ชำแหละ6 เดือน วัดผลงาน''อภิสิทธิ์'' ผ่าทางตันท่องเที่ยว

ชำแหละ6 เดือน วัดผลงาน''อภิสิทธิ์'' ผ่าทางตันท่องเที่ยว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สัญญาณการชะลอตัวด้านการท่องเที่ยวของไทยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ สะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนผ่านสถิติของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ(คิดเป็นสัดส่วนกว่า 80% ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทย) ซึ่งสถิติในช่วงม.ค.-มิ.ย. มีจำนวน 4.4 ล้านคน ติดลบ 21.14% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา การแก้ปัญหาท่องเที่ยวของรัฐบาลยังคงไปไม่ถึงฝั่งฝัน!

++แกะรอยมาตรการรัฐ

แม้ว่าที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ารัฐบาลมีความพยายามอย่างมากสำหรับการแก้ไขปัญหาการท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง กลุ่มเสื้อเหลืองและเสื้อแดง สำทับด้วยการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ด้วยการออกนโยบายที่แยกได้ออกเป็น 2 เรื่องหลัก คือมาตรการในเรื่องของการกระตุ้นการท่องเที่ยวและมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยว ซึ่งก็มีโครงการต่างๆออกมาในหลายเรื่อง (ตารางประกอบ)

แต่ใช่ว่ามาตรการเหล่านี้ในทางปฏิบัติจะผ่านฉลุย บางมาตรการขับเคลื่อนได้เร็ว บางมาตรการก็แป้กจนถึงทุกวันนี้ยังไม่ไปถึงไหน ซึ่งก็มีก็ให้เห็นในหลายเรื่อง

หากจะว่ากันเป็นรายมาตรการ ต้องยอมรับว่ามาตรการที่ดูเหมือนจะจับต้องได้ก็คงเป็นเรื่องของการกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ในระดับหนึ่ง คงเป็นเรื่องของการยกเว้นค่าธรรมเนียมต่างๆ เพื่อจูงใจให้เกิดการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น การลดค่าธรรมเนียมการเข้าชมอุทยานแห่งชาติ การใช้มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้ 100% สำหรับการจัดประชุมสัมมนาในประเทศ การลดหย่อนค่าธรรมเนียมแลนดิ้ง/พาร์กกิ้ง

รวมไปถึงการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่านักท่องเที่ยว ที่แม้ครม.มีมติล่วงหน้ามานานนม จนพีอาร์กันไปทั่วโลกโดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวจีน แต่พอเขาจะมาเที่ยวไทย กลับต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าวีซ่า ร้อนจนนายกฯอภิสิทธิ์ เมื่อคราเยือนจีน ต้องไปขอโทษขอโพยทางการจีนกันยกใหญ่ จนกระทั่งกระทรวงมหาดไทยเพิ่งจะขานรับไม่นาน ด้วยการออกมติยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวเมื่อกลางเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา มาช้าก็ยังดีกว่าไม่มา ทั้งยังมีโครงการประกันภัยจลาจลให้แก่นักท่องเที่ยว แม้จะได้ผลในทางจิตวิทยา ก็ยังดี

++ชี้การช่วยเหลือเอกชนยังอืด

สวนทางกับมาตรการในแง่ของการช่วยเหลือภาคธุรกิจท่องเที่ยว ที่ผ่านมากว่า 6 เดือนความคืบหน้าของโครงการต่างๆก็ยังไปไม่ถึงไหน ภาคธุรกิจก็ต้องเฝ้ารอความหวังกันต่อไป ไม่รู้ว่าจะทนไปได้อีกสักแค่ไหน เพราะในขณะนี้ก็รู้ๆ อยู่ว่าภาคธุรกิจ กำลังเผชิญกับปัญหาการขาดสภาพคล่อง ซึ่งแม้รัฐบาลก็รับรู้ และพยายามหาทางออกเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นในหลายเรื่อง แต่รูปธรรมของการแก้ปัญหาก็ยังไม่เห็นแววจะสัมฤทธิผลสักที

ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์โลนในธุรกิจท่องเที่ยวเอสเอ็มอี วงเงิน 5 พันล้านบาท แม้เอสเอ็มอีแบงก์จะแจ้งว่าอนุมัติงบให้แล้ว 586.90 ล้านบาท แต่เม็ดเงินจริงๆ ที่ไปถึงมือภาคเอกชน มีผู้ได้รับเงินกู้แล้วน้อยมาก ความล่าช้าในการปล่อยสินเชื่อที่เกิดขึ้น ทำให้ภาคเอกชนต่างกุมขมับกันถ้วนหน้า หรือแม้กระทั่งงบการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวจากการปิดสนามบิน ทุกวันนี้ภาคธุรกิจเช่นโรงแรมก็ยังได้รับเงินเบิกจ่ายจากรัฐไม่ครบ

ขณะที่การขอความช่วยเหลือของธุรกิจการขนส่งทางอากาศ ที่มีค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือนักท่องเที่ยวจากการปิดสนามบิน ก็ถูกครม. ปัดข้อเสนอว่าสายการบินต่างๆ ควรรับผิดชอบเอง ทั้งที่ๆการตกค้างของนักท่องเที่ยวไม่ใช่เกิดจากข้อผิดพลาดในการดำเนินธุรกิจของสายการบินเหล่านี้แต่อย่างใด

นายประกิจ ชินอมรพงษ์ นายกสมาคมโรงแรมไทยหรือทีเอชเอ เผยว่า ซอฟต์โลนเอสเอ็มอีท่องเที่ยว จนถึงขณะนี้มีผู้ประกอบการได้รับเงินกู้น้อยมาก โดยสมาชิกของทีเอชเอ ได้รับเพียง 9 รายวงเงิน 40.5 ล้านบาท จากกลุ่มผู้ที่ผ่านหลักเกณฑ์เงินกู้ทั้งหมด 168 ราย ความล่าช้าที่เกิดขึ้นต่างฝ่ายต่างโยนเรื่องไปมา ทางเอสเอ็มอีแบงก์อ้างว่าปล่อยกู้จำนวนมาก แต่เมื่อเช็กยอดจริงกลับมีไม่ถึง 10 ราย

ทำให้ทีเอชเอเตรียมเสนอให้ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสัมมนากับหน่วยงานเกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความชัดเจน และเร่งรัดการปล่อยสินเชื่อ เพราะหากผู้ประกอบการทนไม่ไหวต้องล้มตายไป บุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็ต้องเผชิญกับปัญหาการว่างงาน ซึ่งก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในวงกว้าง นายกสมาคมโรงแรมกล่าวในที่สุด

นายเจริญ วังอนานนท์ ประชาสัมพันธ์สหพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทยหรือเฟสต้า กล่าวว่าส่วนตัวมองว่ามาตรการช่วยเหลือการท่องเที่ยวของรัฐบาลที่ผ่านมาถือว่าดี เพราะบางมาตรการรวดเร็ว แต่ในบางมาตรการก็ยังล่าช้า แต่หวังว่าเมื่อนายกรัฐมนตรีรับเชิญจากเฟสต้ามาร่วมปาฐกถาเมื่อวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสนใจของรัฐบาลในการมาช่วยเหลือ และสร้างความเข้าใจให้รัฐบาลได้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจริง

++ มาร์ครับจี้แก้ปัญหาท่องเที่ยว

ต่อเรื่องนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในงานปาฐกถาในหัวข้อ ปาฏิหาริย์...ท่องเที่ยวไทยโดยนายกฯอภิสิทธิ์ ซึ่งจัดขึ้นโดยสหพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทยหรือเฟสต้า ว่าที่ผ่านมาแม้รัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวมากมาย ทั้งการกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศ และการกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งก็ช่วยกระตุ้นท่องเที่ยวได้บ้าง

ส่วนมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว รัฐบาลก็ได้เร่งรัดช่วยเหลือมาโดยตลอด ทั้งการผ่อนปรนเรื่องเอกสารหลักฐานต่างๆในการขอสินเชื่อ ซึ่งขณะนี้สถาบันการเงินของรัฐก็พร้อมจะขยายเป้าสินเชื่อให้เพิ่มขึ้นและหากแนวโน้มทางเศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณบวก การตอบสนองในเรื่องสินเชื่อก็น่าจะดีขึ้น ซึ่งจากที่ได้รับรายงานเงินกู้ในภาคธุรกิจท่องเที่ยว 5,000 ล้านบาท ซึ่งมีผู้ประกอบการท่องเที่ยวขอมา 3,000 ราย ได้มีการอนุมัติแล้ว 1,000 ราย และได้ทำการเบิกจ่ายเงินแล้ว 300 ราย เป็นวงเงินรวม 700 ล้านบาท

ในส่วนของเงินเยียวยานักท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบช่วงปิดสนามบินก็ได้รับรายงานว่ายังคงค้าง 34 ล้านบาท ก็จะมีการติดตามเร่งรัดต่อไป นอกจากนี้ยังเตรียม 2 มาตรการ คือ มาตรการส่งเสริมการตลาด การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ และมาตรการดึงนักท่องเที่ยว โดยเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีกำลังซื้อ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวช่วงไฮซีซัน

อีกทั้งจะต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นและกระทบกับการท่องเที่ยวขณะนี้ เช่น ปัญหาที่เกิดขึ้นในสนามบินสุวรรณภูมิ ที่กำลังมีปัญหาเรื่องการกรีดกระเป๋า การขโมยสินค้า แท็กซี่ผี ซึ่งส่งผลลบกับการท่องเที่ยว และรัฐบาลยังให้ความสำคัญกับปัญหาอื่นๆ ที่กระทบกับการท่องเที่ยว เช่น เรื่องอพาตเมนต์แปลงตัวเองเป็นโรงแรมรับนักท่องเที่ยว ซึ่งยอมรับว่าที่ผ่านมาไม่เพียงนักท่องเที่ยวเท่านั้น ทางหน่วยงานรัฐบาลเองก็มักจะใช้บริการนี้เช่นกัน ซึ่งจะต้องมีการสะสางปัญหานี้ต่อไป

นอกจากนี้เรื่องที่ภาครัฐทำตัวแข่งขันกับเอกชน เช่น การบินไทย ที่เปิดบินในเส้นทางทับซ้อนกับสายการบินเอกชนไทย ต่างๆ นี้ จะต้องมีการวางกฎกติกา เพื่อลดให้การแข่งขัน ซึ่งรัฐบาลจะต้องออกกฎหมายให้ช่วยคุ้มครองผู้ประกอบการเอกชนด้วย

ทั้งหมดล้วนเป็นความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาท่องเที่ยวในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ที่บางเรื่องก็คืบบางเรื่องก็ยังต้องผลักดันให้เกิดความเป็นรูปธรรม ซึ่งก็หวังว่าในช่วง 6 เดือนหลังนี้ สิ่งที่นายกฯอภิสิทธิ์รับปากจะช่วยเร่งรัดมาตรการต่างๆ และแก้ไขปัญหาต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว น่าผลักดันไปสู่รูปธรรมได้บ้าง หลังจากที่ผ่านมาคะแนนความตั้งใจเต็มเปี่ยม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook