หมายจับอาหรับฆ่าทูตซาอุกลางกรุง

หมายจับอาหรับฆ่าทูตซาอุกลางกรุง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ดีเอสไอ รื้อคดีหิน เมื่อ19ปี ฟื้นสัมพันธ์ กลับคืนมา

ดีเอสไอออกหมายจับคดีฆ่านัก การทูตซาอุฯ ผู้ต้องหาเป็นชายชาวอาหรับ คดีดังเมื่อ 19 ปีที่ผ่านมา เชื่อปมสังหารเกิดจากความขัดแย้งระหว่างประเทศซาอุดีอาระเบียกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเดียวกัน เชื่อจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศดีขึ้น

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยความคืบหน้าคดีฆาตกรรมนักการทูตซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเกิดเหตุตั้งแต่ปีพ.ศ.2533 ว่า ดีเอสไอสืบสวนจนได้พยานปากสำคัญจากต่างประเทศ พร้อมทั้งประจักษ์พยานยืนยันตัวบุคคลที่กระทำความผิดในคดีนี้ จนนำมาสู่ความเห็นชอบร่วมกันระหว่างพนักงานอัยการและคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อยื่นคำร้องขอออกหมายจับ ซึ่งศาลอาญาได้อนุมัติให้ออกหมายจับนายอาบู อาลี ชาวอาหรับ ซึ่งเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงนายอัลลุเลาะห์ เอ อัล เบซารีห์ เลขานุการโท ของสถานเอกอัครราชทูตซาอุฯ ซึ่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดีต่อไป

สำหรับคดีฆาตกรรมนายอัลลุเลาะห์ เอ อัล เบซารีห์ เลขานุการโท ของสถานเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบีย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2533 บริเวณด้านหน้าศรีวัฒนาอพาร์ตเมนต์ เลขที่ 34/3 (บ้านสุทธิพงษ์) ตรงข้ามซอยเย็นอากาศ 2 ถนนเย็นอากาศ แขวงทุ่งมหาเฆม เขตสาทร กทม. ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสถานีตำรวจนครบาลทุ่งมหาเมฆ โดยก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุดังกล่าวประมาณ 10 นาที มีคนร้ายกลุ่มหนึ่งใช้อาวุธปืนยิงนายฟาฮัด เอแซด อัลบาฮลี เลขานุการโท และนายอาหะหมัด เออัลชาอีพ ผู้ช่วยเลขานุการ สถานทูตซาอุดีอาระเบีย เสียชีวิต ซึ่งทางการสืบสวนเชื่อว่าน่าจะเป็นคนร้ายกลุ่มเดียวกัน

สำหรับคดีนี้ ในวันที่ 28 พ.ค.2547 คณะกรรมการคดีพิเศษมีมติรับเรื่องดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ จากการสืบสวนของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งเก็บรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ประจักษ์พยานและพยานแวดล้อม รวมถึงพยานผู้เชี่ยวชาญ ยืนยันนำเสนอต่อศาลว่านายอาบู อาลี เป็นคนร้ายที่ก่อเหตุในคดีนี้ ศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งหมายจับผู้ต้องหาดังกล่าว ดีเอสไอจึงส่งสำนวนคดีดังกล่าวต่อพนักงานอัยการคดีพิเศษเพื่อพิจารณาสั่งคดีต่อไป อย่างไรก็ตามก่อนหน้าที่จะโอนสำนวนการสอบสวนมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนวนดังกล่าวถูกดำเนินการ โดยกรมตำรวจ หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติในปัจจุบัน โดยมีการตั้งประเด็นการสอบสวนสาเหตุการฆาตกรรม เนื่องมาจาก 1.การขัดแย้งผลประโยชน์ในการส่งแรงงานไปทำงานยังประเทศซาอุดีอาระเบีย 2.เจ้าหน้าที่สถานทูตบางคนร่วมกับบุคคลภายนอกส่งสินค้าผิดกฎหมาย เช่น กัญชาอัดแท่ง ไม้หอมและน้ำมันไปประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยใช้เอกสิทธิ์ทางการทูต 3.การขัดผลประโยชน์ของกลุ่มแก๊งพัทยาที่มีนายมุนีย์ อาหะหมัด เป็นหัวหน้า ซึ่งประเด็นทั้ง 3 เรื่องที่กรมตำรวจตั้งเป็นประเด็นการสืบสวน นำไปสู่การจับกุมและดำเนินคดีกับผู้ต้องหาบางราย ต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ส่วนคดีความที่ส่งขึ้นพิจารณาในชั้นศาล ศาลมีคำสั่งยกฟ้องทั้งหมด

พ.ต.อ.ทวีเปิดเผยด้วยว่า การสืบสวนของดีเอสไอตั้งประเด็นแตกต่างไปจากกรมตำรวจ โดยพิจารณาจากพยานหลักฐานต่างๆ แล้วเห็นว่าประเด็นสาเหตุการฆาตกรรมน่าจะมาจากความขัดแย้งระหว่างประเทศซาอุดีอาระเบียกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ซึ่งพบว่าก่อนหน้าที่จะมีการฆาตกรรมเจ้าหน้าที่สถานทูตประเทศซาอุดีอาระเบียเคยมีหนังสือขอความร่วมมือมายังประเทศไทย ให้ช่วยดูแลเจ้าหน้าที่และประชาชนชาวซาอุดีอาระเบียในประเทศไทย เนื่องจากเกรงว่าจะไม่ได้รับความปลอดภัย เช่นเดียวกับในประเทศอื่นๆ ซึ่งเกิดเหตุขึ้นมาแล้ว

คดีฆาตกรรมนักการทูตซาอุดีอาระเบียที่ได้รับการคลี่คลาย จนนำไปสู่การอนุมัติหมายจับผู้ต้องหาในคดีนี้ ถือว่าเป็นความคืบหน้าอีกระดับหนึ่งในความพยายามของกรมสอบสวนคดีพิเศษที่จะแสดงให้รัฐบาลซาอุดีอาระเบียเชื่อมั่นว่า รัฐบาลไทยมีความจริงใจที่จะรื้อฟื้นความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองประเทศขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ย้อนกลับไปเมื่อเดือน ส.ค.พ.ศ.2530 สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านตึงเครียดถึงขีดสุด ภายหลังจากประชาชนชาวอิหร่านประมาณ 150,000 คน ที่เดินทางไปจาริกแสวงบุญยังนครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย รวมตัวก่อม็อบประท้วงรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและอิสราเอลตามคำสั่งอยาตอลเลาะห์โคไมนี พร้อมกับปิดกั้นทางเข้ามหาสุเหร่า ทำให้ชาวมุสลิมผู้แสวงบุญนับล้านคนเข้าไปประกอบพิธีทางศาสนาข้างในไม่ได้ ส่งผลให้รัฐบาลซาอุดีอาระเบียส่งกำลังตำรวจเข้าสลายม็อบดังกล่าว มีผู้เสียชีวิต 200 กว่าราย บาดเจ็บจำนวนมาก

หลังเกิดเหตุนายฮาเซมิ รัฟซันยานี ประธานรัฐสภาอิหร่านขณะนั้น กล่าวปราศรัยทางวิทยุเตหะราน โจมตีซาอุดีอาระเบียว่าถูกสหรัฐบงการ และว่า อิหร่านจะต้องถอนรากถอนโคนผู้ปกครองซาอุฯ และเข้ายึดครองมหาวิหารศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาให้พ้นจากเงื้อมมือของพวกอันธพาล ทั้งยังขู่ใช้กำลังยกทหารบุกยึดบ่อน้ำมันของซาอุฯ มาใช้ เพื่อประโยชน์ของชาวมุสลิมและอิสลาม เป็นเหตุให้สถานการณ์ตึงเครียดไปทั่วโลก ส่วนในประเทศไทย ตำรวจต้องวางกำลังอารักขาสถานเอกอัครราชทูตซาอุฯ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส คูเวต และคอยดูแลประชาชนซาอุฯ ในไทยมากเป็นพิเศษ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook