จี้สังคมตระหนักชาติไม่รอดถ้าปฏิรูปศึกษาเหลว

จี้สังคมตระหนักชาติไม่รอดถ้าปฏิรูปศึกษาเหลว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
จากการสัมมนา สภาวะการศึกษาไทย ปี 2551/2552 การศึกษากับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 52 ที่โรงแรมปริ๊นซ์ พาเลซ รศ.วิทยากร เชียงกูล คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต ได้เสนอผลการวิจัยสภาวะการศึกษาไทยว่า การจัดการศึกษาที่ไม่ทั่วถึง และ คุณภาพต่ำ คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจและการเมืองมีปัญหา แต่ที่ผ่านมาผู้บริหารประเทศเข้าใจผิดคิดว่าต้องพัฒนาเศรษฐกิจก่อนแล้วจึงมาพัฒนาการศึกษา แต่จริง ๆ เราต้องพัฒนาการศึกษาก่อน เมื่อคนมีคุณภาพแล้วจึงจะพัฒนาเศรษฐกิจได้ โดยจากข้อมูลพบว่า อันดับความสามารถทางเศรษฐกิจของไทยลดลงจาก 5-10 ปีที่แล้ว ถึงแม้สัดส่วนของผู้ได้เรียนต่อในทุกระดับจะเพิ่มขึ้นแต่ก็แค่เล็กน้อย และยังมีประชากรวัย 3-17 ปีที่ไม่ได้เรียนอีกประมาณ 2.76 ล้านคน จากประชากรในวัยเดียวกัน 14.79 ล้านคน และที่น่าสังเกต คือ เด็กที่เข้าเรียน ป.1 ในปี 2540 แต่ได้เรียนถึง ม.6 หรือ ปวช.3 ในปี 2551 เพียง 47.2% ส่วนที่เหลือออกกลางคัน ขณะที่เด็ก อายุ 3-5 ปี ก็มีโอกาสได้เรียนน้อยและมีสัดส่วนที่ลดลงในรอบ 5 ปีเช่นกัน

รศ.วิทยากร กล่าวต่อไปว่า ปัญหาออกกลางคันเป็นปัญหาใหญ่มาก แต่ทุกรัฐบาลไม่ได้ให้ความสนใจแก้ไขอย่างเป็นระบบ ซึ่งจากข้อมูลแรงงานทั้งหมด 37 ล้านคน พบว่า 20.11 ล้านคนมีวุฒิแค่ประถมศึกษาและต่ำกว่า และ 13.7 ล้านคนจบแค่ ม.ปลาย โดยในจำนวนนี้จบอาชีวศึกษาเพียง 3.3% ซึ่งยังต่ำเกินไป ส่วนในจำนวนผู้ว่างงาน 8.2 แสนคน พบว่าจบระดับอุดมศึกษา 2 แสนคน รองลงมาคือ ม.ปลาย แสดงให้เห็นว่าเราผลิตคนได้ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ในขณะที่ผู้จบประถมศึกษาว่างงานน้อยกว่า เพราะไม่ค่อยเลือกงาน ดังนั้นเมื่อแรงงานส่วนใหญ่มีการศึกษาน้อยแล้วจะให้ไปแข่งขันกับใครได้ ทั้งนี้โครงการเรียนฟรี 15 ปี ไม่ได้ช่วยคนจนที่มีประมาณ 40% ได้อย่างแท้จริง และไม่ได้แก้ปัญหาเด็กออกกลางคัน เราจึงต้องพัฒนาครูและระบบโรงเรียนให้สามารถช่วยแก้ปัญหาให้แก่เด็กที่มีแนวโน้มจะออกกลางคัน รวมถึงต้องมีทุนช่วยเหลือค่ากิน ค่าที่พัก และค่าเดินทางให้แก่คนจนด้วย

รศ.วิทยากร กล่าวอีกว่า ในด้านคุณภาพพบว่า งบฯการศึกษาในปี 2552 คิดเป็น 20% ของงบฯทั้งหมด แต่ประสิทธิภาพการใช้จ่ายยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ คุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานยังกระจายไม่เป็นธรรม มีความแตกต่างด้านคุณภาพสูง จากการทดสอบพบว่าวิชาส่วนใหญ่ได้คะแนนเฉลี่ยต่ำกว่า 50% โดยที่น่าห่วง คือ คะแนนวิชาภาษาไทยที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก ทำให้วิชาอื่น ๆ อ่อนตามไปด้วย

แนวทางการแก้ไขปัญหา ต้องเปลี่ยนจากการจัดการศึกษาแบบแพ้คัดออก เป็นการจัดการศึกษาอย่างยืดหยุ่น ทั่วถึง มีคุณภาพ เพื่อพัฒนาคนทั้งประเทศ เน้นคุณภาพชีวิตความสุขของประชาชน มากกว่าการเพิ่มผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ ปรับโครงสร้างอำนาจการบริหารแบบรวมศูนย์ที่ ศธ. เป็นจัดให้มีคณะกรรมการประกันคุณภาพการศึกษาที่มีภาคี 4 ฝ่ายร่วมบริหาร คือ ศธ. องค์กรภาคประชาชน ผู้ทรงคุณวุฒิ และครูอาจารย์ รวมทั้งต้องปฏิรูปครูอาจารย์ให้เป็นครูแนวใหม่ รักการอ่าน และทำวิจัย สอนให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์เป็น ส่วนเรื่องงบประมาณก็ต้องมีการปฏิรูป และจัดสรรให้เป็นธรรม และต้องรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญ ว่าถ้าปฏิรูปการศึกษาให้มีคุณภาพทั้งประเทศไม่ได้ เราจะล้าหลังและตกต่ำ รศ.วิทยากร กล่าว.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook