กฎเหล็กมาเลเซีย

กฎเหล็กมาเลเซีย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ประเทศสมาชิกในสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่ถือว่าโชคดี เพราะประชาชนในประเทศค่อนข้างจะหัวอ่อน สอนง่าย และไม่ค่อยจะมีปากเสียงอะไรมากนัก เห็นจะเป็นมาเลเซีย

อดีตนายกฯที่เป็นคุณหมอท่านสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศ ดีเสีย จนผู้คนมองข้ามความเป็น เผด็จการ อ่อน ๆ นั้นไปเสีย แต่เมื่อท่านก้าวลงจากอำนาจไปแล้ว ดูเหมือนว่าผู้นำที่สืบทอดอำนาจต่อมาจะไม่โชคดี หรืออาจเป็นเพราะเก่งไม่เท่าท่านยังไงก็เหลือเดา เพราะ ผู้คนเริ่มจะแสดงความไม่พอใจออกมาบ่อยครั้ง จนรัฐบาลวางเฉยไม่ได้ และจำเป็นต้องงัด ไอเอสเอ ออกมาใช้ ล่าสุดเมื่อเสาร์ที่แล้ว ก็เกิดการประท้วงต่อต้านกฎหมายความมั่นคงภายใน (ไอเอสเอ) ขึ้นอีก จนตำรวจต้องเข้าสลายม็อบ แต่รุนแรงเกินไปจนโดนสวดยับ

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา สภาทนายความมาเลเซียประณามการปราบปรามผู้ต่อต้านไอเอสเอ ที่ชุมนุมอย่างสงบ ว่า รัฐบาลใหม่มีเจตนาที่จะปิดกั้นเสรีภาพของประชาชน ที่จะวิพากษ์วิจารณ์ ทั้ง ๆ ที่เคยรับปากมั่นเหมาะว่าจะทำการปฏิรูป และว่าการปราบปรามอย่างรุนแรงเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการชุมนุมและ เป็นการใช้อำนาจในทางที่ผิดอย่างชัดเจน ของฝ่ายรัฐบาล

ไอเอสเอเป็นกฎหมายที่อนุญาตให้ควบคุมผู้กระทำผิดโดยไม่มีกำหนด และไม่จำเป็นต้องมีการไต่สวน ผู้คนราว 20,000 คน จึงออกมาชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายอัปยศฉบับดังกล่าว จนโดนปราบด้วยแก๊สน้ำตา วิ่งหนีกันกระเจิดกระเจิง ดังที่ปรากฏเป็นข่าว

อย่างไรก็ตาม การปราบปรามเมื่อวันเสาร์ที่แล้ว ยิ่งทำให้ฝ่ายค้านวิตกมากขึ้นว่า นายกฯนาจิบ ราซัค ที่เพิ่งมานั่งเก้าอี้เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา อาจไม่ยอมทำตามคำมั่นสัญญาที่ว่าจะปกป้องเสรีภาพของพลเมืองเสียแล้ว

แถลงการณ์ตอนหนึ่งของสภาทนายฯ ซึ่งเป็นตัวแทนของนักกฎหมาย 12,000 คนบอกว่า รัฐบาลใหม่จงใจที่จะปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ปราบปรามและลงโทษใครก็ตามที่กล้าแสดงความคิดเห็น ในขณะที่กล่าวหาพวกเขาว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดความไม่สงบและความไม่เป็นระเบียบขึ้น

ตำรวจใช้ทั้งแก๊สน้ำตา น้ำเจือสารเคมีถล่มเข้าใส่ไม่ยั้ง ก่อนที่จะไล่ต้อนจับผู้ประท้วงไปไม่ต่ำกว่า 600 คน เหตุเพราะชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งหมดถูกปล่อยตัว มีเพียง 29 คนที่จะต้องขึ้นศาลในวันที่ 4 ก.ย.นี้ 16 คน ถูกตั้งข้อหาเข้าร่วมการชุมนุมโดยผิดกฎหมาย โทษคือจำคุก 1 ปี ที่เหลืออีก 13 คนโดนหนักกว่าคือ ช่วยเหลือจัดการชุมนุมโดยผิดกฎหมาย โทษจำคุกสูงถึง 3 ปี แต่ศาลยอมให้ประกันตัวไปก่อนเมื่อวันจันทร์

หลังเล่นงานผู้ประท้วง จนอ่วมอรทัยแล้ว รัฐบาลก็ออกมาพูดว่าการประท้วงครั้งนี้ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่า เป็นความพยายามของฝ่ายค้านที่จะชิงเป็นฝ่ายได้เปรียบทางการเมือง เป็นเรื่องที่ไม่มีความจำเป็นเลย ทั้งยังก่อให้เกิดความลำบากต่อประชาชนอีกต่างหาก เพราะรัฐบาลก็ยืนยันแล้วว่า จะทบทวนกฎหมายที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งฉบับนี้

ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนได้จัดการชุมนุมขนาดย่อมกว่า เพื่อต่อต้านไอเอสเอฉบับเดียวกันนี้ พวกเขายืนยันด้วยว่าจนถึงตอนนี้ยังมีคนถูกควบคุมตัวไว้ภายใต้ไอเอสเอ ไม่ต่ำกว่า 17 คน ส่วนใหญ่เป็นความผิดเกี่ยวกับเหตุรุนแรงและปลอมแปลงเอกสาร ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งนาจิบสั่งเปิดคุกปล่อยผู้ถูกควบคุมไปแล้ว 26 คน

การประท้วงเมื่อวันเสาร์ เป็นครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2550 เมื่อชนกลุ่มน้อยอินเดียหลายหมื่นคนออกมาต่อต้านกฎหมายของประเทศ ที่ให้โอกาสในการศึกษาและทำสัญญารับเหมาแก่ชาวมาเลย์ ชนกลุ่มใหญ่ มากกว่าชนกลุ่มน้อยชาวอินเดีย และชาวจีนในมาเลเซีย.

เลนซ์ซูม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook