ภารกิจของรัฐบาลต่อฎีกาของ นปช.

ภารกิจของรัฐบาลต่อฎีกาของ นปช.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
การยื่นเรื่องเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาของกลุ่มแนวร่วม ประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือมวลชนเสื้อแดง ผ่านไป โดยเรียบร้อย และมีแถลงการณ์จากสำนักราชเลขาธิการว่า ตามที่นายวีระ มุสิก พงศ์ กับแกนนำกลุ่ม นปช. ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในวันที่ 17 ส.ค. 52 ณ ประตูวิเศษไชยศรี พระบรมมหาราชวัง นั้น ตามขั้นตอนที่เคยปฏิบัติ เมื่อสำนักราชเลขาธิการได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา เกี่ยวกับการขอพระราชทานอภัยโทษ การขอพระราชทานความเป็นธรรม และ การขอพระราชทานความช่วยเหลือ สำนักราชเลขาธิการต้องส่งฎีกาทุกเรื่องไป ให้รัฐบาลพิจารณาถวายความเห็นประกอบพระราชดำริต่อไป

คำแถลงของสำนักพระราชวังและการส่งเรื่องให้รัฐบาล พิจารณาถวาย ความเห็น ย่อมเป็นขั้นตอนการปฏิบัติโดยปกติ ซึ่งรัฐบาลก็มีวิธีการขั้นตอน ที่อาศัยหลักกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ เป็นแนวทางการพิจารณา และคงได้เห็นแนวทางกันบ้างแล้ว จากคำอธิบายที่มีมาอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้ ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง กล่าวว่า หลัง เสร็จสิ้นการถวายฎีกา ก็จะไม่ก้าวล่วง แต่ นปช. และแดงทั้งแผ่นดินจะเคลื่อน ไหวตามเป้าหมายเดิม ยังต่อสู้ต่อไป คือ ต่อสู้กับอำมาตยาธิปไตยและขับไล่ รัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลผลิตอำมาตยาธิปไตย ด้วยกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ การจัดสัมมนาทั่วประเทศ โดยเฉพาะการจัดชุมนุมใหญ่ ใน กทม. และภูมิภาค และจะไม่ยอมรับการบริหารของรัฐบาลชุดนี้

การถวายฎีกาครั้งนี้ ไม่ว่ากลุ่มแกนนำผู้ยื่นทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะอ้างเหตุอย่างใดก็ตาม แต่ความเห็นของประชาชนส่วนหนึ่งเชื่อว่าเป็นการกระทำที่หวังผลทางการเมือง โดยมหาวิทยาลัย ราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความเห็นประชาชน 3,094 คน ในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด 21 จังหวัด ส่วนใหญ่เชื่อว่าการร่วมกันถวายฎีกาและคัดค้านการถวายฎีกา เป็นเกมการเมืองถึง ร้อยละ 37.17 รองลงมาเชื่อว่าเป็นการกระทำลักษณะตาต่อตาฟันต่อฟัน มุ่งแต่เอาชนะจนอาจทำให้เกิดความวุ่นวาย ร้อยละ 28.93

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 วางหลักว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ พสกนิกรทั้งปวงย่อมทราบดีว่า ทรงอยู่เหนือบทบาท อำนาจใด ๆ ทางการเมือง แต่ก็เกิดปัญหาที่สุ่มเสี่ยงต่อการจะถูกก้าวล่วง ทั้งมีแนวโน้มว่าความแตกแยกแบ่งฝ่ายจะไม่สิ้นสุดลงง่าย ๆ ส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลยังไม่สามารถคลี่คลายความขัดแย้งที่มีอยู่ได้ เนื่องจากประชาชนส่วนหนึ่งเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ พ้นจากอำนาจและต้องคดีความจนต้องไปอยู่นอกประเทศเพราะถูกรัฐประหาร จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องใช้ความระมัดระวังการดำเนินการต่าง ๆ ในช่วงต่อจากนี้ ที่จะมิให้เป็นชนวนการกระทบกระทั่งใด ๆ พร้อมกัน มีสิ่งที่ควรจะเร่งรัดก็คือการจัดการกับการกระทำที่ผิดกฎหมายอย่างเคร่งครัด ให้ดีกว่าที่แล้วมา เพราะสถานการณ์อาจจะเลวร้ายลงไปอีกได้.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook