สธ.เตรียมฉีดวัคซีนกัน"หวัด09" คนร่วมพิธีฮัจญ์ฟรีกว่าหมื่นคน

สธ.เตรียมฉีดวัคซีนกัน"หวัด09" คนร่วมพิธีฮัจญ์ฟรีกว่าหมื่นคน

สธ.เตรียมฉีดวัคซีนกัน"หวัด09" คนร่วมพิธีฮัจญ์ฟรีกว่าหมื่นคน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วิทยา เผยสธ.เตรียมฉีดวัคซีนป้องกันหวัด09 ให้ผู้ร่วมพิธีฮัจญ์ฟรี ผู้เชี่ยวชาญชี้การระบาดแค่จุดเริ่มต้น กระจุกแค่หัวเมือง ติดเชื้อแค่ 30 % ของประชากรทั่วปท. สธ.ปรับเปลี่ยนกลไก"วอร์รูม" รับมือระบาดระลอก2 เน้นประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากขึ้น

ที่ จ.สงขลา นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดอบรมให้ความรู้แซะห์หรือผู้นำกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขฮัจญ์หรือ อสม.ฮัจญ์ จำนวน 200 คน เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ที่ศูนย์บริหารการพัฒนาสุขภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศบ.สต.) จัดขึ้นเพื่อให้คำปรึกษาแนะนำการดูแลสุขภาพชาวไทยมุสลิมที่จะเดินไปประกอบพิธีฮัจญ์ นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบียในช่วงปลายปี 2552-มกราคม 2553 ประมาณ 16,000 คน

นายวิทยา กล่าวว่า ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขเตรียมฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลให้ผู้เดินทางไปแสวงบุญทุกคนฟรี เพื่อป้องกันไม่ให้ป่วยหรือหากป่วยอาการก็จะไม่รุนแรง ในส่วนของการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 นั้น ให้สำนักงานควบคุมป้องกันโรคเขต 12 จังหวัดสงขลา แจกคู่มือประชาชน ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 เจลล้างมือ 100,000 หลอด พร้อมหน้ากากอนามัย นอกจากนั้น ได้จัดส่งหน่วยแพทย์พยาบาลไทยจำนวน 2 ทีม ไปดูแลสุขภาพผู้แสวงบุญตลอดพิธี และได้สำรองยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์อย่างต่ำ 5,000 เม็ด ไปด้วย

นายวิทยา กล่าวว่า ภายหลังกลับจากแสวงบุญแล้ว ขอให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จัดระบบติดตามเฝ้าระวังสุขภาพ อีก 15 วัน เพื่อป้องกันการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009

วันเดียวกัน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนาเรื่อง "ไข้หวัดใหญ่ 2009 กับบทเรียนระบบสาธารณสุขไทย" โดยมี นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทพ.กฤษฎา เอื้ออารีรัชต์ รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นพ.พูลชัย จิตอนันตวิทยา ที่ปรึกษาสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข และนายสมบัติ ชูเถื่อน เลขาธิการสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข เข้าร่วม

ทพ.กฤษฎา เปิดเผยว่า ขณะนี้การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จะกระจุกอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ๆ ซึ่งมีประชากรที่ติดเชื้อเพียงร้อยละ 30 ของประชากรทั้งประเทศเท่านั้น ที่พบมากในกลุ่มดังกล่าวอาจเพราะการสัญจรไปมาสะดวก ทำให้การแพร่ระบาดของเชื้อง่ายขึ้น ดังนั้น การระบาดในขณะนี้จึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพราะยังไม่รวมถึงกรณีที่เชื้อดังกล่าวจะระบาดไปยังชนบท ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบมากกว่านี้ เพราะความพร้อมของชุมชนในการรับมือยังไม่เท่ากับเมือง

ทพ.กฤษฎา กล่าวว่า สิ่งที่อยากเสนอคือ การเตรียมรับมือในช่วงขาขึ้นของการระบาด ซึ่งจะเกิดขึ้นในอีก 2 เดือนข้างหน้า ต้องมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ เน้นการให้ยา การดูแลรักษาต้องทั่วถึงจริง โดยเฉพาะในชนบทพื้นที่ห่างไกล และทุกหน่วยงานต้องเป็นเจ้าภาพร่วมกัน แต่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องทำหน้าที่หลัก ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องดูแลเด็กนักเรียนกว่า 20 ล้านคน กระทรวงแรงงาน (รง.) ต้องดูแลแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ กระทรวงมหาดไทย (มท.) ต้องดูแลชุมชน

"วันนี้ เราไม่สามารถลดการแพร่ระบาดของเชื้อได้ ยุทธศาสตร์ขณะนี้จึงเน้นการลดผลกระทบ เพราะที่ผ่านมาเมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อจะแห่ไปโรงพยาบาล ดังนั้น ต้องมีระบบการลดผลกระทบ โดยให้การแพร่ระบาดเป็นไปอย่างช้าๆ ลดการสูญเสียให้มากที่สุด ซึ่งการให้ความรู้ในการดูแลตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ ต้องทำให้คน 60 ล้านคน เข้าใจเรื่องนี้จริง สามารถดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคนี้" พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลทำให้กลไกการควบคุมโรคของประเทศเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซงของนักการเมือง เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างรวดเร็ว

นายสมบัติ กล่าวว่า นโยบาย สธ.ที่ระดมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กระจายทุกพื้นที่เพื่อให้ความรู้ และตรวจคัดกรองโรคประชาชน ยังไม่ให้ความสำคัญกับบุคลากรเหล่านี้มากพอ จึงเสนอให้ สธ.ตั้งงบประมาณทำประกันภัยชีวิตให้ อสม.หากเกิดปัญหาระหว่างปฏิบัติหน้าที่

ขณะที่ นพ.ชูชัย กล่าวว่า ในวันที่ 17 สิงหาคม จะมีการปรับเปลี่ยนกลไกการดำเนินการของศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข (วอร์รูม) โดยจะเน้นประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเสร็จสิ้นการเสวนา สมาคมวิชาชีพสาธารณสุข ได้แจ้งว่าในวันที่ 19 สิงหาคม เจ้าหน้าที่อนามัยจากทั่วประเทศจะไปชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลผลักดัน และพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแห่งชาติ พ.ศ....ด้วย

ขณะที่ นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม กล่าวถึงความคืบหน้าการทดลองผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ว่า คาดว่าวันที่ 17 สิงหาคมนี้ จึงจะรู้ผลการคำนวณปริมาณเชื้อไวรัสที่ทดลองในไข่ไก่ เบื้องต้นทราบว่าได้ปริมาณน้ำเชื้อที่ทดลองในไข่ไก่ของเยอรมนีเพียง 8 ลิตร แต่การทดลองควบคู่ในไข่ไก่ของไทย กลับได้ถึง 13 ลิตร อาจเกิดจาก 3 ปัจจัยคือ 1.ไข่ไก่เยอรมนีไม่สามารถปรับสภาพได้ดีพอ 2.หัวเชื้ออาจไม่สามารถกระตุ้นและสร้างเชื้อใหม่ได้ 3.เทคนิคการผลิต ทั้งนี้จะต้องมีการประเมินผลต่อไป

ล่าสุด สอบถามถึงการทดลองเชื้อในไข่ไก่สะอาดของไทยไปที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา เพื่อขอคำแนะนำมาตรฐานของการทดลองในไข่ไก่ แต่ตามมาตรฐานของการทดลองเชื้อไวรัสในไข่ไก่พบว่า ในไข่ไก่เยอรมนีสามารถป้องกันเชื้อได้ถึง 31 ชนิด แต่มาตรฐานของไข่ไก่ไทยมีน้อยกว่า หากไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ และได้ปริมาณเชื้อไวรัสน้อยมากจนไม่สามารถเริ่มการทดลองในมนุษย์อาสาสมัครกลุ่มแรก 24 คน ก็อาจจำเป็นต้องเลื่อนกระบวนการทดลองวัคซีนในมนุษย์ทั้งระบบออกไปอีก 2 เดือน"นพ.วิชัยกล่าว

ขณะเดียวกัน ด้านสำนักงานป้องกันและควบคุมโรคของเกาหลีใต้รายงานว่า มีผู้เสียชีวิตคนที่ 2 จากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม เป็นผู้หญิงวัย 63 ปี ซึ่งมีขึ้นหลังจากก่อนหน้านี้เพียงวันเดียว ที่ชายชาวเกาหลีใต้วัย 50 กว่าเสียชีวิตเป็นคนแรกหลังจากเดินทางกลับจากประเทศไทย ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อมีมากกว่า 2,000 คน

นายประจักษ์ สุวรรณภักดี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา อัญเชิญดอกไม้พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นดอกกล้วยไม้ ถวายแด่หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ เพื่อเยี่ยมอาการอาพาธของหลวงพ่อคูณ ที่ห้องผู้ป่วยพิเศษ 9821 ชั้น 8 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เมื่อเวลา 12.15 น. วันที่ 16 สิงหาคม หลวงพ่อคูณกล่าวว่า รู้สึกดีใจที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงในอาการป่วย และขอให้พระองค์ทรงมีอายุมั่นขวัญยืนตลอดไป

"ในส่วนลูกศิษย์ที่เป็นห่วงกู สงสารกู ทำได้ไม่ยาก ทำได้ง่ายๆ นิดเดียว ตอนเช้าจงลุกขึ้นตักบาตรอย่าให้ขาดอย่าให้เว้น การตักบาตรเป็นกุศลอันใหญ่ยิ่ง อย่าประมาทว่าตักบาตรจะเป็นบุญน้อย การทำบุญทุกอย่างได้บุญเหมือนกัน ทำไปเถอะบุญไม่เสียหายอะไรดอกลูกหลานเอ๊ย" หลวงพ่อคูณ กล่าว

ก่อนหน้านี้ หลวงพ่อคูณกล่าวว่า"รู้สึกปีติยินดีอย่างมหาศาล พระองค์ท่านไม่ต้องเป็นห่วง ส่วนเรื่องที่จะนำเงินถวายเป็นพระราชกุศลฯ 100 ล้านบาท หากมีเงินก็จะทำ"

หลวงพ่อคูณ ให้สัมภาษณ์ว่า "เออ...กูก็ดีขึ้นตามลำดับ การป่วย การเป็น ก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่วันนี้อาการกูดีขึ้นมากแล้ว ไม่เป็นอะไรดอก หมอบอกให้กินยาก็กินได้ดี แต่ไม่ค่อยอยากกินดอก ใครจะอยากกินยา อยากเจ็บไข้ กูอยากจะกลับวัดวันพรุ่งนี้เลยหลานเอ๊ย"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะแพทย์ยังคงให้น้ำเกลือ ยาต้านเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 ทั้ง ยาโอเซลทามิเวียร์ และยาซาทามิเวียร์กับหลวงพ่อคูณตามเดิมต่อไปจนครบกำหนด นอกจากนี้ คณะแพทย์ปิดประกาศที่หน้าห้องพักของหลวงพ่อคูณห้ามเข้าเยี่ยมอย่างเด็ดขาด เพื่อให้ผู้ป่วยพักผ่อนอย่างเพียงพอ และเกรงอาจติดเชื้อแทรกซ้อนได้

สำหรับผลการตรวจหาเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 จากสารคัดหลั่งของหลวงพ่อคูณในห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมานั้น นพ.พินิจจัย นาคพันธุ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และเป็นแพทย์ประจำตัวหลวงพ่อคูณเปิดเผยว่า ผลการตรวจเป็นลบ หลวงพ่อคูณไม่ได้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 แต่เพื่อความแน่นอนต้องรอผลการตรวจยืนยันจากทางโรงพยาบาลจุฬาฯอีกครั้ง ทราบผลภายในวันเดียวกัน (16 สิงหาคม)

นพ.พินิจจัย กล่าวว่า คณะแพทย์ต้องการยืนยันความแน่ชัดว่าหลวงพ่อคูณติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 จริงหรือไม่ เพื่อจะได้วางแผนรักษาต่อไปได้ถูกต้อง หากอาการของหลวงพ่อคูณดีขึ้นตามลำดับไม่มีโรคแทรกซ้อน คาดว่าในวันที่ 20 สิงหาคมน่าจะกลับวัดบ้านไร่ได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook