัว

คลีนิคราชบุรีจ่ายยาแล้ว 42 คน

ด้านนายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม วันที่ 2 สิงหาคม คลีนิคเอกชนใน จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดนำร่อง จ่ายยาต้านไวรัสให้ประชาชนแล้ว 42 ชุดรักษา หรือผู้ป่วย 42 คน จากคลีนิค 16 แห่ง แบ่งเป็น คลีนิคใน อ.เมือง 16 คน ใน อ.บ้านโป่ง 25 คน และคลีนิคใน อ.โพธาราม 1 คน ผู้ป่วยที่ได้รับยา มีอาการดังนี้ มีไข้สูงมาแล้ว 48 ชั่วโมง ไข้ยังไม่ลด 4 คน ไข้สูง ไอ หอบรุนแรง 18 คน มีไข้อ่อนๆ 2 คน มีโรคประจำตัว หอบหืด 7คน ส่วนอีก 11 คน อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูล

นายมานิต กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือ ด.ญ.ภิรมรัตน์ เปียถนอม ชาว จ.ราชบุรี ที่มารดาเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ว่า ได้เปิดบัญชีกองทุนที่ธนาคารกรุงไทย สาขาศรีสุริยวงศ์ เลขที่บัญชี 736-0-20208-6 ชื่อบัญชีเด็กหญิงภิรมรัตน์ เปียถนอม เพื่อให้การช่วยเหลือการเลี้ยงดูและการศึกษาของเด็ก โดยมีเงื่อนไขการสั่งจ่ายให้นายจินดา เปียถนอม ซึ่งเป็นบิดา หรือนางอำไพ กลมทุกสิ่ง ซึ่งเป็นย่าของเด็กเบิกจ่ายได้ไม่เกินเดือนละ 3,000 บาท หากเบิกจ่ายเกินเดือนละ 3,000 บาท นายจินดา หรือนางอำไพ ต้องลงนามร่วมกับนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลหลักเมือง

นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัด สธ. กล่าวว่า สธ. ได้จัดส่งยาต้านไวรัสให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทุกแห่ง สำรองแล้วแห่งละ 20,000 เม็ด พร้อมจ่ายให้คลีนิคอยู่แล้ว และยังมียาสำรองอยู่ที่สำนักงานควบคุมป้องกันโรคประจำเขตแห่งละ 40,000 เม็ด โรงพยาบาลศูนย์แห่งละ 20,000 เม็ด โรงพยาบาลทั่วไปแห่งละ 10,000 เม็ด และโรงพยาบาลชุมชนแห่งละ 2,000 เม็ด

สพฉ.บริการฟรีผู้ป่วยหวัด09

นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) กล่าวว่า ได้จัดทำแผนเตรียมความพร้อมในการรับการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และพร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีการอาการวิกฤต ฉุกเฉินจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเร่งด่วน และเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล สามารถโทร 1669 ได้ทันที โดยให้บริการรถพยาบาลฉุกเฉินฟรี โทรฟรี รวมทั้งประสานหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินระดับสูง (ALS) สถานพยาบาลในการเตรียมพร้อม หรือส่งรถพยาบาลไปรับผู้ป่วยที่สงสัยด้วย

ขณะนี้มีบริการรถพยาบาลฉุกเฉินในกว่า 4,000 พื้นที่ทั่วประเทศ กรณีมีความจำเป็นเร่งด่วน ถ้าแพทย์ผู้ให้การดูแลวินิจฉัยว่าควรได้รับการการเคลื่อนย้ายเพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วนจากสถานพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า ทีมแพทย์จะประสาน สพฉ.ให้ประสานนำเฮลิคอปเตอร์ไปรับผู้ป่วยฉุกเฉินด้วย นพ.ชาตรี กล่าว

ห่วงจ่ายยาต้านไวรัสให้เด็ก

วันเดียวกัน ที่โรงแรมทวินทาวเวอร์ ผศ.ภญ.สำลี ใจดี ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวถึงการกระจายลงคลีนิค ในงานการประชุมวิชาการเพื่อพัฒนาระบบยาประจำปี 2552 ว่า ถือเป็นการผลักภาระให้แพทย์ และเป็นห่วงการจ่ายยาต้านไวรัสให้เด็ก เพราะจะต้องผ่านกระบวนการแบ่งยาเพื่อให้ได้ยาในปริมาณที่เหมาะสมกับน้ำหนักตัวของเด็กตามที่ระบุในข้อบ่งชี้ของยา ซึ่งต้องทำโดยเภสัชกรในโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น จึงขอเตือนว่าเมื่อตรวจพบผู้ป่วยเด็ก ต้องรีบส่งต่อไปยังโรงพยาบาลทันที เพื่อลดปัญหาเชื้อดื้อยา

"การกระจายยาต้านไวรัสลงคลีนิค ถือเป็นความหวังดี แต่ขาดความเท่าทันเรื่องการดื้อยา เหมือนมีดาบสั้น แต่เราก็จะหักมันทิ้ง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มาก จำเป็นต้องระมัดระวังเนพิเศษ เพราะห่วงว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศดื้อยาอันดับต้นๆ ของโลก ถ้าใช้ยาที่ไม่รัดกุมผศ.ภญ.สำลี กล่าว

ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้จัดการ กพย. กล่าวว่า กพย. เป็นห่วงระบบติดตามการจ่ายยาต้านไวรัสที่ได้กระจายยาในคลีนิค จะมีประสิทธิภาพเพียงใด ประชาชนแห่ไปขอรับยาต้านไวรัสจนทำให้เกิดการดื้อยา นอกจากนี้ สธ.ควรชี้แจงเรื่องการเก็บรักษาและกินยาให้ประชาชนทราบ เพราะยาดังกล่าวเป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องจ่ายในสถานพยาบาลเท่านั้น แต่ขณะนี้กลับไม่มีคำแนะนำในการใช้ยาสำหรับผู้ป่วย

"ยาโอเซลทามิเวียร์ของบริษัท โรช มีทั้งชนิดแคปซูล และชนิดน้ำสำหรับเด็ก แต่หากเป็นยาโอเวลทามิเวียร์ ขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) จะมีแต่ชนิดแคปซูลเท่านั้น ดังนั้น หากจะให้เด็กกินยา จะต้องละลายยาในน้ำเชื่อมเพื่อให้เป็นชนิดน้ำ เก็บบรรจุในขวดแก้วสีชา ก่อนกินยาต้องเขย่าขวดทุกครั้ง และขอเตือนผู้ปกครองไม่ควรนำยาดังกล่าวผสมกับนมให้เด็กดื่ม เพราะยานี้จับกับแคลเซียมจะทำให้ตกตะกอนอยู่ก้นขวดนมยิ่งขึ้น ซึ่งหมายถึงเด็กจะได้ยาไม่ครบตามปริมาณที่ใช้ในการรักษา และไม่หายป่วยได้ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวและว่า การกินยาต้านไวรัสจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด คือ วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น 5 วันติดต่อกันจนยาหมด หากไม่กินตามคำแนะนำโอกาสดื้อยาจะสูงมาก

อภ.ผลิตยาต้านไวรัสสำหรับเด็ก

นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.)กล่าวว่า อภ.จะเตรียมผลิตยาโอเซลทามิเวียร์สูตรสำหรับเด็ก โดยจะผลิตเป็นชนิดแคปซูล แต่ลดปริมาณยาเหลือขนาดกลางและขนาดเล็ก สามารถแกะแคปซูลผสมน้ำเชื่อมละลายให้เด็กกินได้ทันที แต่จะไม่ผลิตชนิดน้ำเพราะยาไม่คงตัวเหมือนแคปซูล

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 กล่าวว่า คลีนิคชุมชนอบอุ่นที่อยู่ในความดูแลของ สปสช. ในกรุงเทพฯ 150 แห่ง ซึ่งเป็นคลีนิครักษาโรคทั่วไปทั้งหมด มีบางส่วนเข้าโครงการกระจายยาต้านไวรัสและรับยาไปแล้ว

ตั้งคณะกรรมการวิจัยหวัด2009

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาวิชาการและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข กล่าวภายหลังประชุมที่กรมควบคุมโรคว่า ที่ประชุมมีมติให้ สธ.ตั้งคณะกรรมการวิจัย 4 เรื่อง ได้แก่

1.ศึกษาเกี่ยวกับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เฝ้าระวังเชื้อกลายพันธุ์ และศึกษากลไกสร้างภูมิคุ้มกัน กลไกตอบสนองต่อเชื้อ รวมถึงศึกษาพยาธิสภาพของเชื้อในผู้ป่วย เพื่อนำมาพัฒนาในการวางแผน รับมือภาวะระบาดในรูปแบบต่างๆ

2.ศึกษาแนวทางใช้ยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันโรค

3.พัฒนาชุดทดสอบ ศึกษาปัจจัยเสี่ยง การพัฒนายาต้านไวรัส เป็นต้น

4.วิจัยด้านการสื่อสารความเสี่ยง ให้ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมมีส่วนรวมในการให้ข้อมูล ผลกระทบการให้ข่าวที่คลาดเคลื่อน ทั้งจากนักการเมือง ผู้บริหาร และนักวิชาการ เป็นต้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook