ละลายพฤติกรรม

ละลายพฤติกรรม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ความล้มเหลวของสหภาพแรงงานรถยนต์ของเกาหลีใต้ ที่ผละงานประท้วงก่อเหตุรุนแรงเพื่อต่อต้านการปลดคนงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เป็นการทำลายอิทธิพลของสหภาพแรงงานที่มีภาพลักษณ์แข็งกร้าวของเกาหลีใต้ ซึ่งเคยสร้างความยากลำบากต่อบรรดานักลงทุนในประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ของ เอเชียมานานหลายปีสมาพันธ์สหภาพการค้าเกาหลี หรือเคซีทียู กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาที่สลับซับซ้อน อีกทั้ง มีการแข่งขันกันมากขึ้นของสหภาพแรงงานสำคัญ 2 แห่ง เพราะต่างก็แสวงหาบทบาทในการผละงานประท้วง 2 เดือนที่บริษัทซันยอง มอเตอร์ โค ที่ประสบปัญหาล้มละลาย และอยู่ภายใต้การพิทักษ์ทรัพย์จากภาวะล้มละลายมาตั้งแต่เดือน ก.พ.

การประท้วงเพื่อต่อต้านแผนการเลิกจ้างคนงานของบริษัทซันยอง เพิ่งยุติลงเมื่อต้นเดือนหลังจากตำรวจปราบจลาจลใช้กำลังบุกจู่โจมเข้าไปในโรงงานสลายการประท้วง จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายสิบคน

สหภาพแรงงานที่ได้ชื่อว่ามีอิทธิพลในอุตสาหกรรมเกาหลีใต้ หมดพิษสงไปเรียบร้อยหลังจากได้รับผลกระทบจากคดีอื้อฉาวทางเพศ ซึ่งเมื่อปีที่แล้วสมาชิกของเคซีทียู พยายามที่จะข่มขืนผู้หญิงคนหนึ่ง ขณะนี้ ต้องชดใช้กรรมอยู่ในคุกนอกจากนี้ยังมีสมาชิกแปรพักตร์จำนวนมากประกอบกับ ภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจ อีกทั้งรัฐบาลอนุรักษนิยมของเกาหลีใต้ควบคุมอย่างงวดในสิ่งที่รัฐบาลเห็นว่าการกระทำใด ๆ ของเคซีทียู เป็นวิธีการที่ทำให้นักลงทุนตื่นกลัว

ลิม จี-วอน นักเศรษฐศาสตร์ของ เจพีมอร์แกน กล่าวว่า ปัญหาของสหภาพแรงงานถือเป็นปัจจัยที่ลดความน่าเชื่อถือของเกาหลีใต้มายาวนาน เช่นเดียวกับภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ อำนาจและอิทธิพลของสหภาพกำลังอ่อนแอลงในขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว ส่วน เจ้าหน้าที่ของกลุ่มธุรกิจต่างประเทศคนหนึ่ง กล่าวว่า ปัญหาแรงงานเป็นความวิตกกังวลใหญ่หลวงในเกาหลีใต้ ไม่มีความยืดหยุ่นอย่างที่นักลงทุนต้องการ

จำนวนวันทำงานที่ขาดหายไปกับการผละงานประท้วง มีแนวโน้มลดลง แต่จากข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือไอแอลโอ มีการผละงานประท้วงในเกาหลีใต้มากกว่าในญี่ปุ่น ถึง 6 เท่า ทั้ง ๆ ที่ญี่ปุ่นมีประชากรมากกว่าเกาหลีใต้กว่า 2 เท่าและการประท้วงในเกาหลีใต้ส่วนมาก ก็เกี่ยวข้องกับเคซีทียู ซึ่งอ้างว่ามีสมาชิก 750,000 คน ส่วนกลุ่มสหภาพที่สำคัญอื่น ๆ ก็อ้างว่า มีสมาชิกเกือบ 1 ล้านคน

หลายคนมองว่า ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นของแรงงานเกาหลีใต้ ทำให้เกิดความวุ่นวายมากขึ้นในขณะที่เกาหลีใต้เองซึ่งเศรษฐกิจของประเทศต้องพึ่งพาภาคการส่งออกที่ต้องเจอการแข่งขันกับสินค้าราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีน ที่มีแรงงานถูกกว่า

ประธานาธิบดีลี มยอง-บัค ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นซีอีโอของกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ ไม่ได้ปิดบังความปรารถนาของเขาที่จะควบคุมในสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นการกระทำที่เกินเลยของสหภาพแรงงาน รัฐบาลของเขากำลังพยายามผลักดันกฎหมายให้ผ่านรัฐสภาปลายปีนี้ ซึ่งจะเพิ่มช่วงเวลาให้บริษัทสามารถจ้างแรงงานได้เป็น 4 ปี จากเดิม 2 ปี ซึ่งนั่นดูเหมือนว่าจะบั่นทอนอำนาจของสหภาพแรงงานและกฎหมายแรงงานซึ่งบรรดานายจ้างบ่นว่าทำให้บริษัทมีความยุ่งยากมากและต้องจ่ายเงินชดเชยแพงมากในการปลดพนักงานที่ทำงานเต็มเวลา

รัฐบาลอ้างว่า มีความจำเป็นที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อทำให้แรงงานมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และละลายพฤติกรรมของแรงงานที่แข็งกร้าว ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก

นับตั้งแต่นี้ต่อไป การประท้วงของสห ภาพแรงงานที่เอะอะก็ผละงานประท้วงอาจทำไม่ได้ดั่งใจอีกแล้ว เมื่อรัฐบาลพยายามหาทางปิดช่องโหว่ของกฎหมายเพื่อป้องกันผลกระทบจากพฤติกรรมที่ก้าวร้าวของแรงงาน.

เลนซ์ซูม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook