แบงก์รัฐทำใจหนี้เอ็นพีแอลพุ่ง แผนกระตุกสินเชื่อฟื้นฟูศก.8แสนล.ช่วง 5 เดือนที่เหลือ

แบงก์รัฐทำใจหนี้เอ็นพีแอลพุ่ง แผนกระตุกสินเชื่อฟื้นฟูศก.8แสนล.ช่วง 5 เดือนที่เหลือ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คลังสั่งแบงก์รัฐเร่งอัดฉีดสินเชื่อสู่ระบบเน้น รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ พร้อมจับตาตามติดผลทุกสัปดาห์ เตรียมเปิดโครงการสินเชื่อ fast tack 24 ส.ค.นี้ อภิชัยยอมรับเอ็กซิมเร่งปล่อยกู้ 27,500 ล.ช่วง 5 เดือนที่เหลืออาจเสี่ยงต่อหนี้เอ็นพีแอลเพิ่ม ขณะที่ผู้บริหารแบงก์อิสลาม เผยรับจ้างบริหารสินเชื่อพีเอสเอผลตอบแทน 3-5% เชื่อรับมือคุมความเสียหายอยู่ไม่เกิน 20% ธ.ก.ส.แจงปล่อยเพิ่ม 147,000 ล.มุ่งสนองนโยบายการประกันพืชผลเกษตร เป็นหลัก

นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนสถาบันการเงินเฉพาะกิจในการอำนวยสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ปี 2552 โดยมีภาคเอกชน ,สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ,สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมไปถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทุกแห่งเข้าร่วมประชุม ว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะมีการเปิดโครงการอย่างเป็นทางการ โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกแห่งได้ให้คำยืนยันถึงเป้าสินเชื่อที่แต่ละแห่งได้ถูกปรับเพิ่มขึ้นในปีนี้ว่า เป็นเป้าสินเชื่อที่รับได้ ทั้งนี้ วัตถุประสงค์สำคัญของโครงการนี้ก็คือ การเร่งรัดเม็ดเงินให้ออกสู่ระบบมากที่สุด ด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ในที่ประชุม สถาบันการเงินของรัฐแต่ละแห่งก็ได้ชี้แจงถึงการปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อเร่งรัดการปล่อยสินเชื่อให้มากที่สุด รวมทั้งมีการหารือร่วมกันว่า เพื่อให้มีการติดตามการทำงานของสถาบันการเงินของรัฐทุกแห่ง ก็จะมีการประชุมในลักษณะเช่นนี้ทุกๆ สัปดาห์ อีกทั้งสถาบันการเงินของรัฐแต่ละแห่งจะต้องจัดทำรายงานเพื่อแสดงถึงการปล่อยสินเชื่อว่าสามารถดำเนินการได้เท่าไรแล้ว และมีการเบิกจ่ายจริงได้เท่าไรบ้าง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในการเร่งปล่อยสินเชื่อสู่ระบบนั้น จะต้องดำเนินการให้กระจายไปยังกลุ่มธุรกิจที่รัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจส่งออก และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)

กระทรวงการคลังยังได้กำชับให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทุกแห่งเร่งจัดทำรายละเอียดในส่วนของโครงการสินเชื่อ fast tack ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนสินเชื่อว่าในแต่ละแห่งจะมีโครงการสินเชื่ออย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย หรือระยะเวลาในการพิจารณาและอนุมัติสินเชื่อ เป็นต้น โดยจะมีการเปิดโครงการ fast tack อย่างเป็นทางการในวันที่ 24 สิงหาคมนี้

ต้องการให้เร่งดำเนินการปล่อยสินเชื่อให้มีความรวดเร็ว เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันผู้กู้มีความต้องการสินเชื่อเป็นอย่างมาก คลังจึงได้สั่งให้สถาบันการเงินของรัฐทุกแห่ง จัดทำรายละเอียดสินเชื่อ fast tack ว่าจะมีโครงการใดบ้าง และจะสามารถอนุมัติสินเชื่อได้เร็วที่สุดเท่าไร เป็นต้น โดยรายละเอียดทั้งหมดจะประกาศในวันเปิดโครงการ วันที่ 24 สิงหาคมนี้ นายประดิษฐ์ กล่าว

ก่อนหน้านี้ นายประดิษฐ์ แสดงความเป็นห่วง โดยเฉพาะยอดการปล่อยสินเชื่อของ 2 ธนาคารเฉพาะกิจที่ยังไม่คืบหน้ามากนัก คือ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ซึ่งมีสินเชื่อยังไม่ได้อนุมัติกว่า 20,000 ล้านบาท เช่นเดียวกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ ที่ยังเหลือกว่า 40,000 ล้านบาท

ในขณะที่ธนาคารเฉพาะกิจอื่น อาทิธนาคารออมสิน คาดว่าจะเบิกจ่ายได้กว่า 80% จากเป้าหมาย 242,600 ล้านบาท ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) คาดว่าเบิกจ่ายได้ 100% จากเป้าหมาย 100,000 ล้านบาท ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คาดว่าเบิกจ่ายได้ 80-90% จากเป้าหมาย 447,000 ล้านบาท เป็นต้น

หากสามารถล้างท่อโครงการปล่อยสินเชื่อที่มีอยู่แล้วก็น่าจะปล่อยสินเชื่อได้ตามเป้า สิ่งที่เน้นคือ การเบิกจ่ายเม็ดเงินจริงหลังจากการอนุมัติสินเชื่อแล้ว ซึ่งจะต้องมีเม็ดเงินออกให้ได้ภายในสิ้นเดือนธันวาคมปีนี้ นายประดิษฐ์กล่าว

ด้านนายอภิชัย บุญธีรวร กรรมการผู้จัดการ ธสน.หรือเอ็กซิมแบงก์ เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ช่วงเวลาที่เหลือ 5 เดือนของปีนี้ ธสน.มีเป้าที่จะต้องปล่อยสินเชื่ออีกจำนวน 27,500 ล้านบาท จากทั้งปีรวม 37,500 ล้านบาทโดยรวมทั้งนโยบายขยายสินเชื่อจากกระทรวงการคลังเพิ่มอีก 17,500ล้านบาทจากเดิมเป้ากำหนดไว้ที่ 19,700 ล้านบาทแล้ว

นายอภิชัย ยังยอมรับว่าเป้าสินเชื่อจำนวนมากในเวลาสั้นเพียง 5 เดือนและแนวทางการพิจารณาสินเชื่อภายใต้เงื่อนไขที่ผ่อนปรนหรือดำเนินงานที่เร็วขึ้นย่อมมีโอกาสพลาดและอาจเกิดเป็นหนี้เอ็นพีแอล เทียบกับ 7 เดือนที่ผ่านมาธสน.อนุมัติสินเชื่อจำนวน 10,000 ล้านบาทอย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติธสน.มีระบบการพิจารณาสินเชื่อค่อนข้างอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ยกตัวอย่างปัจจุบันมียอดสินเชื่อคงค้างจำนวน 46,000 ล้านบาท โดยมีหนี้เอ็นพีแอล 5,000ล้านบาทซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่น่าเป็นห่วง ส่วนแนวโน้มที่หนี้เอ็นพีแอลจะเพิ่มขึ้นนั้นก็มีความเป็นไปได้เพราะธนาคารขยายการปล่อยสินเชื่อเพิ่ม แต่ขณะเดียวกันก็ต้องทำอย่างดีที่สุด

สำหรับแนวทางการปล่อยสินเชื่อนั้น แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ วงเงินหมุนเวียนระยะสั้น จำนวนประมาณ 15,000 ล้านบาทซึ่งได้ปรับขั้นตอนอนุมัติสินเชื่อเร็วขึ้น โดยธสน.ภายใน 7 วันหลังจากลูกค้ายื่นเอกสารประกอบการขอสินเชื่อครบถ้วน ธสน.จะให้คำตอบกับลูกค้าว่าจะรับพิจารณาหรือไม่รับพิจารณา และอีก 15วันทำการจึงให้คำตอบกับลูกค้าว่าจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติคำขอสินเชื่อดังกล่าว

ขณะเดียวกันคณะกรรมการของธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อเพื่อปล่อยกู้กับผู้ซื้อต่างประเทศ วงเงินรวม 3,200 ล้านบาท ประกอบด้วยธนาคารรัสเซีย 3 แห่ง และอินโดนีเซียอีก 1แห่ง เงื่อนไขในการกู้นั้นกำหนดปล่อยวงเงินเฉพาะผู้ที่ต้องการซื้อสินค้าจากผู้ส่งออกของไทยเท่านั้น โดยธนาคารดังกล่าวเขาจะนำเงินที่ธสน.อนุมัติไปปล่อยกู้กับผู้ซื้ออีกที ทั้งนี้คาดว่าจะเป็นรูปธรรมใน 5 เดือนหลังได้

นอกจากนี้แบ่งเป็นปล่อยสินเชื่อโครงการระยะยาว( Project Loan /Term Loan) ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณาเพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการและขึ้นอยู่กับประเภทโครงการด้วย อย่างไรก็ตาม ธสน.ต้องพยายามอย่างดีที่สุดในการขยายสินเชื่อตามเป้าดังในช่วงเวลาที่เหลือเพียง 5 เดือน

ด้านนายธีรศักดิ์ สุวรรณยศ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไอแบงก์กล่าวกับฐานเศรษฐกิจว่า ในส่วนของไอแบงก์นั้น รับเป้าสินเชื่อเพิ่มเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมาจำนวน 13,000 ล้านบาท โดยไม่รวมในส่วนที่เป็นการแยกบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ(PSA)ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจวงเงิน 12,800 ล้านบาทซึ่งทางไอแบงก์รับจ้างบริหาร โดยได้รับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานจากโครงการต่างๆ ตั้งแต่ 3-5%ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานแต่ละโครงการ และประมาณการเบื้องต้นความเสียหายไม่น่าจะเกิน 20%

นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส. ) กล่าวว่าเป้าหมายการอนุมัติสินเชื่อใหม่ 470,000 ล้านบาท ในส่วนนี้เป็นเป้าสินเชื่อตามธุรกรรมนโยบายของรัฐที่มีนโยบายให้เพิ่มเป้าถึง 147,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ 1. สินเชื่อในส่วนประกันราคาพืชผล โดยธ.ก.ส.จะเข้าไปซัพพอร์ตราคาส่วนต่าง ระหว่างราคาประกัน กับราคาตามตลาดอ้างอิง รวมทั้งปล่อยกู้ให้กับเกษตรกร โรงสี สหกรณ์ ฯลฯ และลูกค้าที่ดีของธ.ก.ส. ที่นำพืชผลเกษตรมาประกันราคา 2. วงเงินสินเชื่อเพื่อใช้ในการแปรรูปหัวมัน/ มันเส้น และการปล่อยกู้ให้กับวิสาหกิจชุมชน เป็นต้น และ 3. สินเชื่อเพื่อสร้างความสมบูรณ์หลังรัฐเปลี่ยนจากการจำนำข้าวมาเป็นการรับประกัน ทำให้เกษตรกร ต้องลงทุนด้านลานตากแห้ง ลานมัน ยุ้งฉาง ฯลฯ

ขณะนี้ยังไม่มีการหารือเรื่องแยกบัญชีในส่วนธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account : PSA) ว่ารัฐบาลจะชดเชยหากเกิดความเสียหายให้กับ ธ.ก.ส.มากน้อยเพียงไร คงต้องเจรจาตกลงกันเช่นกรณีการขอสินเชื่อของกลุ่มโรงสี รัฐก็อยากให้เราปล่อยกู้เต็ม 100% แต่ใน ธ.ก.ส. ก็อาจให้เพียง 50% เพราะเราต้องดูว่าจะใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์การปล่อยกู้ทั้ง 3 ข้อดังที่กล่าวหรือไม่ หรือให้สินเชื่อไปแล้วกลับไปชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้รายอื่นแทน ธ.ก.ส.ก็ไม่เอา

อนึ่งกระทรวงการคลัง ได้ตั้งเป้าการอนุมัติสินเชื่อใหม่ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยปรับเพิ่มเป้าหมายการอนุมัติการปล่อยสินเชื่อปี 2552 จากเป้าหมายเดิมที่กำหนดไว้ที่ 625,500 ล้านบาท เพิ่มอีก 301,500 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น 927,000 ล้านบาท โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา แม้จะมีการอนุมัติสินเชื่อปล่อยไปแล้วร่วม 300,000 ล้านบาท แต่เป็นสินเชื่อที่อนุมัติเบิกจริงเพียง 100,000 กว่าล้านบาท

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook