บทวิเคราะห์ไข้หวัดใหญ่ 2009 กับบทเรียนระบบสาธารณสุขไทยตอน 1

บทวิเคราะห์ไข้หวัดใหญ่ 2009 กับบทเรียนระบบสาธารณสุขไทยตอน 1

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เมื่อวันที่ 16สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดเวทีเวทีเสวนา ในหัวข้อ ไข้หวัดใหญ่ 2009กับบทเรียนระบบสาธารณสุขไทย โดยเชิญวิทยากรในแวดวงสาธารณสุขไทยทั้งภาครัฐและเอกชนมาร่วมอภิปรายและหาทางรับมือกับสถานการณ์โรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดย นายแพทย์ ชูชัย ศุภวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงภาพรวมในการกำหนดแผนปฏิบัติ ว่า เมื่อครั้งที่โรคซาร์ระบาดในปี 2003 คณะอายุรศาสตร์เขตร้อนแห่งลอนดอน โดย ริชาร์ด โคเกอร์ ทำการศึกษาว่า ถ้าหากมีการระบาดทั้งโลกด้วยไวรัสที่รุนแรง สถานการณ์ทั่วโลกจะรับมือได้แค่ไหน อย่างไร โดยใช้เวลาในการศึกษา 5 ปี ผลการศึกษานั้นน่าจะเป็นแนวทางในการจัดการกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับไข้หวัดใหญ่2009 เนื่องจากเป็นการดูแต่ละภูมิภาคว่า มีระบบโครงสร้างการบริการด้านสุขภาพอย่างไร มีบุคลากรมากหรือน้อย จำนวนเตียงในโรงพยาบาลมีเท่าไร งบประมาณในการดูแลสุขภาพมีมากแค่ไหน เมื่อเทียบกับจีดีพี มีแผนยุทธศาสตร์รับมือไวรัสหรือไม่ และถ้าหากมีแผน มีมาตรการที่ชัดเจนหรือไม่ มีงบประมาณสนับสนุนเท่าไร แล้วแผนนำไปสู่การปฏิบัติรวมไปถึงทรัพยากรบุคคล เครื่องมือ วัคซีน ถ้ามีครบแล้วก็จะมาดูว่ามีกรอบในการมองแนวโน้มว่าจะรับมืออย่างไร จากผลการศึกษา พบว่าถ้ามีการระบาดที่ประเทศอังกฤษ และยุโรปตะวันตก จะมีความสามารถรับมือการระบาดได้ในระดับเบาบาง หากมีการระบาดในระดับกลางไปถึงหนัก จะรับมือได้ลำบาก ในแอฟริกาจะพบกับสถานการณ์ที่หนักมาก ในขณะที่ภูมิภาคเอเชีย มีฮ่องกงที่international standard มีการเตรียมยาทามิฟลู สำหรับคน 20 ล้านคน ซึ่งมากกว่าจำนวนประชากรในประเทศถึง 3 เท่า ด้านอเมริกา มีการเตรียมยา 1ใน 6 คือ จำนวน 50 ล้านคน จากทั้งหมด 300 ล้านคน เพราะอเมริกาตระหนักว่าถ้าเกิดการระบาดหนัก จะลำบากมาก จึงได้มีการเสนอกฎหมายเข้าไปปฏิรูประบบสาธารณสุข สำหรับประเทศไทย ในอนาคตข้างหน้า ควรวางแผนอย่างไร มีการดำเนินการที่เป็นจริงอย่างไร ซึ่งจะมีแผนการปรับเปลี่ยนกลไกในกระทรวงสาธารณสุข มีการเชื่อมประสานกับสสส. ตั้งกลไกขึ้นมาใหม่ ซึ่งนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะประธานบอร์ด ได้ตั้งอนุกรรมการแก้ปัญหา มี น.พ.มงคล ณ สงขลาเป็นประธาน ทำงานร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทั้งนี้ น.พ.ชูชัย บอกว่า ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม เป็นต้นไป จะมีการปรับเปลี่ยนการทำงานของวอร์รูม ให้มีการสั่งการที่ชัดเจนขึ้นมีเอกภาพมากขึ้น และมีการเชื่อมต่อผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ สิ่งที่ผมอยากจะเสนอเพิ่มเติมก็คือเรามีกลไกจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ซึ่งต่อไปคงต้องถูกใช้ให้ทำงานมากขึ้น สถาบันวิจัยฯต้องสามารถตอบคำถามในระบบการป้องกันไข้หวัด 2009 ว่ามีการป้องกันอย่างไร เพราะสถาบันวิจัยฯถือว่าเป็นกลไกที่มีพร.บ.รองรับ เป็นการวิจัยเชิงระบบต้องตอบคำถามแล้วเสนอต่อฝ่ายการเมืองอย่างอิสระ ไม่จำเป็นต้องเกรงใจใคร ถ้ากลไก วอร์รูมไม่ทำงาน หรือทำงานไม่เกิดผล สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขต้องเข้าไปศึกษาว่าที่ถูกต้องเป็นอย่างไร สำหรับองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ทำงานร่วมกับประเทศไทยในโรงงานวัคซีน ถือว่าเป็นการร่วมมือที่ดี โดยเสนอให้ WHO ศึกษาอัตราการติดเชื้อว่ามีตัวเลขของผู้ที่ติดเชื้อที่เป็นจริงในสังคมเท่าไร เนื่องจากที่ผ่านมาตัวเลขต่างๆ นั้นยังไม่ชัดเจนแน่นอน อัตราการเสียชีวิต จำนวนผู้ติดเชื้อจะเป็นข้อมูลที่นำพาสู่การรับมือ ในประเทศต่างๆ อย่างไรก็ตาม น.พ.ชูชัย ยังกล่าวถึง โรงงานวัคซีนที่มีการเตรียมยาต้านไวรัสวัคซีนล่วงหน้า โดย 3 ปีที่ผ่านมาต้องประสบกับปัญหาทางการเมืองเป็นระยะ ถูกตัดลดงบประมาณจาก 950 ล้านบาท เหลือ 130 ล้านบาท ทำให้การทำงานชะงักงัน ขณะที่มุมมองของ นายสมบัติ ชูเถื่อน เลขาธิการสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข ในฐานะของผู้ทำงานในสถานีอนามัย เห็นว่าสถานีอนามัยเป็นหน่วยงานสาธารณสุขที่เล็กที่สุดซึ่งครอบคลุมทุกพื้นที่ แต่กว่า 90 ปีที่สถานีอนามัยก่อตั้งขึ้นมา ยังขาดการพัฒนาตั้งแต่เริ่มต้น เป็นความต่างในการพัฒนาระหว่างสถานีอนามัยจังหวัดที่พัฒนาไปเป็นโรงพยาบาลชุมชนโรงพยาบาลจังหวัด "กระทรวงสาธารณสุขไม่เคยพัฒนาสถานีอนามัยเลย ในขณะที่บุคลากรประจำสถานีอนามัย 30 กว่าปีที่แล้วมี 2-3 คน ปัจจุบันก็ยังมีอย่างมากแค่ 3 คน แต่โรงพยาบาลจากที่เคยมีบุคลากร 10 กว่าคน พัฒนาไปเป็น 200 กว่าคน ข้อเรียกร้องที่ เลขาฯสมาคมวิชาชีพ ฝากถึงภาครัฐอีกประเด็นคือ หากจะป้องกันการระบาดลงไปยังพื้นที่ชุมชน ภาครัฐต้องส่งสัญญาณให้ชัดเจนว่าจะเอาอย่างไร หากจะให้ อสม. เป็นผู้คัดกรอง หาก อสม.ติดโรคกระทรวงสาธารณสุขจะดูแลอย่างไร ถ้าระดม อสม.เข้าไปคัดกรองต้องมีระบบประกันปัญหาจากการทำงาน และต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่จากกระทรวงสาธารณสุข การจ่ายค่าตอบแทนเพียง 600 บาทแล้วเอาชีวิตไปแลกคงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง และการดำเนินงานขั้นตอนต่างๆ ต้องใช้งบสนับสนุนจากส่วนกลาง หากคิดว่าโรคนี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน ส่วนการรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ป่วย เลขาฯสมาคมวิชาชีพ เห็นว่า ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าภาพรณรงค์ป้องกันการระบาดของไข้หวัด2009 หากจะมีการปิดโรงเรียน หรือโรงงาน ต้องมีคำสั่งเป็นนโยบาย นอกจากนี้ ควรจะส่งสัญญาณว่า การที่คนป่วยปิดหน้าไปไหนก็ได้นั้น เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ผู้ที่ได้รับเชื้อไข้หวัด 2009 ควรมีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ใช่ว่าป่วยสวมหน้ากากอนามัยแล้วออกไปไหนก็ได้ ถ้าป่วยต้องให้อยู่บ้านเท่านั้น ซึ่งที่เห็นขณะนี้ คือ คนไทยยังไม่ตระหนักในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ดังนั้นจึงต้องมีการทบทวน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบป้องกันโรคอย่างเร่งด่วน อีกประเด็นหนึ่งที่ นายสมบัติ ทิ้งท้ายไว้คือ การสนับสนุนทรัพยากร เนื่องจากสถานีอนามัยบางแห่งเครื่องมือไม่เพียงพอ ดังนั้น ภาครัฐจึงต้องจัดงบประมาณสนับสนุนเพื่อการทำงานประสบความสำเร็จด้วย เนื่องจากโลกปัจจุบันเป็นยุคโลกาภิวัตน์ โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่เกิดขึ้นที่ประเทศเม็กซิโก เพียงไม่กี่วันก็แพร่กระจายมาถึงประเทศไทย ดังนั้น จึงมีคำถามว่า จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องทำการวิจัยทุกครั้งที่เกิดโรค เพราะปัจจุบันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ยังไม่มีระบบวิจัยที่ชัดเจนเลย ทั้งๆ ที่เทียบเคียงอันตรายแล้วก็เท่ากับไข้หวัดนกได้ จึงต้องทบทวนว่า การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้น ผ่านมา 3 เดือนแล้ว ไทยเพิ่งจะมีวอร์รูม ดังนั้น การเตรียมความพร้อมของภาครัฐยังต้องปรับปรุงอยู่หรือไม่ ในตอนหน้าติดตามมุมมองต่อระบบสาธารณสุขไทยของภาคองค์กรอิสระต่อมาตรการรับมือการแพร่ระบาดไข้หวัดใหญ่ฯ และทิศทางสาธารณสุขไทยให้ก้าวทันโรค ชุติมา สุขวาสนะ เรียบเรียง ชูชาติ เทศสีแดง บรรณาธิการ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook