ส่องศก.ไทยผ่านมุมมอง ประธานสมาคมแบงก์ไทย ''อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ''

ส่องศก.ไทยผ่านมุมมอง ประธานสมาคมแบงก์ไทย ''อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ''

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
โครงการไทยเข้มแข็งต้องเร่งทำ ถ้าไม่เร่งทำจะยิ่งแย่

อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน ) และในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย ได้สะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจ นโยบายการคลังและการเงินของรัฐที่ผ่านมาในช่วง 7 เดือน ซึ่งได้ให้หลายมุมมองที่น่าสนใจ...

*ศก.ไทยยังต้องประคอง

ภาพใหญ่คือ เศรษฐกิจโลกนั้นยังไม่ค่อยดีขึ้น ปัญหาหนี้เอ็นพีแอลในสหรัฐอเมริกายังไม่นิ่งเริ่มลามสู่บัตรเครดิตค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันภาคธุรกิจก็เหนื่อยทั้งจากเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นทุกวัน ,หนี้ผิดนัดเกิดขึ้น ฉะนั้นอีกไกลกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะผ่านพ้น ในขณะที่ประเทศไทย ซึ่งต้องพึ่งพาการส่งออก หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการส่งออกต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 4-5 ปีกว่าที่ยอดการสั่งซื้อสินค้าจะสามารถกลับมาอยู่ในระดับตัวเลขเดิมที่เคยมี ส่วนใหญ่จะมองกันว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว เพราะเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับความมั่นใจ หากมั่นใจมากทุกอย่างจะค่อยๆดีขึ้น แต่ไม่รวดเร็วที่สำคัญยังต้องประคับประคอง

ในแง่ของธนาคารนั้น นโยบายที่ช่วยได้เฉพาะคือค่าเงินและอัตราดอกเบี้ย แต่ธุรกิจยังมีต้นทุนด้านอื่นอีกมาก ฉะนั้นธนาคารจะช่วยประคับประคองลูกค้าที่มีปัญหารายไหนที่มีปัญหาด้านดอกเบี้ยไม่มี ธนาคารก็ยืดตารางออกไปหรือให้พักไว้ก่อนมีเมื่อไรค่อยมาจ่าย ที่สำคัญ ลูกค้าไม่ว่ารายเล็กหรือรายใหญ่ธนาคารจะประคองให้สามารถรอดผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้ ถ้าเศรษฐกิจลงไปยาวอย่างน้อยช่วยต่อสายป่านให้ลูกค้าอยู่ได้ยาวขึ้น ซึ่งตรงนี้เราคิดว่ายังคุ้มค่าดีกว่าปล่อยลูกค้าเจ๊ง เพราะหากลูกค้าเจ๊งขึ้นมา ธนาคารไปยึดโรงแรมหรือธุรกิจ ธนาคารเองก็ทำอะไรไม่เป็น แต่เมื่อเศรษฐกิจกลับมาดีลูกค้าดีๆเขาจะคิดถึงเรา

ที่ผ่านมาบริษัทหรือธุรกิจรายใหญ่ที่เคยเกือบล้มมาแล้ว หรือล้มแล้วลุกขึ้นใหม่ ธุรกิจเหล่านี้จะมีความระมัดระวัง ทำให้วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้รายใหญ่ไม่เจ็บนัก เพราะมีประสบการณ์มาก่อน ไม่เหมือนวิกฤติปี 2540 ที่บางรายมีหนี้สินต่อทุนเฉลี่ยสูงถึง 3เท่า ตอนนี้หนี้สินต่อทุนเหลือเพียงหนึ่งเท่า แต่ยอดขายเที่ยวนี้อาจตกไปบ้างแต่ยังอยู่ได้ อย่างไรก็ดีรายใหญ่บางรายยังไปกินส่วนแบ่งทางการตลาดของรายย่อย ทำให้รายย่อยได้รับความเสียหายบ้างเหมือนกัน

เรื่องที่ดีคือ ปัจจุบันสัญญาณการเลิกจ้างหรือการไล่คนออกจากงานน้อยกว่าที่คาดการณ์จากเมื่อตอนต้นปีที่เป็นห่วงกัน แต่ตอนนี้เริ่มซา เห็นได้จากหลายโรงงานเริ่มจ้างคนกลับเข้ามาทำงาน เหตุผลส่วนหนึ่งเพราะมีคำสั่งซื้อเข้า คือ ตอนไตรมาสแรกต่อเนื่องจากปลายปีก่อนอาการผู้ส่งออกไม่ดีเลย ธนาคารเองไปคุยกับลูกค้าบางแห่งคำสั่งซื้อเป็นศูนย์ ช่วงนี้มีคำสั่งซื้อกลับเข้ามาก็หวังอย่างเดียวว่าจะกลับมาแบบยั่งยืนไม่ใช่ re-stockเช่น 2 ไตรมาสที่แล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นธนาคารจะดูแนวโน้มอีกไตรมาส หากคำสั่งซื้อยังคงอยู่ส่วนใหญ่ก็จะเดินต่อ แต่หากคำสั่งซื้อกลับไปเป็นศูนย์อันนี้คงหนัก ต้องหันไปอาศัยการลงทุน ( Investment ) การใช้จ่ายภายในประเทศ ( Consumption ) เป็นตัวขับเคลื่อน คือ ภายในประเทศต้องช่วยกัน หากไม่ขับเคลื่อนปัญหาสังคมจะยิ่งเกิดขึ้น ปัญหาเลิกจ้างจะมากตาม แม้ว่าการขับเคลื่อนภายในจะได้ไม่มากหากเปรียบเทียบกับการส่งออกที่มีสัดส่วนมากถึง 70%ของจีดีพี แต่ก็ดีกว่าไม่ทำ

*แนะรัฐชั่งน้ำหนักลดภาษี

โดยเฉพาะการฟื้นเศรษฐกิจช่วงนี้ต้องอาศัยภาครัฐเติมเงินให้ประชาชนโดยการใช้จ่าย ถ้ามีนโยบายอะไรก็ตาม ที่ทำให้บริษัทในเมืองไทยไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กสามารถอยู่รอดผ่านวิกฤติ เพราะไม่เช่นนั้น หากปล่อยให้ภาคธุรกิจเจ๊งหรือมีปัญหาไป โดยไม่ช่วยการจะกลับมาดีก็ไม่มีProduction Base ประเทศไทยก็โตไม่ทันส่วนกรณีที่จะไปสร้างใหม่กว่าจะสร้างเสร็จก็อาจเจอวิกฤติอีกรอบ เพราะวัฏจักรรอบหนึ่ง 10 ปีกว่า ดังนั้นสำคัญจึงต้องประคับประคอง

ยกตัวอย่าง รัฐบาลจีน ที่ยอมสละภาษี โดยไม่เก็บภาษีพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อจูงใจให้ประชาชนภายในประเทศหันมาซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรากฏว่าสามารถทดแทนคำสั่งซื้อจากการส่งออกที่หดหายไปได้ ทำให้โรงงานไม่เจ๊ง และคนงานไม่ถูกไล่ออกหรือเลิกจ้าง เพียงเปลี่ยนมาเป็นการลงทุนและใช้จ่ายภายในประเทศแทน โดยที่รัฐบาลยอมสละภาษีนิดเดียว แทนที่จะรอให้เจ๊งแล้วเอาเงินไปเติม หรือแทนที่จะไปฝึกอาชีพสู้รักษาบริษัทเหล่านั้นเอาไว้เพียงสละบางอย่างเพื่อให้เขาอยู่รอด ถ้าประคองตัวและเตรียมตัวให้ไปถึงการฟื้นได้เมื่อถึงเวลาน่าจะ take off ได้

สำหรับประเทศไทยในแง่ของมาตรการทางภาษีนั้น ต้องชั่งน้ำหนัก ทุกอย่างมีข้อเสียและข้อดี แต่ในข้อเสียนั้นต้องชั่งน้ำหนักว่าส่วนที่เสียไป เสียไปมากกว่าหรือน้อยกว่าเมื่อเทียบกับสิ่งที่จะได้มา ถ้าดีกว่าก็ต้องยอมเสียสละ เช่นการลงทุนหรือค่าเงินก็เหมือนกัน ถ้าเงินบาทอ่อนผู้ส่งออกดีแต่ในแง่ของคนใช้น้ำมันจะปวดหัว ตรงนี้เป็นเรื่องที่ต้องรักษาสมดุลว่าจุดไหนดีที่สุดของประเทศ เมื่อรักษาสมดุลได้พอดีที่สุดแล้วก็ต้องสื่อสารให้ประชาชนรู้ ที่สำคัญ ทำดีที่สุดแล้วต้องอธิบายชาวบ้านได้

*ดึงลงทุนในประเทศกดบาทอ่อน

สำหรับความเห็นต่อมาตรการผ่อนคลายหลักเกณฑ์เงินลงทุนในต่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)นั้น บริษัทไทยที่จะเป็นผู้ซื้อหรือลงทุนในบริษัทต่างประเทศนั้นมีไม่กี่รายที่ทำได้ และจริงๆแล้วมาตรการเดิมการออกไปซื้อกิจการก็ทำได้อยู่แล้ว เพียงแต่เที่ยวนี้จะออกไปต้องแจ้งมาตรการผ่อนคลายฯ จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่บริษัทพวกนี้เห็นจังหวะ ในส่วนของธนาคารกรุงไทยก็กำลังคุยอยู่กับลูกค้าแต่บอกไม่ได้ว่าเป็นประเภทธุรกิจหรือมูลค่าเท่าไร ส่วนการนำเงินไปลงทุนในตราสารช่วงนี้ตลาดไม่เอื้อ เนื่องจากราคาต่ำเกินไปการลงทุนอาจไม่คุ้ม

ในแง่ผลต่อค่าเงินบาทนั้น ต้องมีปริมาณเงินบาทไหลออกไปมากจึงจะบรรเทาค่าเงินบาทให้อ่อนได้ ซึ่งผลจากมาตรการนี้ต้องใช้เวลาระยะยาว

ส่วนตัวเองกลับอยากให้คนมาลงทุนภายในประเทศ เพราะประเทศไทยต้องใช้เงินตราต่างประเทศจำนวนมาก

*แผนไทยเข้มแข็งดีแต่ต้องรีบเดินให้เร็ว

สิ่งที่อยากเห็นคือ โครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งแผนดี แต่ต้องเร่งและเดินให้เร็ว เพราะโครงการดังกล่าวเป็นความหวัง หากลงทุนทำโครงการระบบสาธารณูปโภคหรือโครงสร้างพื้นฐาน(Infrastructure) จะทำให้เศรษฐกิจเกิดการหมุน ไหลไปในธุรกิจ/กิจกรรมที่ต่อเนื่อง สำคัญต้องเร่งโครงการโครงสร้างพื้นฐานทั้งหลายที่ต้องใช้เงินตราต่างประเทศจัดการให้เสร็จ สิ่งที่ต้องใช้ในอนาคตก็ให้เร่งขึ้นมาใช้ตอนนี้ บางอย่างที่จะซื้อปีหน้าก็เร่งมาซื้อปีนี้ โดยเริ่มประมูล ( Bid) ตอนนี้ขอจ่ายเงินก่อนหรือจะขอส่วนลด (Discount) กว่าจะได้ใช้ถึงตอนนั้นเงินบาทก็อ่อนแล้วทุกอย่างก็จะดีขึ้น ฉะนั้นโครงการไทยเข้มแข็งต้องเร่งทำ ถ้าไม่เร่งทำจะยิ่งแย่

ทุกครั้งที่เศรษฐกิจลงจะลงเพราะภาคอสังหาริมทรัพย์ และก่อสร้าง หากเศรษฐกิจจะฟื้นก็ด้วยกลุ่มนี้ เพราะการฟื้นเศรษฐกิจช่วงนี้ต้องอาศัยภาครัฐเติมเงิน หากเร่งทำโครงการไทยเข้มแข็งทำโครงสร้างพื้นฐานเมื่อมีการก่อสร้างมีการใช้วัสดุและแรงงาน คนเริ่มมีงานทำธุรกิจก็จะมีกิจกรรมทำให้เศรษฐกิจค่อยๆกลับมาฟื้น และเมื่อประชาชนและธุรกิจมีระบบโครงสร้างพื้นฐานใช้ก็จะช่วยลดต้นทุนขนส่งของธุรกิจอีกด้วย

*พ.ร.บ.กู้เงินไฟต์บังคับ

เรื่องพ.ร.บ.กู้เงิน 4แสนล้านบาทนั้น ไม่ว่ารัฐบาลไหนมาก็ต้องทำ เพราะตอนนี้

มีความจำเป็นมีเหตุผลที่ต้องทำเพราะเป็น ไฟลต์ (เที่ยวบิน )บังคับที่ต้องใช้เงินภาครัฐจะให้ทำอย่างอื่นได้อย่างไร หากพ.ร.บ.เงินกู้ดังกล่าวไม่ผ่านความเห็นชอบ หน้าที่กระทรวงการคลังก็ต้องหาแหล่งเงินอื่นมาจนได้ อาจเอาไปใส่ในงบประมาณ ถ้ายุ่งมากอาจจำต้องออกพ.ร.ก.อีกฉบับ เพราะรัฐไม่มีเงินจะห้ามอย่างไร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับว่ารัฐจะเลือกวิธีการใช้เงินที่มีประสิทธิภาพสูงสุดขนาดไหน ถ้ามีประสิทธิภาพสูงสุดก็จะทำให้เศรษฐกิจเติบโต โดยมีภาระหนี้ไม่มาก

*ชู 5 วิสัยทัศน์เชื่อมโยงธุรกิจ-สังคม

ในแง่ของธนาคารกรุงไทยนั้น ปัจจุบันภาพของธนาคารแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากสมัย 10 ปีก่อน โดยยึดวิสัยทัศน์ในการดำเนินงานและธุรกิจคือ ต้องเป็นธนาคารชั้นนำ ,บริการดี, มีกำไรอย่างยั่งยืนและเรื่องซีเอสอาร์ที่นอกจากจะมีคณะกรรมการระดับกรรมการของธนาคารเพื่อพิจารณาโครงการต่างๆที่มุ่งเน้นใน 4 มิติแล้วในแต่ละมิติจะมีผู้บริหารของธนาคารเป็นประธานคณะทำงาน ประกอบด้วย มิติการศึกษา มิติด้านกีฬา มิติด้านสิ่งแวดล้อม มิติด้านศิลปะกับวัฒนธรรม และมิติด้านสังคม การดำเนินโครงการแต่ละมิติจะเชื่อมโยงนั้นจะเรียงร้อยไปด้วยกัน โดยมีกรรมการของธนาคารช่วยผลักดันทำให้พนักงานค่อยๆซึมซับและทำกันมาอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะโครงการกรุงไทยอาสานั้น พนักงานทุกคนมีจิตอาสาร่วมใจร่วมมือกันอย่างดี แม้จะเก็บค่าสมาชิกในการร่วมโครงการพนักงานเขาก็ออกตังค์กันเอง สิ่งที่เราเห็นกลายเป็นทุกอย่างอยู่ในจิตใจของพนักงาน ซึ่งเราดีใจ ผมเชื่อว่าถ้าทุกคนทำดีองค์กรก็จะดีเมื่อพนักงานทุกคนดีหมดองค์กรก็จะดีเองนายอภิศักดิ์กล่าวในที่สุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook