มท.แฉกลุ่มล้มสถาบันเบื้องสูงมีวาระซ่อนเร้น แฝงเสื้อแดงเคลื่อนไหว สุเทพยันพิจารณาฎีกาตามขั้นตอน

มท.แฉกลุ่มล้มสถาบันเบื้องสูงมีวาระซ่อนเร้น แฝงเสื้อแดงเคลื่อนไหว สุเทพยันพิจารณาฎีกาตามขั้นตอน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สุเทพยันรบ.พิจารณาฎีกาตามขั้นตอนปกติ มท.บอกไม่รู้ว่าคนรักทักษิณถึง 30% หรือไม่ พบกลุ่มล้มรัฐบาล-สถาบันเบื้องสูงแฝงเสื้อแดง กรมคุกชี้แม้วไม่เคยรับโทษ อำนาจพิจารณาอยู่ที่รมว.ยธ. หลังครม.พิจารณาเนื้อหาฎีกาขออภัยโทษทักษิณเข้าข่ายใด ด้านยุติธรรมเตรียมส่งราชทัณฑ์ตรวจฎีกาด้วย มท.ปูดขบวนการล้มเจ้ามีจริง แฝงเสื้อแดงเคลื่อนไหว

นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกกระทรวงมหาดไทย พรรคภูมิใจไทย แกนนำใกล้ชิดนายเนวิน ชิดชอบ หัวหน้ากลุ่มเพื่อนเนวิน กล่าวถึงกรณีเสื้อแดงถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยก็ยังดำเนินการเรื่องการตั้งโต๊ะรวบรวมรายชื่อประชาชนที่คัดค้านการถวายฎีกาของคนเสื้อแดงอยู่ในทุกจังหวัด เพื่อให้ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับคนเสื้อแดงได้แสดงออกในความคิดเห็นของตัวเอง นอกจากนี้ก็ยังต้องพูดเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนส่สนอื่นๆว่าการเคลื่อนไหวล่ารายชื่อของคนเสื้อแดงนั้นไม่ถูกต้องตามกระบวนการของกฎหมายและไม่สามารถขอพระราชทานอภัยโทษให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ได้

คนเสื้อแดงทราบดีว่าการดำเนินการล่ารายชื่อประชาชนเพื่อถวายฎีกาฯนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย และสุดท้ายเรื่องก็ต้องมาจบที่รัฐบาล ซึ่งก็จะต้องยุติเรื่องเอาไว้เนื่องจากไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เราจึงบอกว่าการถวายฎีกาฯของคนเสื้อแดงนั้นไม่ได้ต้องการขออภัยโทษให้กับพ.ต.ท.ทักษิณจริง แต่เป็นการสร้างเงื่อนไขเพื่อกลับมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลต่อ โดยอ้างว่ารัฐบาลกลั่นแกล้งไม่ส่งเรื่องเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯต่อพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งวันนี้ไม่รู้ว่าคนรักทักษิณ จริงๆ ในกลุ่มคนเสื้อแดงนั้นมีถึง 30 เปอร์เซ็นต์หรือเปล่า เพราะที่สำคัญคือส่วนที่เหลือนั้นเป็นกลุ่มที่มีวาระซ่อนเร้น เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีแนวคิดเรื่องการล้มรัฐบาลและล้มสถาบันเบื้องสูง นายศุภชัย กล่าว

นายศุภชัย กล่าวว่า การถวายฎีกาฯที่ผ่านมาเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของขบวนการล้มรัฐบาลและล้มสถาบันเบื้องสูง ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าขบวนการล้มเจ้า มีอยู่จริง

สุเทพยันรบ.พิจารณาเสื้อแดงถวายฎีกาตามขั้นตอนปกติ

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 18 ส.ค.ว่า กรณีที่สำนักราชเลขาธิการส่งฎีกาของกลุ่มคนเสื้อแดง มาให้รัฐบาลให้ความเห็นประกอบ ว่า เป็นไปตามขั้นตอนปกติ เพราะรัฐบาลมีหน้าที่ตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริง และเหตุผล โดยกรณีผู้ที่ต้องโทษและต้องการขอพระราชทานอภัยโทษ ต้องรับโทษในระยะหนึ่ง เมื่อทำตัวดีสำนึกในความผิดที่ทำ ก็ทำเรื่องถวายฎีกาได้ โดยผ่านผู้บัญชาการเรือนจำมาถึงกรมราชทัณฑ์ ซึ่งกรมราชทัณฑ์จะมีกรรมการพิจารณาว่า เข้าหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้หรือไม่ จากนั้นจึงจะส่งเรื่องให้กระทรวงยุติธรรม เมื่อกระทรวงตรวจสอบแล้วจะส่งเรื่องมาที่สำนักนายกรัฐมนตรีขั้นตอนสุดท้าย คือ นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย จะทำหนังสือกราบบังคมทูล โดยสรุปเหตุผล ข้อกฎหมาย

นายสุเทพ กล่าวอีกว่า กรณีของกลุ่มเสื้อแดงก็เช่นเดียวกัน เมื่อได้รับเรื่องจากสำนักราชเลขาธิการ ก็ต้องส่งกลับไปให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการ กระทรวงยุติธรรมก็ต้องตรวจสอบอย่างละเอียด อาจจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเป็นพิเศษ เพราะเรื่องนี้อยู่ในความสนใจของประชาชน ต้องให้คนที่มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องนี้จริงๆ มาดำเนินการ และคงไม่สามารถกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาได้ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการจะพิจารณา ทั้งนี้ ทุกคนต้องเคารพกติกาของบ้านเมือง ขอยืนยันว่า จะดูแลหน่วยงานที่อยู่ในความรับผิดชอบ ให้พูดความจริงกับประชาชนทุกเรื่อง และแถลงข้อเท็จจริงทุกประการ ทุกอย่างจะเป็นไปด้วยความโปร่งใส และประชาชนเจ้าของประเทศไทย จะได้ทราบไปพร้อมๆ กัน

ส่วนการที่กลุ่มคนเสื้อแดงเตรียมแต่งดำ เพื่อกดดันรัฐบาลให้เร่งพิจารณาถวายฎีกา รองนายกฯ กล่าวว่า คนจะใส่เสื้อสีอะไรก็เป็นสิทธิ คงไม่สามารถห้ามได้ แต่ขอให้อย่าไปกังวลใจหรือไปคิดมาก ขณะเดียวกันการที่กลุ่มคนเสื้อแดงประกาศจะตั้งโรงเรียนคนเสื้อแดง เพื่อให้ความรู้ประชาธิปไตย ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ถ้าตั้งโรงเรียนแล้วสอนให้คนทำดีก็ตั้งได้ แต่ถ้าตั้งแล้วเสนอให้คนทำร้ายประเทศไทย ก็ตั้งไม่ได้ เป็นเรื่องธรรมดา ทุกอย่างว่าไปตามกฎหมาย รมว.ยธ.มึนยื่นฎีกาเพื่ออะไร ชี้ไม่เข้าเงื่อนไข ทุกอย่างจบ

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ถึงขั้นตอนการตรวจสอบการยื่นถวายฎีกาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า ขณะนี้ยังมาไม่ถึงมือตน เชื่อว่าอยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกสาร อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ตนยังไม่ทราบวัตถุประสงค์ของการถวายฎีกาในครั้งนี้ว่า เป็นเพื่อต้องการร้องทุกข์ หรือต้องการขอพระราชทานอภัยโทษ

หากพบว่าเป็นการขอพระราชทานอภัยโทษ จะส่งเรื่องให้กรมราชทัณฑ์ตรวจสอบและตรวจประวัติ พิจารณาในส่วนของอัตราโทษของผู้ที่ร้องขอ ก่อนจะส่งกลับมายังกระทรวงยุติธรรมพิจารณาตรวจสอบเอกสารที่ส่งมาว่าถูกต้องตามเงื่อนไขหรือไม่ ซึ่งหากพบว่าส่วนใดไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่กำหนด ก็ถือว่าจบ ไม่ต้องดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น นายพีระพันธุ์ กล่าว

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาหากเป็นการขอพระราชทานอภัยโทษ ต้องให้ญาติหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาส่งเรื่องและวัตถุประสงค์ที่แน่นอน แต่หากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่าทั้งหมดไม่เข้าเกณฑ์ ก็ถือว่าสิ้นสุดเช่นกัน ซึ่งไม่ต่างกับกระบวนการของศาล ที่ถูกตัดสินจากศาลชั้นต้นก็สามารถยื่นอุทธรณ์และฎีกาได้ตามลำดับ แต่หากศาลฎีกาพิจารณาพิพากษาลงโทษเช่นเดิม ก็ถือว่าสิ้นสุดแล้ว และที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมของไทยก็ไม่เคยมีปัญหา หากผู้ก่อเหตุไม่ยอมรับและฎีกาทุกคน บ้านเมืองก็จะเกิดความวุ่นวาย กรมคุกชี้แม้วไม่เคยรับโทษ อำนาจอยู่ที่รมว.ยธ. นายนัทธี จิตสว่าง อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงกรณีที่กรมราชทัณฑ์ ในฐานะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ โดยทำหน้าที่เป็นผู้ประมวลคำพิพากษาของคดีและพฤติการณ์ของผู้ต้องโทษว่าเคยมีพฤติการณ์หลบหนีและสำนึกผิดหรือไม่ รวมทั้งการตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิ์ถวายฎีกาตามประมวลกฎหมายอาญา เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมว่า กรณีการยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น พ.ต.ท.ทักษิณไม่เคยมีประวัติการรับโทษ ดังนั้น แม้กระทรวงยุติธรรมส่งเรื่องมาให้ทางกรมพิจารณา ก็คงไม่สามารถให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ ซึ่งในส่วนนี้กระทรวงยุติธรรมคงต้องไปตรวจสอบข้อมูลในทางคดีกับศาลได้เพียงอย่างเดียว

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อกรมราชทัณฑ์ไม่สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับพฤติการณ์ของพ.ต.ท.ทักษิณได้ ทำให้ผู้ที่จะพิจารณาความเหมาะสมกรณีฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ไปตกอยู่กับดุลพินิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแต่เพียงผู้เดียว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook