โพลชี้ การล่าชื่อถวาย-คัดค้าน ฎีกาแม้ว แค่เกมการเมือง

โพลชี้ การล่าชื่อถวาย-คัดค้าน ฎีกาแม้ว แค่เกมการเมือง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เมื่อวันที่ 16 ส.ค. สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง คนไทย กับ การถวายฎีกา โดยสุ่มจาก 21 จังหวัดทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 3,094 คน ระหว่างวันที่ 10-15 ส.ค. สรุปว่า ประชาชน 37.07% ค่อนข้างรับรู้และติดตามบ้างในเรื่องการถวายฎีกา 32.81% ค่อนข้างรับรู้แต่ไม่ได้ติดตาม 23.24% รับรู้และติดตาม 6.88% ไม่ได้รับรู้และไม่ได้ติดตาม

เมื่อถามว่า ประชาชนมอง การล่ารายชื่อถวายฎีกา กับ การล่ารายชื่อคัดค้านถวายฎีกา ในครั้งนี้อย่างไร 37.17% ระบุเป็นเกมการเมืองที่เอาชนะคะคานกันโดยดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการเมือง 28.93% เป็นการกระทำที่มีลักษณะตาต่อตาฟันต่อฟัน มุ่งแต่เอาชนะจนอาจทำให้เกิดความวุ่นวายได้ 20.43% ระบุเป็นการใช้กฎหมู่ดึงเอาประชาชนมาเป็นเครื่องมือต่อรอง 13.47% ระบุว่าควรจะดำเนินการตามกฎหมายให้ถูกต้องจะดีกว่า

เมื่อถามถึงสิ่งที่ประชาชนเป็นห่วง กรณี การถวายฎีกา อันดับ 1 27.54% กลัวจะเกิดการปะทะกันระหว่างฝ่ายที่ยื่นกับฝ่ายที่คัดค้าน

อันดับ 2 21.88% ระบุว่าเป็นการระคายเคืองเบื้องยุคลบาท และไม่ควรนำพระองค์ท่านมาเกี่ยวข้องกับการเมือง อันดับ 3 19.84% สงสารและเป็นห่วงประชาชนที่ถูกนักการเมืองใช้เป็นเครื่องมือ อันดับ 4 17.42% กลัวจะวุ่นวายจนทำให้เกิดการปฏิวัติ ยึดอำนาจของทหาร และอันดับ 5

13.32% ทำให้เกิดความแตกแยก บานปลาย

เมื่อถามว่าคิดว่ากรณีการยื่นถวายฎีกา วันที่ 17 ส.ค.นี้ จะเกิดความวุ่นวายจนถึงขั้นปฏิวัติหรือนองเลือดหรือไม่ 36.07% คิดว่าไม่วุ่นวาย เพราะเป็นเรื่องของคนไทยด้วยกันเอง คงยอมกันได้ เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ ฯลฯ 32.74% ไม่แน่ใจ เพราะไม่รู้ว่าแต่ละฝ่ายมีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไร ไม่รู้จิตใจแต่ละฝ่าย ฯลฯ 31.13% อันดับ 3 น่าจะวุ่นวาย เพราะทุกฝ่ายมุ่งเอาแต่ชนะ ต้องการอำนาจ ,เป็นเกมการเมือง ,แต่ละฝ่ายมีคนหนุนหลังคงยอมกันยาก ฯลฯ

เมื่อถามว่าจะทำอย่างไร ให้กรณี การถวายฎีกา จะไม่วุ่นวายและบานปลายจนเกิดความแตกแยกมากกว่านี้ 32.93% ระบุว่า ต้องหลีกเลี่ยงการปะทะกันให้ได้ อย่าใช้วิธีตาต่อตา ฟันต่อฟันต้องใช้วิธียืดหยุ่น โอนอ่อนต่อกันแบบคนไทย โดยเห็นอกเห็นใจกันและให้อภัยต่อกัน 22.75% ระบุว่า นักการเมืองควรคิดถึงประเทศชาติเป็นสำคัญ อย่าใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือต่อรอง /ต้องกล้าที่จะออกมานำในเรื่องสันติวิธี อย่าเล่นเกมการเมืองจนบ้านเมืองย่อยยับ 16.58% รัฐบาลต้องวางตัวเป็นกลาง ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้ข้อเท็จจริงอย่าเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างเด็ดขาด 16.06% มองว่าทุกฝ่ายต้องไม่ประมาท อย่าเห็นว่าเป็นเรื่องเล็ก ใช้สติในการแก้ปัญหา และ 11.68% ระบุว่าประชาชนจะต้องมั่นคงไม่ถูกชักจูงง่าย อย่าเชื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดโดยไม่มีเหตุผล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook