''เทคโนโลยีการใช้ยีนควบคุมความหอมในข้าว''

''เทคโนโลยีการใช้ยีนควบคุมความหอมในข้าว''

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สิทธิบัตรกับการปกป้องสิทธิของคนไทย

เคยเป็นประเด็นร้อนเมื่อ 1-2 เดือนก่อนหน้านี้กับการจดสิทธิบัตรเทคโนโลยีการใช้ยีนควบคุมความหอมในข้าว

ข้าว ที่คนไทยภาคภูมิใจและปลูกเลี้ยงคนทั้งประเทศรวมถึงทั่วโลกมาช้านาน ทำไม...ถึงต้องมีการจดสิทธิบัตร และคนไทยจะได้อะไรจากการจดสิทธิบัตรครั้งนี้

แม้จะช้าไปสักนิด.. แต่เชื่อว่าเรื่องนี้ยังคาใจคนอีกหลาย ๆ คน ซึ่งวงเสวนาเล็ก ๆ เรื่อง อนาคตข้าวไทย...ก้าวย่างสำคัญหลังจากการจดสิทธิบัตรเทคโนโลยีการใช้ยีนควบคุมความหอมในข้าว ของศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีคำตอบ...

รศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เจ้าของผลงานร่วมกับ ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผอ.สถาบันจีโนม ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. บอกว่า ทำเรื่องข้าวหอม เพราะแรงบันดาลใจ จากการที่ข้าวหอมมะลิเป็นเอกลักษณ์ของชาติเป็นความภูมิใจของคนไทย และเป็นสัญลักษณ์ของคุณภาพ ซึ่งทีมวิจัยได้ใช้เวลาหลายปีในการตามหายีนความหอมของข้าว จนรู้ว่าอยู่ที่โครโมโซมที่ 8 จนกระทั่งถึงยุคจีโนมิกส์ หรือยุคเทคโนโลยีถอดรหัส พันธุกรรมเฟื่องฟู ได้มีความร่วมมือกับนานาชาติถอดรหัสจีโนมข้าว จนค้นพบตำแหน่งที่ชัดเจนของยีน ควบคุมความหอมที่เรียกว่าโอเอสทูเอพี (Os2AP)

ที่น่าประหลาด เมื่อวิจัยต่อ พบว่ายีนนี้หากอยู่ในข้าวทั่วไป จะทำหน้าที่ผลิตสารอื่น ๆ แต่หากอยู่ในข้าวหอม จะเป็นยีนที่ผิดปกติ ซึ่งจะผลิตเป็นสารหอมออกมา นักวิจัยจึงต้องหาวิธีพิสูจน์ให้ได้ว่าสิ่งที่ค้นพบนั้นเป็นจริง จึงใช้เทคนิคตัดต่อพันธุกรรมยีนให้กลายพันธุ์และทดสอบกับข้าวญี่ปุ่น ซึ่งปรากฏว่าสามารถทำให้ข้าวญี่ปุอมได้สำเร็จ

จึงเป็นที่มาของการยื่นขอจดสิทธิบัตรในกรรมวิธีสร้างยีนควบคุมความหอมในข้าว

ด้าน ดร.สมวงษ์ ยืนยันสิทธิบัตรที่ได้จากสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2551 เป็นการถือสิทธิด้านกรรมวิธีหรือเทคโนโลยีที่ใช้ในการสร้างยีนที่ควบคุมความหอมในข้าว ไม่ใช่การจดสิทธิบัตรในการค้นพบยีนความหอมของข้าวหอมมะลิ อย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ เพราะยีนในข้าวรวมถึงพืชต่าง ๆ ทั่วโลก มีนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการวิจัยด้านจีโนมได้ยื่นจดสิทธิบัตรครอบคลุมไว้แล้วเป็นจำนวนมาก

ส่วนประเด็นข้าวจีเอ็มโอ นั้น ดร.สมวงษ์ บอกว่า กระบวนการในการตัดต่อพันธุกรรม หรือจีเอ็มโอเป็นเทคนิคที่ใช้ในกระบวนการพิสูจน์ว่าสิ่งที่ค้นพบเป็นจริง ที่ต้องใช้เทคโนโลยีนี้ก็เพราะว่าทำได้อย่างรวดเร็ว ชัดเจน และระบุได้อย่างแน่นอน หากใช้วิธีการอื่น ๆ ในการพิสูจน์ ต้องใช้เวลานานเป็น 10 ปี ทั้งนี้ กระบวนการที่ทำให้ยีนในข้าวกลายพันธุ์และสร้างสารให้ความหอมนั้น ใช้แค่ในงานวิจัย เมื่อได้ผลการทดลองแล้วได้มีการทำลายข้าวที่ผ่านกระบวนการดังกล่าวแล้วทั้งหมด

ดร.สมวงษ์ บอกอีกว่า การยื่นจดสิทธิบัตรในกรรมวิธีดังกล่าว หากไทยไม่ทำ เราอาจต้องเสียโอกาส เนื่องจากต่างประเทศ ทั้งคู่ค้าและคู่แข่งของไทย ต่างได้ทำวิจัยและยื่นขอจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับเรื่องข้าวเป็นจำนวนมาก

ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลก ข้าวหอมมะลิ ถือเป็นความภาคภูมิใจและเป็นเอกลักษณ์ของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาตนกังวลเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะเคยตรวจสอบข้าวหอมพันธุ์หนึ่งของประเทศกัมพูชาที่มีคนนำมาให้ตรวจสอบแล้ว พบว่า เป็นข้าวหอมมะลิ 100% ทุกเมล็ดไม่มีสายพันธุ์อื่นเจือปนเลย ซึ่งแม้แต่ในประเทศไทย ยังหาแบบ 100% ได้ยาก ซึ่งองมาจากสภาพแวดล้อมและดินที่ปลูก ดังนั้นหากประเทศ อื่นอ้างสิทธิความเป็นเจ้าของข้าวหอมมะลิก่อน ไทย จะเป็นอย่างไร การยื่นจดสิทธิบัตรครั้งนี้ จึงถือเป็นการปกป้องสิทธิและความภาคภูมิใจและสร้างเครดิตให้กับประเทศ และช่วยให้การพัฒนาและต่อยอดงานวิจัยในด้านอื่น ๆ เป็นไปได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

ทั้งนี้ทีมวิจัยได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรในกรรมวิธีดังกล่าวแล้วใน 10 ประเทศ ปัจจุบันเพิ่งได้รับสิทธิบัตรดังกล่าวจากประเทศสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียว ส่วนประเทศอื่น ๆ รวมถึงประเทศไทย อยู่ระหว่างการพิจารณาตรวจสอบ โดยเป็นการยื่นขอจดสิทธิบัตรในเทคโนโลยีเช่นเดียวกัน ไม่ใช่การค้นพบยีนในพืช ซึ่งกฎหมายไทยระบุว่าจดสิทธิบัตรไม่ได้

และนี่คือการใช้เทคโนโลยี เพื่อปกป้องสิทธิของคนไทย เพื่อคงไว้ซึ่งความภาคภูมิใจก่อนที่ประเทศอื่นจะชิงตัดหน้าเอาสิทธินี้ไปเป็นของตนเอง

นักวิจัยยืนยันสิทธิบัตรนี้เพื่อสาธารณประโยชน์ คนไทยมีสิทธิใช้องค์ความรู้ดังกล่าว ฟรี แต่ต่างประเทศหมดสิทธิ และไม่กลัวว่าจะมีใครนำกรรมวิธีนี้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์ เพราะว่ามีกฎหมายเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพคุ้มครองอยู่แล้ว

...และอนาคตไม่แน่ ...หากถึงวันหนึ่งที่ทั่วโลกยอมรับและต้องพึ่งพากับเทคโนโลยีจีเอ็มโอ อย่างน้อยไทยก็มีฐานความรู้ด้านนี้อยู่ในมือ !!!.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook