สธ.แถลงเหยื่อหวัด2009ตายเพิ่ม16รายรวมป.6สุราษฎร์ฯอีก1

สธ.แถลงเหยื่อหวัด2009ตายเพิ่ม16รายรวมป.6สุราษฎร์ฯอีก1

สธ.แถลงเหยื่อหวัด2009ตายเพิ่ม16รายรวมป.6สุราษฎร์ฯอีก1
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สธ.เผยยอดเหยื่อหวัด 2009 ตายเพิ่ม 16 ราย จำนวนนี้ 11 ราย มีโรคประจำตัวและเป็นหญิงตั้งครรภ์ รวมสะสม 97 ราย ขณะที่ อภ.เซ็นสัญญาซื้อซานามีเวียร์สำรองเพิ่ม 50,000 ชุด วัคซีนหวัด2009พร้อมฉีดอาสาสมัครกลุ่มแรก24 คน 4 ก.ย.นี้

วันที่ 11 ส.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ศุภมิตร ชุณหสุทธิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค และนพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันแถลงข่าว ความคืบหน้าสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1

นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯของไทย ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าการระบาดมีแนวโน้มชะลอตัวลงในเขตกทม. และปริมณฑล ส่วนในภูมิภาคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ โดยกลุ่มอายุ 6-20 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียนแนวโน้มติดเชื้อชะลอตัวลง บ่งชี้ว่ามาตรการคัดกรองเด็กนักเรียนป่วยในโรงเรียนหลายๆ แห่ง เริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรม และต้องเร่งดำเนินการต่อไป ขณะที่กลุ่มเกษตรกรและกลุ่มรับจ้างทั่วไปยังมีแนวโน้มติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งจะต้องขยายการควบคุมการแพร่กระจายเชื้อในชุมชน โดยเฉพาะการให้ผู้ที่ป่วยหยุดพักอยู่กับบ้านอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ เริ่มมีสัญญาณที่ดีเกี่ยวกับมาตรการควบคุมการแพร่กระจายเชื้อมากขึ้น โดยในกลุ่มประชาชนทั่วไป เริ่มมีพฤติกรรมในการป้องกันโรคเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะมาตรการให้หยุดพักงานอยู่กับบ้าน 7 วัน หลายหน่วยงานจัดระบบติดตามให้มีการพักอย่างจริงจัง รวมทั้งจัดระบบควบคุมป้องกันโรค ส่วนมาตรการกระจายยาต้านไวรัสลงสู่คลินิกเอกชน สัปดาห์นี้มีคลินิกเข้าร่วมโครงการเพิ่มจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 15 ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้เร่งรัดให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ทั้ง 18 เขต ทำความเข้าใจมาตรการการจ่ายยาต้านไวรัสกับแพทย์เจ้าของคลินิก เพื่อให้เข้าร่วมมือกับโครงการมากขึ้น โดยจะมีการสรุปและติดตามผลในวันที่ 17 สิงหาคมนี้ อย่างไร

นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า จำนวนผู้เสียชีวิตในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่ 1-8 สิงหาคม 2552 ได้รับรายงาน 16 ราย รวมไทยมียอดผู้ป่วยสะสม 97 ราย ซึ่ง ในจำนวนผู้เสียชีวิตรายใหม่นี้ 11 ราย เป็นผู้มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และหญิงตั้งครรภ์ 1 ราย และค่าเฉลี่ยวันที่เริ่มป่วยจนถึงได้รับยาต้านไวรัสสั้นลงจาก 7 วัน เหลือ 5-6 วัน โดยผู้เสียชีวิตร้อยละ 50 เริ่มป่วยก่อนที่จะมีนโยบายกระจายยาต้านไวรัสไปสู่คลินิกเอกชน ดังนั้นสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งรัดเพื่อลดการเสียชีวิต คือ 4 เรื่องหลัก ได้แก่ มาตรการกระจายยาต้านไวรัส การกระตุ้นให้ประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะไปพบแพทย์เมื่ออาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน การส่งเสริมให้แพทย์ยึดแนวทางการรักษาตามคู่มือที่คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกำหนด และจัดทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทยศาสตร์ต่างๆ เป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำแพทย์ที่รักษาผู้ป่วย ตลอด 24 ชั่วโมง คาดว่าจะช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงได้ภายใน 3-4 สัปดาห์ข้างหน้า

ด้าน นพ.ม.ล.สมชาย กล่าวว่า ขณะนี้ทางกรมควบคุมโรคได้กระจายยาโอเซลทามีเวียร์จำนวน 4 ล้านเม็ดไปยังโรงพยาบาลทุกแห่งแล้ว ส่วนการกระจายยาไปยังคลินิกยังต้องรอเพิ่มเติม แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 เป็นสิ่งประมาทไม่ได้ ดังนั้นการชุมนุมใหญ่ที่จะมีขึ้น ผู้ที่มีอาการป่วยอยากให้หยุดอยู่กับบ้านเพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรค นอกจากนี้ทางกรมควบคุมโรคจะประสานไปยังสำนักพระพุทธศาสนาเพื่อให้เฝ้าระวังการแพร่ระบาดในกลุ่มพระเณร หลังจากพบการแพร่ระบาดในโรงเรียนปริยติธรรม ที่จังหวัดสระแก้ว

สำหรับก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 13.30 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข เป็นประธานในพิธีลงนามจัดซื้อยาต้านไวรัสซานามีเวียร์ ระหว่างองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และบริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อสำรองใช้ในประเทศกรณีมีผู้ป่วยที่ดื้อต่อยาโอเซลทามีเวียร์จำนวน 50,000 ชุด

นายวิทยา กล่าวว่า โรคไข้หวัด 2009 ยังมีระยะเวลาการแพร่ระบาดหลายปี ทำให้โอกาสการดื้อยาโอเซลทามีเวียร์ยังมีสูง ดังนั้นจำเป็นที่ต้องสำรองยาซานามีเวียร์ไว้ใช้ กรณีหากเกิดการดื้อยาโอเซลทามีเวียร์ขึ้น ถือเป็นความมั่นคงของประเทศ

ด้าน นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า หลังการลงนามแล้ว ทาง อภ.มีความพร้อมที่จะกระจายยาซานามีเวียร์ไปยังโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศตั้งแต่วันพรุ่งนี้ ซึ่งขึ้นอยู่กับกรมควบคุมโรคว่าจะให้กระจายยาไปจำนวนเท่าไหร่ โดยทาง อภ.ได้ลงนามเพื่อสำรองยาซานามีเวียร์จำนวน 50,000 ชุด โดยใช้งบกลาง ซึ่งเป็นคนละส่วนที่ทางกรมควบคุมโรคได้สำรองไว้ก่อนหน้านี้ 20,000 ชุด ทั้งนี้ก่อนหน้านี้แพทย์ได้มีการสั่งจ่ายยาโอเซลทามีเวียร์ให้กับผู้ป่วย ซึ่งเป็นผู้ป่วยอาการหนักมากที่ต้องเร่งให้รักษาโดยเร็ว

สำหรับการกระจายยาโอเซลทามีเวียร์นั้น ที่ผ่านมาทาง อภ.ได้กระจายยาไปแล้วรวม 9 ล้านเม็ด โดยเป็นยาในจำนวนการผลิตล็อตแรก 6 ล้านเม็ด และอีก 3 ล้านเม็ด เป็นล็อตที่มีการอนุมัติให้ทำการผลิตเพิ่ม 10 ล้านเม็ด ชึ่งขณะนี้ อภ.ยังคงมียาที่ผลิตแล้วและอยู่ในสต็อกอีก 7 ล้านเม็ด นอกจากนี้ยังมีสต๊อกวัตถุดิบในการผลิตยาโอเซลทามีเวียร์อีก

วัคซีนหวัด2009พร้อมฉีดอาสาสมัครกลุ่มแรก24 คน 4 ก.ย.นี้

ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อเวลา 12.30 น. นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการพิจาณาศึกษาวิจัยในมนุษย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ในวันที่ 12 ส.ค. นี้ ถือเป็นวันมงคลที่จะมีการเก็บเกี่ยววัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ล็อตแรก ที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งต้องดูว่าผลเป็นอย่างไร ก่อนเริ่มกระบวนการทดลองวิจัยในคนต่อไป โดย ในวันนี่ที่ประชุมได้เห็นชอบให้ดำเนินการทดลองฉีดวัคซีนในกลุ่มอาสาสมัครได้ แต่ยังต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัย คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล อีกชุดหนึ่งก่อน ซึ่งเป็นคณะกรรมการอิสระ โดยคาดว่าจะมีการประชุมในสัปดาห์นี้ ก่อนที่คณะกรรมการฯ ชุดนี้จะหมดวาระลงในวันที่ 15 ส.ค.นี้

นพ.วิชัย กล่าวว่า หากทางคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ผ่านความเห็นชอบให้ดำเนินการฉีดวัคซีนทดลองในคนได้ ทางคณะผู้วิจัยจะเริ่มทดลองฉีดวัคซีนระยะที่ 1 โดยจะเริ่มฉีดวัคซีนให้กับอาสาสมัครจำนวน 24 คน ในวันที่ 4 ก.ย. นี้ ซึ่งในกลุ่มอาสาสมัครนี้จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มที่ 1 อาสาสมัคร 12 คน จะได้รับวัคซีนในปริมาณ 6.5 ล็อก (หน่วยปริมาณเชื้อไวรัสที่บรรจุในวัคซีน) กลุ่มที่ 2 อาสาสมัคร 9 คน จะได้รับวัคซีน 7.5 ล็อก ส่วนกลุ่ม 3 อาสาสมัครที่เหลืออีก 3 คน จะได้รับวัคซีนหลอก เพื่อนำผลมาเปรียบเทียบกัน

ทั้งนี้หลังจากผู้วิจัยได้ฉีดวัคซีนให้อาสาสมัครแล้ว จะให้อาสาสมัครอยู่ที่ศูนย์วิจัยเป็นเวลา 7 วัน เพื่อติดตามดูอาการและผลการฉีดวัคซีนอย่างใกล้ชิด และหลังจากนั้นจะนัดมาพบในอีก 7 วันเพื่อตรวจสุขภาพ และเมื่อครบ 21 วันหลังรับวัคซีนครั้งแรกอาสาสมัครจะได้รับวัคซีนครั้งที่ 2 และเมื่อครบ 28 วันหลังรับวัคซีนครั้งที่ 2 จะมีการสรุปผลการฉีดวัคซีนในกลุ่มอาสาสมัครระยะที่ 1นี้ ก่อนจะทดลองฉีดวัคซีนในระยะที่ 2 ต่อไป

"ในช่วงที่อาสาสมัครอยู่ที่ศูนย์วิจัยนั้นจะติดตามอาการทุกวัน โดยจะมีการตรวจวัดอุณหภูมิทุกๆ 4 ช.ม. อาการที่เป็นผลข้างเคียง เช่น น้ำมูกไหล ปวดเมื่อยตามตัว เป็นต้น จากนั้นจะทำการตรวจเลือดเพื่อดูว่าวัคซีนที่ให้ไปสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้หรือไม่ มากน้อยแค่ไหน และมีผลกระทบต่อการทำงานของร่างกายอย่างไร เช่น ผลเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง การทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ไต ยังทำงานปกติหรือไม่" นพ.วิชัย กล่าว

นพ.วิชัย กล่าวว่า ในการประเมินผลการทดลองการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ในระยะที่ 1 นั้น จะมีการตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลข้อมูลและความปลอดภัย ซึ่งเป็นคณะกรรมการอิสระขึ้นมาอีก 1 ชุด เพื่อทำการประเมินผลก่อนเดินหน้าการทดลองวัคซีนในระยะที่ 2 ประกอบไปด้วย นพ.เคนจิ ฮิรายามะ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยานางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา ผู้เชี่ยวชาญทั้งจากโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อร่วมกันพิจารณาว่าจะเดินหน้าทดลองวัคซีนในระยะที่ 2 ต่อไปหรือไม่ ซึ่งจะทดลองในกลุ่มอาสาสมัคร 400 คน นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการกำกับดูแลการวิจัย มีผู้เชี่ยวชาญจากฟิลิปปินส์เป็นประธาน ซึ่งจะจะกำกับดูแลการดำเนินการวิจัยอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะดูรายละเอียดในทุกขั้นตอน

นพ.วิชัย กล่าวว่า สำหรับอาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดลองวิจัยวัคซีนไข้หวัด 2009 นี้ ทางองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้ทำประกันชีวิตให้กับอาสาสมัครทั้งหมด 424 คน ในวงเงินประกันคนละ 500,000 บาท เป็นจำนวนเงินประกันที่สูงกว่าการทดลองวัคซีนทั่วไปซึ่งอยู่ที่ 200,000 บาท

หวัดคร่าชีวิตนร.ป.6สุราษฎร์ธานีอีก1ราย

นางนาฎยา ไชยนาเคนทร์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 1 แจ้งว่า ได้รับรายงานผลการควบคุมการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 ของ สพท. สุราษฎร์ธานี เขต 1 จากโรงเรียนมานิตานุเคราะห์ ว่า มีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ได้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ จำนวน 1 ราย คือ ด.ช.โชติรส รักษาเพชร อายุ 12 ปี

ทั้งนี้นักเรียนที่เสียชีวิต มีโรคประจำตัว เป็นโรคหืด มีน้ำหนักตัว 80 กิโลกรัม และมีเลือดกำเดาออกเป็นประจำ ได้เสียชีวิตหลังจากติดเชื้อไปแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ โดยเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 ส.ค. ในส่วนของโรงเรียนมานิตานุเคราะห์ ได้สั่งปิดห้องเรียนดังกล่าวและมีการปิดโรงเรียนอีก 1 วันเพื่อทำความสะอาดทั้งโรงเรียน
ขณะที่นายแพทย์ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า เด็กมีประวัติเป็นโรคมาก่อน เมื่อเป็นไข้หวัด 2009 จึงทำให้เชื้อแพร่อย่างรุนแรงจึงเสียชีวิตดังกล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook