''เนวิน''ลุ้นตัวโก่ง คดีทุจริตกล้ายาง

''เนวิน''ลุ้นตัวโก่ง คดีทุจริตกล้ายาง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
อุณหภูมิการเมือง วันที่ 17 สิงหาคม 2552 เวลา 14.00 น. จะทวีความร้อนแรงเป็นพิเศษ เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดวินิจฉัยคดีเพาะพันธุ์กล้ายางพาราจำนวน 90 ล้านต้น มูลค่า 1,440 ล้านบาท

เนื่องจากคดีดังกล่าวมีนายเนวิน ชิดชอบ ผู้มีบทบาทสูงในพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เป็นหนึ่งในจำนวนจำเลยนับสิบคน โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)เป็นโจทย์ ยื่นฟ้อง นายเนวิน ขณะเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีพฤติกรรมเข้าลักษณะเป็นการทุจริตทางนโยบาย เนื่องจากมีการออกกฎหมายและแก้ไขกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มเอกชน

คาดว่าในวันวินิจฉัยคดีกล้ายางครั้งนี้ บรรยากาศที่ด้านหน้าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะเต็มไปด้วยประชาชน ที่อ้างว่ามาให้กำลังใจ นายเนวิน ในขณะที่บริเวณใกล้กับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะมีการรวมตัวของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก็จะระดมพลรวมตัวที่สนามหลวงเพื่อเดินทางไปยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่สำนักพระราชวัง ในบ่ายวันเดียวกัน

+ คดีมีผลต่อภาพลักษณ์รัฐบาล

สิ่งที่หลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงคือ ประเด็นแรก การควบคุมอารมณ์ของมวลชนที่มาให้กำลังใจนายเนวิน และกลุ่มคนเสื้อแดง ภายหลังผลการวินิจฉัยคดีออกมาแล้ว อาจจะมีการยั่วยุของผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่าย และนำมาสู่การปะทะหรือสร้างความวุ่นวาย และขยายผลเป็นวงกว้างได้ เนื่องจากมวลชนทั้งสองฝ่าย มีแนวคิดทางการเมืองที่แตกต่างกันเป็นพื้นฐานเดิมอยู่แล้ว

ประเด็นที่สอง ผลที่จะเกิดขึ้นภายหลังการวินิจฉัยของศาลฎีกาฯ หากนายเนวิน ชนะคดีกล้ายางจะทำให้น้ำหนักความน่าเชื่อถือของนายเนวินมากขึ้น และมีผลดีต่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ ในแง่การวิพากษ์วิจารณ์ภาพลักษณ์ของนายเน

วินน้อยลง

ในทางตรงข้าม หากศาลพิพากษาว่า นายเนวิน มีความผิดตามคำฟ้องของ ป.ป.ช. นายเนวินย่อมหนีไม่พ้นต้องถูกจำคุก และจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญเกี่ยวข้องกับเสถียรภาพของรัฐบาลได้ เนื่องจากนายเนิวน มีบทบาทสูงในพรรคภูมิใจไทย ทั้งยังเป็นกลไกสำคัญในการเดินเกมการต่อสู้ทางการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์มาโดยตลอด ย่อมส่งผลต่อความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ของรัฐบาลอย่างปฏิเสธไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคณะผู้พิพากษาศาลฎีกาฯทั้ง 9 คน จะมีคำวินิจฉัยออกมาอย่างไร ทุก

ฝ่ายต้องให้ความเคารพต่อดุลพินิจนั้น

+ ปูมหลังคดีกล้ายาง

จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ เกิดขึ้นหลังจากการเดินทางไปตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของ

สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในช่วงต้นปี 2546 และเล็งเห็นถึงความสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการยกระดับการปลูกยางพาราในประเทศไทย จากนั้นเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2546 นายเนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ทำเรื่องเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ยกเลิกมติ ครม.เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2542 ที่จำกัดการขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราของประเทศไม่เกิน 12 ล้านไร่ ที่มุ่งเน้นให้ปลูกทดแทนเฉพาะในพื้นที่เดิม ส่วนภาคเหนือไม่อนุญาตให้มีการเพาะปลูก มาเป็นการอนุมัติให้สามารถขยายพื้นที่เพาะปลูกยางได้ในทุกภาคของประเทศ ในพื้นที่ที่กรมวิชาการเกษตรกำหนดเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกยางได้

พร้อมอนุมัติให้กรมวิชาการเกษตร ดำเนินงานโครงการนี้โดยใช้ชื่อเต็มว่า โครงการปลูกยางพารา เพื่อยกระดับรายได้และความมั่นคง ให้แก่เกษตรกรในแหล่งปลูกใหม่ ระยะที่ 1 (ปี 2547-2549) พร้อมขอใช้เงินกองทุนโครงการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ปลอดดอกเบี้ยวงเงิน 1,440 ล้านบาท เพื่อขยายพื้นที่ปลูกยางใน 36 จังหวัด รวมเนื้อที่ 1 ล้านไร่ แยกเป็นปลูกใน 17 จังหวัดภาคเหนือ 3 แสนไร่ และ 19 จังหวัดในภาคอีสาน 7 แสนไร่

ต่อมามีผู้เสนอราคา 3 ราย คือ 1.บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ฯ 2.บริษัท เอกเจริญการเกษตรฯ และ 3.บริษัท รีสอร์ทแลนด์ฯ ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้น ขณะนั้นบริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ฯ ถูกจับตามองว่าเป็นตัวเก็งที่จะชนะการประมูลงานครั้งนี้ เนื่องจากเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด 1,435 ล้านบาท บริษัท เอกเจริญฯ เสนอราคา 1,476 ล้านบาท ส่วนบริษัท รีสอร์ทแลนด์ฯ เสนอราคา 1,515 ล้านบาท

ในช่วงเวลานั้น โครงการนี้ เริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจมีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้น ทั้งในเรื่องคุณสมบัติของบริษัทที่เข้าร่วมการประมูลงานที่ไม่เคยมีประสบการณ์การเพาะชำกล้ายางมาก่อน รวมถึงการตั้งวงเงินค้ำประกันการดำเนินงานไว้สูงจนทำให้กลุ่มเกษตรกรไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ นอกจากนั้นยังมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการถือหุ้นไขว้กันของกรรมการบริษัทที่เข้ามาทำการประมูล

แต่มีการการันตีจากนายเนวินว่า โครงการนี้โปร่งใส ดำเนินงานตามระเบียบทุกประการ และได้มีการตรวจสอบการถือหุ้นและคุณสมบัติของทุกบริษัทที่เข้ามายื่นซองประกวดราคา พบว่าไม่มีบริษัทใดทำไม่ถูกต้องหรือมีลักษณะการไขว้หุ้นกัน

ต่อมาเมื่อคดีเข้าสู่การพิจารณาของ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) มอบหมายให้นายบรรเจิด สิงคะเนติ กรรมการ คตส.เป็นผู้รับผิดชอบ และ คตส.มีมติชี้มูลความผิดแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง ใน 3 ระดับ คือ 1.ระดับนโยบาย 2.ระดับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และ 3.ระดับเอกชน

+++คำตอบ-ทำไมต้านถวายฎีกา

จนกระทั่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประทับรับฟ้องคดีกล้ายาง โดยมีนายเนวิน ร่วมเป็นจำเลย โดยได้มีการไต่สวนจำเลยและพยานทั้งฝ่ายโจทย์และจำเลยสิ้นสุดลงแล้ว

ศาลจึงได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 17 สิงหาคม 2552 โดยผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองมองว่าคดีนี้จะมีส่วนสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของอดีตนายกรัฐมนตรีพ.ต.ท.ทักษิณ ที่อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างหลบหนีคำพิพากษาจำคุกในคดีทุจริตซื้อที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษก

เพราะ เนวิน ประกาศอย่างไม่สะทกสะท้านก่อนหน้านี้ว่า จะไม่หนีไปไหนและพร้อมที่จะติดคุกตามคำพิพากษาของศาล เป็นการตอกย้ำที่เคยออกมาเดินนำหน้าล่าชื่อคัดค้านการถวายฎีกาเพื่อช่วยเหลืออดีตนายกรัฐมนตรี

เนวินลูกปู่ชัย พร้อมสมาชิกพรรคภูมิใจไทยและคนเสื้อน้ำเงินจึงต้องลุ้นแบบสุดๆ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook