มาร์คแจงสอบฎีกาเสื้อแดงอย่างน้อย60วัน

มาร์คแจงสอบฎีกาเสื้อแดงอย่างน้อย60วัน

มาร์คแจงสอบฎีกาเสื้อแดงอย่างน้อย60วัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อภิสิทธิ์ ระบุฎีกาช่วยทักษิณต้องใช้เวลาตรวจสอบไม่ต่ำกว่า 60 วัน ย้ำชัดรัฐบาลมีหน้าที่ให้ความเห็นกลับไปยังสำนักราชเลขาธิการ ไม่มีสิทธิยับยั้ง วอนปชช.อย่าหลงกลว่ารัฐบาลนี้ตีตกเเละอย่านำมาขยายผลทางการเมือง ปลัดยุติธรรมย้ำยึดหลักกฎหมายพิจารณา

(18ส.ค.) นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยถึงกรณีรัฐบาลจะส่งฎีกาของกลุ่มเสื้อแดงมาให้กระทรวงยุติธรรมพิจารณาว่า ขณะนี้ตนยังไม่เห็นเนื้อหาว่าเป็นฎีการ้องทุกข์หรือฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ตามขั้นตอนปกติเมื่อส่งเรื่องมายังกระทรวงยุติธรรม ขั้นตอนแรกต้องพิจารณาว่าเป็นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษหรือฎีการ้องทุกข์ หากเป็นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษมีระเบียบและหลักปฏิบัติชัดเจน คือผู้ร้องต้องเป็นผู้มีสิทธิในการถวายฎีกา โดยจะต้องเป็นผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดหรือเป็นญาติสายตรงที่มีผลประโยชน์ได้เสียกับผู้ต้องโทษ หากไม่เข้าหลักเกณฑ์ถือว่าไม่มีสิทธิยื่นถวายฎีกา แต่กรณีนี้เป็นครั้งแรกที่มีผู้ร้องจำนวนมาก

ดังนั้นต้องใช้เวลาตรวจสอบก่อนทั้งหมดว่า ผู้ร้องแต่ละคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้กระทำผิดที่ขอพระราชทานอภัยโทษหรือไม่อย่างไร อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวมีเงื่อนไขปฏิบัติตามกฎหมายอยู่แล้ว หากได้เห็นรายชื่อผู้ถวายฎีกาก็อาจพิจารณาเร็ว ทั้งนี้ตนจะเร่งหารือกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

นายกิตติพงษ์ กล่าวอีกว่า หากเนื้อหาเป็นฎีการ้องทุกข์ ตามหลักปฏิบัติจะส่งเรื่องไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีพิจารณา แต่หากมีเนื้อหาที่เกี่ยวเนื่องทั้งฎีการ้องทุกข์และขอพระราชทานอภัยโทษ ขั้นตอนปกติจะส่งเรื่องให้ กรมราชทัณฑ์ โดยกรมราชทัณฑ์จะต้องทำความเห็นเสนอมายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่จะเป็นผู้พิจารณา


อภิสิทธิ์ ระบุต้องใช้เวลาตรวจสอบฎีกาแดงไม่ต่ำกว่า60วัน

เมื่อเวลา14.00น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมครม.ถึงกรณีการถวายฎีกาขออภัยโทษให้กับพล.ต.ท.ทักษิณว่า แนวปฏิบัติเหมือนการฎีกาทั่วไปคือทางสำนักราชเลขาธิการจะส่งมายังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จากนั้นจะมีการนำเสนอให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงในฐานะที่ได้รับมอบหมาย ให้พิจารณาเรื่องฎีกาทำหน้าที่ในการตรวจสอบ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เมื่อตรวจสอบแล้วจะส่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อจัดทำความเห็นในการที่จะให้รัฐบาลได้นำเสนอความเห็นกลับไปยังสำนักราชเลขาธิการ ถ้าดูจากข่าวสารต่างๆ กรณีนี้น่าจะเป็นฎีกาที่มีความมุ่งหมายให้เสนอให้มีการพระราชทานอภัยโทษ ถ้าเป็นกรณีเช่นนั้นจะส่งเรื่องให้กระทรวงยุติธรรม

ผู้สื่อข่าวถามว่าโดยอำนาจของรัฐบาลแล้วรัฐบาลมีอำนาจเพียงแค่จัดทำความคิดเห็นเสนอกลับไปหรือมีอำนาจในการยับยั้งได้เลย นายอภสิทธิ์ กล่าวว่า หน้าที่รัฐบาลคือให้ความเห็นกลับไป เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนฎีกาไปยังสำนักราชเลขาธิการ เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่การฎีกาไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม ย่อมเกี่ยวข้องกับหน่วยงานที่รัฐบาลดูแลอยู่ ทางสำนักราชเลขาธิการก็จะขอความเห็นจากรัฐบาล ดังนั้นหน้าที่ของรัฐบาลคือให้ความเห็นเพื่อดำเนินการตามกระบวนการต่อไป ส่วนการที่จะดูว่าฎีกาเป็นประเภทไหน เข้าข่ายอย่างไร และความเห็นควรเป็นอย่างไร ต้องพิจารณาจากตัวเนื้อหาฎีกา และผู้ที่ยื่นด้วย

"เรื่องรายชื่อถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่หน่วยงานจะต้องสรุปความเห็นขึ้นไป เท่ากับว่าเรื่องนี้ยุติที่รัฐบาลไม่ได้ รัฐบาลต้องนำเรื่องกลับไปยังสำนักราชเลขาธิการอีกครั้งหนึ่ง ขั้นตอนเหมือนฎีกาทั่วไป" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

เมื่อถามว่าแกนนำคนเสื้อแดงประกาศชัดว่าถ้าฎีกาตกอยู่แค่ขั้นตอนของรัฐบาล จะไม่ยอมแน่นอน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ฎีการไม่ตกไปในขั้นตอนรัฐบาลแน่ เมื่อถามว่ารัฐบาลได้มีการประเมินหรือไม่ เพราะมีความพยายามในการเปิดประเด็นใหม่ว่ารัฐบาลพยายามขัดขวาง หรือล้มฎีกา อาจนำไปสู่การเคลื่อนไหวล้มรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่มีกรณีเช่นนั้น กรุณาอย่าไปบิดเบือนข้อเท็จจริง รัฐบาลทำอย่างนั้นไม่ได้ รัฐบาลมีหน้าที่ทำตามหน้าที่ สำนักราชเลขาธิการขอความเห็น ก็ให้ความเห็นต่อไป และเพื่อให้เกิดความชัดเจน ตนได้ลองสอบถามดูว่าฎีกาปกติที่เข้ามาแล้ว ส่งให้หน่วยงานต่างๆ จะต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ ก็ได้รับการชี้แจงจากหน่วยงานว่าตามปกติฎีกาที่ไม่มีความซับซ้อน เช่น กรณีมีครอบครัว หรือเจ้าตัว ขอพระราชทานอภัยโทษ ง่ายๆ อย่างนี้ ก็ใช้เวลาประมาณ 60 วัน

"แต่กรณีนี้ได้สอบถามเบื้องต้นก็บอกว่ามีรายชื่อจำนวนมาก ก็ต้องนานกว่า 60 วัน จึง ต้องพูดไว้ก่อนเพราะว่าจะมีคนไปบิดเบือนว่ารัฐบาลเก็บเรื่องไว้นาน รัฐบาลดำเนินการตามปกติมีมาตรฐาน มีมาตรฐานเดียว ฉะนั้นเมื่อมีฎีกาเข้ามา ปฏิบัติอย่างไร ก็ปฏิบัติอย่างนั้น ตามอำนาจหน้าที่" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

เมื่อถามว่า นายจตุพร พรมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดง ระบุว่าต้องการให้รัฐบาลพิจารณาฎีกาโดยให้ยึดหลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์รวมกัน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่หน่วยงานพิจารณาตามปกติ และเข้าใจหลักที่เราทำ คือคนที่พิจารณาจะไม่ใช่เรื่องของการเมือง ก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในเรื่องการถวายฎีกา

เมื่อถามต่อว่าเรื่องนี้ถูกโยงเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองไปแล้ว รัฐบาลจะรับมือกับตรงนี้อย่างไรในการทำความเข้าใจกับประชาชน เพื่อไม่ให้มีการบิดเบือนข้อมูล นายอภิสิทธ์ กล่าวว่า ตนจะให้ความมั่นใจและความสบายใจกับทุกฝ่ายว่าเรื่องนี้รัฐบาลปฏิบัติอย่างที่พึงปฏิบัติกับทุกกรณีที่มีการฎีกา นั่นคือว่าฎีกาเป็นประเภทไหน เกี่ยวข้องกับหน่วยงานใด หน่วยงานนั้นก็จะทำความเห็นโดยยึดถือหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับกรณีอื่นๆ และความเห็นจะถูกส่งกลับให้สำนักราชเลขาธิการ

เมื่อถามว่าวันที่ 26 ส.ค.กลุ่มคนเสื้อแดงระบุว่าอาจจะมีการชุมนุมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อทวงถามเรื่องนี้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถึงได้เรียนว่ากระบวนการและระยะเวลาขั้นตอนต่างๆ มันมีของมันอยู่ เหมือนกับกรณีอื่นๆ ซึ่งก็ได้มีการสอบถามเหมือนกันว่าต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ ก็บอกว่า 60 วัน ฉะนั้นวันที่ 26 ส.ค.นี้ ยังไงก็ไม่ทันอยู่แล้ว ตนได้อธิบายให้ประชาชนทราบว่าเรื่องนี้ปฏิบัติตามปกติ ไม่มีเรื่องไปขัดขวาง ไม่มีเรื่องไปถ่วงอะไรทั้งสิ้น การตรวจสอบเมื่อมีรายชื่อเข้ามามาก แล้วเข้าไปเกี่ยวข้องกับเกณฑ์การถวายฎีกา ก็อาจจะต้องตรวจสอบคณะที่มีความรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง และอาจจะต้องขอความร่วมมือ จากผู้ยื่นเองในการที่จะให้ความร่วมมือ ในการสรุปข้อเท็จจริงต่างๆ ได้

"ก็อยากจะขอว่าอย่ามีใครไปหลงเชื่อว่ารัฐบาลจะไม่ปฏิบัติเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา เราทำตรงไปตรงมาตามหลักเกณฑ์ทุกประการ" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

เมื่อถามว่ามันจะเป็น "สิงหาอันตราย" อย่างที่มีการวิเคราะห์กันหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก็ผ่านมาเกินครึ่งเดือนแล้ว ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีของเว็บไซต์ที่มีการหมิ่นสถาบันอย่างชัดเจน รัฐบาลจะดำเนินอย่างไร นายอภสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้ามีอะไรที่ผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายอยู่แล้ว

ด้านนายสุเทพ กล่าวว่า เป็นหน้าที่กระทรวงยุติธรรมพิจารณาขั้นตอนถวายฎีกาโดยรัฐบาลจะไม่เข้าไปแทรกแซง


จตุพร ขู่รบ.ดึงฎีกาเท่ากับเร่งเสื้อแดงชุมนุมใหญ่

ที่พรรคเพื่อไทย เมื่อเวลา 12.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจตุพร พรหมพันธ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำกลุ่มนปช. กล่าวถึงกรณีที่สำนักราชเลขาธิการมีแถลงการณ์ชี้แจงถึงขั้นตอนประเพณีการปฏิบัติที่เคยมีมาเกี่ยวกับการขอพระราชทานอภัยโทษ ว่าจะต้องส่งเรื่องให้กับรัฐบาลเพื่อพิจารณาถวายความเห็นประกอบว่า แถลงการณ์ดังกล่าวมีความชัดเจนว่า รัฐบาลไม่มีสิทธิ์ที่จะยับยั้งฎีกา ทำได้เพียงถวายความเห็นประกอบจะทำเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ซึ่งกระทรวงยุติธรรมเคยออกแถลงการณ์มาก่อนหน้านี้แล้ว

ดังนั้น แค่เพียงกระทรวงยุติธรรมส่งแถลงการณ์ให้กับนายอภิสิทธิ์ ก็เป็นอันเสร็จสิ้นแล้ว ความจริงแล้วในวันที่ 19 ส.ค.ก็สามารถถวายความเห็นประกอบได้แล้ว ซึ่งรัฐบาลจะถวายความเห็นประกอบอย่างไรก็ได้ จะบอกว่าการถวายฎีกาไม่ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายก็ได้ เพราะเป็นเพียงแค่ความเห็น ทั้งนี้ หากรัฐบาลแสดงออกให้เห็นถึงความพยายามที่จะดึงเรื่องไว้โดยอ้างว่าอยู่ระหว่างการทำความเห็นประกอบ หรือพยายามล้มฎีกาก็จะเป็นเงื่อนไขให้กลุ่มคนเสื้อแดงต้องออกมาชุมนุมใหญ่เร็วขึ้น ส่วนกรณีที่จำนวนรายชื่อประชาชนยื่นถวายฎีกาเหลือเพียง 3,532,906 รายชื่อจากเดิมที่มีถึง 5 ล้านกว่ารายชื่อนั้น เพราะเราตรวจสอบอย่างละเอียด เมื่อพบว่ารายชื่อใดที่มีข้อสงสัยก็จะดึงออกทันที

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook