ธปท.คลอดกฎผ่อนเกณฑ์ดันบาทอ่อน ไม่ห่วงกระทบสภาพคล่องช่วงศก.ขาขึ้น ดอยช์แบงก์ติงเป็นดาบ 2 คม

ธปท.คลอดกฎผ่อนเกณฑ์ดันบาทอ่อน ไม่ห่วงกระทบสภาพคล่องช่วงศก.ขาขึ้น ดอยช์แบงก์ติงเป็นดาบ 2 คม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ธปท.คลายกฎเพิ่มผู้ลงทุน-ผ่อนเกณฑ์อนุพันธ์ หวังเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศได้คล่องตัวขึ้น มั่นใจทำบาทอ่อนค่า ไม่ห่วงแม้ ศก.ฟื้น-นำเข้าพุ่ง เชื่อสภาพคล่องมีพอรองรับ ดอยช์แบงก์ชี้มาตรการแบงก์ชาติดี แต่ระวังเป็นดาบสองคม ทำค่าเงินผันผวน นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ผ่อนคลายระเบียบการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ และการทำธุรกรรมอนุพันธ์ เพื่อเพิ่มโอกาสการลงทุนระยะยาว เชื่อว่าจะเพิ่มความสมดุลให้กับการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศของไทย และมั่นใจว่าจะส่งผลด้านจิตวิทยาโดยตรง ลดแรงกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้ และคาดว่าจะช่วยยกระดับไทยเป็นเจ้าของทรัพย์สิน จากปัจจุบันสินทรัพย์สุทธิส่วนใหญ่ 1.10 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ภาคทางการ ขณะที่ภาคเอกชนไทยมีหนี้สินสุทธิ 1.17 แสนล้านดอลลาร์

นางสุชาดากล่าวว่า ได้เพิ่มประเภทผู้ลงทุนสถาบันให้รวมถึงนิติบุคคลที่มีทรัพย์สินตั้งแต่ 5,000 ล้านบาท ขณะนี้มีจำนวน 503 บริษัท สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้ด้วยตนเอง ในวงเงินไม่เกิน 50 ล้านดอลลาร์ต่อราย จากที่อนุญาตให้ลงทุนได้เองเฉพาะกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนประกันสังคม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จะไม่มีการกำหนดกรอบวงเงินตายตัว หากจะลงทุนมากกว่า 50 ล้านดอลลาร์ ก็ไม่ต้องขออนุญาต เพียงแจ้งให้ ธปท.ทราบ และขยายขอบเขตการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยผู้ลงทุนสถาบัน และกองทุนส่วนบุคคลสามารถทำอนุพันธ์กับคู่สัญญาทั้งในและต่างประเทศได้ จากเดิมเฉพาะคู่สัญญาในประเทศเท่านั้น ขณะที่บุคคลทั่วไปที่จะลงทุนผ่านบริษัทหลักทรัพย์สามารถลงทุนในอนุพันธ์ที่ซื้อขายในตลาดต่างประเทศได้เช่นกัน

หากเศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้น มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น เชื่อว่ามาตรการนี้จะไม่กระทบต่อสภาพคล่องและการลงทุนในประเทศ เพราะสภาพคล่องส่วนเกินที่มีจำนวน 1.7 ล้านล้านบาท เพียงพอที่จะสามารถรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ-การลงทุนได้ในระยะต่อไป ขณะเดียวกันเงินทุนที่ไหลออกน่าจะเป็นในลักษณะทยอยไหลออกมากกว่า จึงไม่น่าเป็นห่วง

ส่วนจะเกิดการเก็งกำไร จากการผ่อนผันดังกล่าวหรือไม่ นางสุชาดากล่าวว่า ไม่น่าจะทำให้เกิดการเก็งกำไรได้มากนัก เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ต้องตรวจสอบอย่างใกล้ชิด ส่วนที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นหลุดกรอบ 34 บาท/ดอลลาร์นั้น ส่วนหนึ่งมาจากผู้ส่งออกเทขายดอลลาร์ เช่นเดียวกับแบงก์มีการปรับฐานะโดยขายดอลลาร์ออก อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปีนี้เป็นต้นมา เงินบาทถือเคลื่อนไหวค่อนข้างนิ่งกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค

นายนอร์เบิร์ต วอลเตอร์ หัวหน้าคณะเศรษฐศาสตร์ของกลุ่มธนาคารดอยซ์แบงก์และหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารของสำนักวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารดอยซ์แบงก์ เปิดเผยว่า มาตรการของ ธปท.เพื่อช่วยลดค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลงนั้นถือเป็นมาตรการที่ดี แต่เป็นดาบ 2 สองคนที่ต้องให้ความระมัดระวัง ด้านที่ดีคือการลงทุนในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชีย ในระยะ 3-5 ปี เชื่อว่าจะสามารถสร้างกำไรกลับสู่ประเทศได้แน่นอน ส่วนด้านร้ายอาจต้องระมัดระวังเรื่องของความผันผวนของค่าเงิน ที่อาจส่งผลให้นักลงทุนไม่กล้าเข้ามาลงทุนในไทย เช่นเดียวกับเสถียรภาพทางการเมืองที่ต้องมีความสงบ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook