กฟผ.รับผิดชอบค่าเสียหายปล่อยน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ท่วมเมืองกาญจน์ ยันมั่นคงปลอดภัยไม่เกี่ยวแผ่นดินไหว

กฟผ.รับผิดชอบค่าเสียหายปล่อยน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ท่วมเมืองกาญจน์ ยันมั่นคงปลอดภัยไม่เกี่ยวแผ่นดินไหว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กฟผ.ขอรับผิดชอบค่าเสียหายกรณีเขื่อนศรีนครินทร์ปล่อยน้ำท่วมเมืองกาญจนบุรี อ้างจำเป็นต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าชดเชยแหล่งบงกช-ยานาดา มีปัญหา ไม่ให้ไฟดับวงกว้าง ยันเขื่อนมั่นคง-ปลอดภัย ไม่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวตามกระแสข่าว คนกาญจน์สับระบบแจ้งเตือนห่วย ร.ร.-รีสอร์ทเสียหายอื้อ นายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) นายเริงศักดิ์ มหาวินิจฉัยมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี และนายเติมชัย บุนนาค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ บริษัท ปตท จำกัด(มหาชน) ร่วมกันแถลง เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ถึงการปล่อยน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ของ กฟผ. เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา จนหลายพื้นที่ทั้งบ้านเรือนชาวบ้าน ร้านอาหาร รีสอร์ต โรงแรมได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม

นายสมบัติ กล่าวว่า สาเหตุที่กฟผ.ปล่อยน้ำออกมาเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเกิดปัญหาการขัดข้องในระบบส่งก๊าซธรรมชาติจากทั้งแหล่งบงกชในอ่าวไทย รวมทั้งปัญหาการขัดข้องทางเทคนิคของแห่งยานาดาในประเทศพม่า จึงทำให้ปริมาณก๊าซธรรมชาติหายไปจากระบบจำนวนหนึ่งของกฟผ. จึงมีความจำเป็นต้องผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนศรีนครินทร์เต็มกำลังผลิตเพื่อรักษาระบบไฟฟ้าของประเทศไม่ให้ดับในวงกว้าง

ทั้งนี้เหตุการณ์ที่แหล่งก๊าซฯ ทั้งในอ่าวไทยและสหภาพพม่าไม่สามารถส่งก๊าซฯ เข้าระบบผลิตไฟฟ้าในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ได้นั้น สามารถสรุปได้เป็น 3 เหตุการณ์คือ

1.ก๊าซฯ จากแหล่งพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย(เจดีเอ) แหล่ง เอ 18 มีการปิดเพื่อซ่อมบำรุงตามปกติ ตั้งแต่วันที่ 9 19 สิงหาคม 2552 จึงทำให้ปริมาณก๊าซ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ลดลงจากปกติ และจะสามารถกลับเข้าสู่การผลิตปกติได้ในวันที่ 19 สิงหาคมนี้

2. เหตุจากระบบท่อลำเลียงคอนเดนเสท ในแหล่งบงกช เกิดการรั่ว ซึ่งเป็นปัญหาด้านเทคนิค ทำให้ต้องหยุดระบบการผลิตก๊าซฯ ทั้งหมด เพื่อตรวจสอบความปลอดภัย จึงทำให้ปริมาณก๊าซฯ หายไปจากระบบอีก 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ขณะนี้แหล่งก๊าซฯบงกชเดินเครื่องผลิตตามปกติแล้ว

3.แหล่งก๊าซยาดานา ในพม่า เกิดปัญหาด้านเทคนิคเช่นกัน ทำให้ต้องมีการตัดขาดระบบโดยอัตโนมัติ(Emergency Shut Down)ในช่วงเช้าของวันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม จึงต้องหยุดส่งก๊าซฯชั่วคราว ส่งผลให้ปริมาณก๊าซหายออกจากระบบประมาณ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งปัจจุบันระบบได้ทำงานเป็นปกติแล้ว

ทั้ง 3 เหตุการณ์ได้เกิดขึ้นมาพร้อมกัน ดังนั้น กฟผ.จึงปรับแผนโดยเพิ่มการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าอื่นๆ อย่างเต็มที่ทั้งโรงไฟฟ้าแม่เมาะ โรงไฟฟ้าน้ำพอง โรงไฟฟ้าถ่านหินของเอกชน และรับซื้อไฟฟ้าจากลาวเพิ่มตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำอื่นๆเพื่อแก้ไขปัญหา เพื่อไม่ให้ไฟฟ้าดับ ยืนยันว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงแผนการผลิตไฟฟ้าของประเทศหรือการรับซื้อไฟฟ้าของกฟผ.ที่อาจจะลดลงแต่อย่างใด

นายสมบัติ กล่าวว่าในเบื้องต้น กฟผ.ได้ร่วมกับจ.กาญจนบุรี สำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้น และได้เข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกึ้น พร้อมทั้งยืนยันว่า เขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนอื่นๆของกฟผ.มีความมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัย ไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด ค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น ทางกฟผ.จะหารือร่วมกับปตท และกระทรวงพลังงานเพื่อพิจารณาในรายละเอียดว่า ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ในเบื้องต้น กฟผ.จะเป็นผู้รับผิดชอบไปก่อนนายสมบัติกล่าว ขณะที่เจ้าหน้าที่เขื่อนศรีนครินทร์ และเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.กาญจนบุรี เร่งสำรวจความเสียหายจากน้ำท่วม พบว่านอกจากบ้านเรือนราษฎรแล้ว ในพื้นที่ ต.วังด้ง อ.เมือง รีสอร์ทหลายแห่งได้รับความเสียหายด้วย อาทิ หลุบพญารีสอร์ท คำแสดรีสอร์ท ที่ ต.หนองบัว ร้านค้าห้องแถว จำนวน 24 ห้องเสียหาย ส่วนโรงแรมริเวอร์แคว รีสอร์ท แอนด์สปา กาญจนบุรี ต.แก่งเสี้ยน อ.เมือง ได้รับความเสียหายเป็นบ้านพักริมน้ำ จำนวน 2 หลัง อาคารสปาจำนวน 1 หลัง

นายนพพร ถาวรประดิษฐ์ นายกสมาคมชาวแพ-ชาวเรือ กาญจนบุรี กล่าวว่า ผู้ประกอบการริมน้ำได้รับผลกระทบจากการที่ปริมาณน้ำขึ้นสูงอย่างรวดเร็วและไหลแรงทำให้เกิดความเสียหายทั้งแพและเรือที่จอดอยู่ รวมทั้งบ้านเรือนราษฎรที่อาศัยอยู่ริมตลิ่งซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำ แม้ว่าเทศบาลจะประกาศแจ้งเตือน แต่ไม่ทราบว่ากระแสน้ำจะแรงถึงขนาดนี้ ที่สำคัญการแจ้งเตือนควรให้กระแสน้ำไหลมาถึงพื้นที่พักอาศัยในเวลากลางวัน ไม่ใช่กลางคืน เนื่องจากไม่สามารถเตรียมตัวทัน เสี่ยงต่ออันตรายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน

ทั้งนี้ สถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำแควใหญ่กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เนื่องจากแหล่งผลิตก๊าซยาดานาและแหล่งผลิตบงกชในอ่าวไทยส่งก๊าซได้ตามปกติแล้ว เขื่อนศรีนครินทร์จึงทยอยหยุดเดินเครื่องที่ 4 และ 5 แต่บริเวณบ้านลิ้นช้าง ต.ปากแพรก อ.เมืองกาญจนบุรี เป็นจุดบรรจบรวมของแม่น้ำแควใหญ่และแม่น้ำแควน้อยเป็นต้นแม่น้ำแม่กลองระดับน้ำเริ่มสูงขึ้นเนื่องจากน้ำจากเขื่อนวชิราลงกรณไหลลงมาถึงบริเวณดังกล่าว และเริ่มส่งผลกระทบกับที่ราบลุ่มในเขตพื้นที่ อ.ไทรโยค น้ำเอ่อไหลเข้าท่วมตามรีสอร์ท โรงแรมที่สร้างในที่ราบลุ่มริมแม่น้ำแควน้อย

นายกิตติ ตันเจริญ ผู้อำนวยการเขื่อนศรีนครินทร์ เปิดเผยว่า กฟผ.พร้อมรับผิดชอบในส่วนของผู้ได้รับผลกระทบ โดยสำรวจและรับเรื่องร้องเรียนตามจุดต่างๆ 8 จุด คือ จุดที่ 1 ที่ อบต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จุดที่ 2 องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ช่อสะเดา อ.เมือง จุดที่ 3 อบต.วังด้ง จุดที่ 4 เทศบาลหนองบัว อ.เมือง จุดที่ 5 เทศบาลแก่งเสี้ยน อ.เมือง จุดที่ 6 อบต.ท่ามะขาม อ.เมือง จุดที่ 7 เทศบาลเมืองกาญจนบุรี และจุดที่ 8 สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.กาญจนบุรี บริเวณศาลากลางหลังเก่า

ต่อมา นายกิตตินำคณะสื่อมวลชนตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจและให้สัมภาษณ์ว่า จุดสำคัญที่สุดที่สามารถตรวจสอบว่าเขื่อนศรีนครินทร์มั่นคงแข็งแรงปลอดภัยจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ คือ การวัดปริมาณการรั่วซึมของน้ำภายในอุโมงค์ ตรวจวัดได้ไม่เกิน 68 ลิตร/นาที โมงค์มีความยาวประมาณ 1,300 เมตร มีจุดตรวจวัดการรั่วซึมของน้ำอยู่ 7 จุด เป็นการรั่วซึมของน้ำฝน น้ำใต้ดิน และน้ำหน้าเขื่อนที่จะเป็นข้อมูลที่ยืนยันว่าเขื่อนปลอดภัยตามหลักวิศวกรรม

พ.อ.(พิเศษ) สุรินทร์ จันทร์เพียร นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวกาญจนบุรี กล่าวว่า กฟผ.เป็นหน่วยงานชั้นนำของประเทศ ควรมีมาตรการแจ้งเตือนที่ดีกว่านี้ โดยใช้ระบบการสื่อสารและประชาสัมพันธ์มาตรฐานสากล เพื่อให้ประชาชนใต้เขื่อนซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบเตรียมตัวทัน ไม่ควรอ้างว่า ได้แจ้งแล้ว บอกข่าวแล้ว

ประชาชนส่วนใหญ่ยังตั้งข้อสงสัยว่า กรณีที่เขื่อนศรีนครินทร์ต้องปล่อยน้ำในปริมาณมากและรวดเร็วขนาดนี้ แท้ที่จริงเกิดจากอะไรกันแน่ โครงสร้างของเขื่อนมีปัญหาหรือไม่ ก๊าซจากพม่าถูกตัดจริงหรือไม่ เพราะพลังงานที่มาจากเขื่อนพลังงานน้ำทั่วประเทศจะผลิตให้กับระบบไม่เกิน 8% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งประเทศ ดังนั้น หากพลังงานที่หนึ่งที่ใดขาดหายไปจากระบบ จึงเป็นเหตุผลที่ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่ กฟผ.จะนำมากล่าวอ้างปล่อยน้ำแรงและเร็วจนเป็นเหตุให้น้ำท่วมบ้านเรือนราษฎรเช่นนี้ กฟผ.ควรออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง ไม่ควรที่จะออกมาให้ข้อมูลที่บิดเบือน และหลอกลวงประชาชน พ.อ.(พิเศษ) สุรินทร์กล่าว

นายอดิชาติ สุรินทร์คำ ผู้อำนวยการกองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า การเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนจนท่วมบ้านเรือนสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนใน จ.กาญจนบุรี ไม่น่าจะเกี่ยวกับเรื่องที่นักพัฒนาเอกชนบางกลุ่มมองว่า เป็นเพราะเกิดแผ่นดินไหวขึ้น จึงต้องระบายน้ำออกเพื่อความปลอดภัย จากสถิติการเกิดแผ่นดินในบริเวณดังกล่าวในช่วง 4-5 วันก่อนหน้านี้ มีมาโดยตลอด แต่เป็นขนาดเล็กตั้งแต่ 2-3 ริคเตอร์ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อตัวเขื่อน ขณะที่ตัวเขื่อนโดยเฉพาะที่เขื่อนศรีนครินทร์ มีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวไว้ที่สันเขื่อน สามารถส่งสัญญาณเตือนภัยถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ทั้ง ทธ.กรมอุตุนิยมวิยา เพื่อเตือนภัย แต่ก็ไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติใดๆ เพราะถ้าหากเกิดแผ่นดินไหวขนาดรับรู้ได้หรือรู้สึกได้จริง ต่อให้ กฟผ.ปกปิดข้อมูล ก็ไม่สามารถปกปิดได้ เพราะมีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวอยู่หลายจุด โดยเฉพาะในหมู่เกาะอันดามัน ประเทศอินเดีย หรือที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเชีย ดังนั้น ต่างประเทศสามารถรับรู้ข้อมูลการเตือนภัยและรายงานได้ตลอด ไม่ต้องรอให้หน่วยงานในประเทศไทยรายงาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook