การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ช่วงนี้ คนอยากจะรู้ว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างไร จะเร็วแค่ไหน

วันนี้จะขอฟันธงให้ฟังว่า เศรษฐกิจไทยจะทยอยฟื้นในช่วงปีนี้และต้นปีหน้า แต่จะไม่เร็วอย่างที่หวัง

ที่มั่นใจก็เพราะว่า เศรษฐกิจไทยพึ่งพา การส่งออก ไปยังต่างประเทศมากกว่า 70%

แต่เมื่อวิเคราะห์โดยละเอียดพบว่า ผู้บริโภคในสหรัฐและสหภาพยุโรปซึ่งเป็นผู้ซื้อสินค้าส่งออกของเรา ยังคงชะลอการซื้อรถ บ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นไปอีกระยะ เนื่องจากคนเหล่านี้ได้ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยไปมากก่อนเกิดวิกฤติ ตอนนี้กำลังชดใช้กรรม พยายามอดออม ปลดหนี้ ล้างหนี้ของตนเองให้กลับมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม กว่าจะมีกำลังซื้อคึกคักเหมือนเดิม ก็คงอีกหลายปี

ถ้าเป็นเช่นนี้ การส่งออกเราก็ยากที่จะกลับไปรุ่งเรืองเช่นในอดีต ทำให้เครื่องยนต์ตัวใหญ่ที่สุดที่คอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทำงาน อย่างแผ่ว ๆ ไประยะหนึ่ง

ส่วนกำลังซื้อในเศรษฐกิจไทย ก็น่ากังวลใจ

1. การบริโภคของภาคเอกชนไทย ที่เคยเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญในช่วงรัฐบาลทักษิณครั้งนี้ คงไม่สามารถทำหน้าที่เป็นหัวรถจักรที่คึกคักและนำเศรษฐกิจไทยให้วิ่งฉิวไปข้างหน้าเช่นดังเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว เพราะครั้งนั้น ทุกคนยังไม่มีหนี้ ยังมีเครดิตพอที่จะกู้ยืมจากสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต และบัตรสิชื่อ ซึ่งบูมขึ้นมากในยุคนั้น มาใช้ไฟแนนซ์การบริโภค และผ่อนสินค้าต่าง ๆ ได้ แต่รอบนี้ คงต้องรับความจริงว่าหลายคนต่างเป็นหนี้กันมากพอควร มีบัตรคนละหลายใบแล้ว เรียกว่าถึงขีดจำกัด ยากที่จะกู้ยืมมาใช้บริโภคเพิ่มได้

2. การลงทุนของภาคเอกชน ในส่วนนี้ รัฐบาลพยายามสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยกับการขยายตัวของการลงทุน โดยมีการปรับลดดอกเบี้ยลงมามาก และรัฐพยายามทำตัวเป็นหัวหอกในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานโดยหวังว่าเอกชนจะคล้อยตาม ซึ่งก็คงมีบ้าง

แต่ถ้าพิจารณาอย่างละเอียดเราจะพบว่า ปัจจุบันกำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับต่ำ แค่ 60% เทียบกับ 75% เมื่อ 2-3 ปีก่อนหน้า หมายความว่า ยังมีกำลังการผลิตเหลืออยู่ในระบบอีกพอสมควร และถ้าเศรษฐกิจโลกไม่กลับไปคึกคักเหมือนเดิม โอกาสที่การลงทุนจะขยายตัวแรง ๆ ก็คงมีจำกัด

3. ท้ายสุด การใช้จ่ายลงทุนภาครัฐ รัฐบาลได้พยายามหางบประมาณมาเพื่อการใช้จ่ายรอบนี้ 800,000 ล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า แต่ก็น่าเป็นห่วง เพราะว่า การใช้จ่ายภาครัฐก็เป็นแค่เพียงส่วนเล็ก ๆ ของเศรษฐกิจเท่านั้น และการเบิกจ่ายของรัฐในโครงการลงทุนที่ตั้ง ใจไว้ในแผนไทยเข้มแข็ง จะเป็นไปตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่ และจะถูกกระทบจากปัญหาทางการเมืองหรือไม่

ด้วยเหตุนี้ จึงชัดเจนว่าเครื่องยนต์แต่ละเครื่งของเศรษฐกิจไทย เช่น การส่งออก การบริโภค การลงทุน และภาครัฐ ต่างก็มีปัญหาในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งสิ้น รับกับรายละเอียด ของตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรม ที่ถ้าเราดูใกล้ ๆ จะพบว่า มีแต่ภาคอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นสำคัญที่ปรับตัวดีขึ้น แต่ผู้ประกอบการเหล่านี้ก็ยังไม่มั่นใจเรื่องคำสั่งซื้อจากต่างประเทศว่าจะกลับมานานแค่ไหน จะดีอย่างยั่งยืนหรือไม่ และที่สำคัญการฟื้นตัวในภาคอุตสาหกรรมยังไม่กระจายวงกว้าง เพราะส่วนที่เหลือของการผลิตภาคอุตสาหกรรมอีก 65% เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ เหล็ก สิ่งทอ ระดับการผลิตยังต่ำเตี้ยอยู่ แม้จะดีขึ้นบ้าง

จากเหตุผลเหล่านี้จึงสรุปได้ว่า กระบวนการฟื้นตัวของไทยก็คงไม่ราบรื่น และไม่แรงเท่าที่ทุกคนคิด และถ้าจะฟื้นบ้าง ก็คงเป็นประเภทตกแรง ลงแรง แต่ลุกขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป มีหลุมบ่อระหว่างทางอีกมาก ขึ้นกับเศรษฐกิจโลกเป็นสำคัญ ก็ต้องขอให้ทุกคนไม่ประมาท ไม่ตายใจ พยายามระมัดระวังตัวไปอีกระยะจนถึงปลายปีครับ.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook