เปิดสูตรสมุนไพรต้านหวัดหลวงปู่ทวดอภัยภูเบศรยกนิ้ว

เปิดสูตรสมุนไพรต้านหวัดหลวงปู่ทวดอภัยภูเบศรยกนิ้ว

เปิดสูตรสมุนไพรต้านหวัดหลวงปู่ทวดอภัยภูเบศรยกนิ้ว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สธ.ชี้หวัด 2009 มีแนวโน้มระบาดเพิ่มปลายปี เตือนประชาชนอย่าประมาทป้องกันตนเอง เผยสถานการณ์รอบสัปดาห์ มีคนตายจากหวัด 2009 เพิ่ม 14 ราย รวมสะสม 111 ราย พร้อมพบผู้ป่วยเพิ่ม 25 จังหวัด ด้าน "ฮู" ชี้ ปัญหาทำวัคซีนเพาะเชื้อขึ้นไม่พอนั้น แค่เรื่องเทคนิค ไม่เป็นปัญหา เตรียมหารือผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนผ่านวีดีโอคอนเฟอเร้นท์จากเจนีวาพรุ่งนี้

วันที่ 19 ส.ค. พระราชเมธี เจ้าอาวาสวัดราชนัดดาราม กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ได้รับการติดต่อจากโยมที่คุ้นเคยกันโทรศัพท์ทางไกลมาหา จากเมืองไทเป ประเทศไต้หวัน ขณะที่คุยกันทางโทรศัพท์นั้น โยมคนดังกล่าวอ้างในขณะนั้นว่า เป็นร่างทรงของหลวงปู่ทวด และโทรศัพท์มาหาเพราะเป็นห่วงคนไทยในขณะนี้ที่ต้องเผชิญกับโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 จึงอยากจะแนะนำยาต้มสมุนไพร ที่สามารถป้องกันและรักษาโรคดังกล่าวได้ ซึ่งสูตรยาต้มตัวนี้ล้วนประกอบด้วยตัวยาสมุนไพรที่คนไทยคุ้นเคยกันดี และยังเป็นที่ยอมรับในหมู่นักวิชาการเรื่องยาสมุนไพรอีกด้วย

"หลวงพ่อเห็นว่าเป็นเรื่องดี และไม่น่าจะเสียหายตรงไหน หากได้เผยแพร่สูตรยาต้มสมุนไพร ตำหรับหลวงปู่ทวดนี้เป็นวิทยาทานให้กับประชาชนทั่วไป ตัวยาประกอบด้วย 1. ลูกใต้ใบ 2. ฟ้าทะลายโจร 3. ตะไคร้ 4. ขมิ้นอ้อย หรือขมิ้นชัน 5. หัวไพล 6. ใบมะรุม 7. ลูกมะตูมแห้ง 8. ลูกมะขามป้อม และ 9. อิฐมอญแดง 1 ก้อน ล้างสะอาด โดยเอาทั้งหมดในสัดส่วนที่เท่ากัน ต้มรวมกัน แล้วดื่ม เป็นได้ทั้งยาป้องกันและรักษา ก่อนหน้านี้ตัวหลวงพ่อเองเป็นหวัดทั้งไอและจามน้ำมูกไหลไม่หยุด พอได้ฉันยาสูตรนี้ รู้สึกจมูกโล่ง ตัวเบาขึ้น หลังจากนั้นก็ฉันยา ต้ม นี้มาตลอด อาการไอจาม ปวดเนื้อปวดตัวก็หายไปหมดเลย " พระราชเมธีกล่าว

ด้าน เภสัชกรหญิงสุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้าฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า หลังจากทราบสูตรยาหลวงปู่ทวดสูตรนี้จาก ทางโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรก็ลองเอามาปรุง ปรากฏว่า ตัวยาที่ได้อกมานั้นมีรสชาติดีมากไม่มีรสชาติขมอย่างที่คาดไว้ตอนแรก เพราะสมุนไพรแต่ละตัวส่วนใหญ่จะมีรสขม อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลายคนจะไม่เชื่อในเรื่องของร่างทรง หรือสิ่งที่อยู่เหนือจากการที่วิทยาศาสตร์จะเข้าไปพิสูจน์ แต่หากมาดูเฉพาะตัวยาสมุนไพรนั้นทุกตัวมีคำอธิบายทางวิชาการทั้งหมด คือ ลูกใต้ใบ หรือหญ้าใต้ใบนั้น เป็นยาสมุนไพรพื้นฐานที่คนไทยใช้กินแก้ไข้มานับพันปี ฟ้าทลายโจร ที่ขณะนี้มีผลการทดสอบทั้งทางคลินิก และหลอดทดลองว่า มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อไวรัสได้จริง ตะไคร้ มีฤทธิ์ในการเพิ่มภูมิคุ้มกัน ขมิ้นอ้อย หรือขมิ้นชัน มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ เมื่อเซลในร่างกายติดไวรัส ก็จะเกิดอนุมูลอิสระ ขมิ้นชัน หรือขมิ้นอ้อยจะเป็นตัวช่วยในการต้านอนุมูลอิสระอย่างดี ใบมะรุม ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น เพราะมีฤทธิ์เป็นยาร้อน มะตูม เป็นยาบำรุงกำลัง ส่วนอิฐมอญเผานั้นเป็น ธาตุดินช่วยปรับธาตุในร่างกาย

เภสัชกรหญิงสุภาภรณ์ กล่าวว่า การบอกว่า เป็นสูตรยาป้องกันและรักษาหวัดของหลวงปู่ทวดนั้น เป็นเหมือนการให้ความเคารพ ยกย่องนับถือ ในทางวิชาการไม่มีความเสียหาย ส่วนในด้านจิตวิยานั้น เมื่อผู้ป่วยมีความเชื่อและศรัทธา ก็จะยิ่งดีในแง่การรักษา ทั้งนี้ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 2-6 กันยายน ที่เมืองทองธานีนั้น ทางโรงพยาบาลฯจะปรุงยาสมุนไพรสูตรดังกล่าว แจกให้ประชาชนที่มาในงานทดลองดื่มด้วย

พญ.อรุณี ธิติธัญญานนท์ นักวิจัยภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า จากการที่ทางโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้ส่งสมุนไพรฟ้าทลายโจร มาทดสอบเรื่องการออกฤทธิ์ในการต้านไวรัส H1N1 ผลการทดสอบในหลอดทดลองที่มีเชื้อไวรัสตัวนี้ ในปริมาณเท่ากัน ปรากฏว่า ในหลอดทดลองที่ใส่ฟ้าทลายโจรลงไปนั้นเมื่อเวลาผ่านไป หลอดที่ใส่ฟ้าทลายโจรลงไปจะมีไวรัสเหลืออยู่น้อยกว่าหลอดที่ไม่ใส่ แต่เป็นเพียงผลเบื้องต้น ยังไม่สามารถสรุปออกมาชัดเจน แต่ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี และต่อจากนี้ก็จะทำการทดลองเพิ่มเติมเพื่อหากลไกการออกฤทธิ์ของสารในสมุนไพรชนิดนี้

ยอดผู้เสียชีวิตจากหวัด2009เพิ่ม 14 ราย

เมื่อเวลา 11.00 น. นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข แถลงข่าวสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 (โรคไข้หวัดใหญ่ 2009) ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดย นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯของไทย ในรอบ 7 วันที่ผ่านมา พบว่ามีแนวโน้มชะลอตัวในกทม.และปริมณฑล แต่ยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในต่างจังหวัด โดยพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 25 จังหวัด ซึ่งจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นจังหวัดที่มีตัวเลขผู้ป่วยพุ่งสูงที่สุดในขณะนี้ ซึ่งคงต้องติดตามหาสาเหตุต่อไป ทั้งนี้ในการแพร่ระบาดเมื่อพิจารณาตามช่วงอายุ พบว่าเริ่มชะลอตัวในกลุ่มอายุ 11-24 ปี โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ซึ่งผู้ว่าราชการและสาธารณสุขจังหวัดแต่ละจังหวัดได้ร่วมกันเฝ้าระวังและควบคุมโรคในพื้นที่

แนวโน้มการระบาดสำนักระบาดวิทยาคาดการณ์ว่า โรคยังมีแนวโน้มที่จะแพร่ระบาดในช่วง 2 เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว ประกอบกับระยะนี้เป็นช่วงแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลพร้อมกันไปด้วย จึงขอย้ำเตือนประชาชนอย่าละเลยการป้องกันตัว ขอให้ล้างมือด้วยน้ำสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ และคาดหน้ากากอนามัยเมื่อไปอยู่ในที่มีคนแออัด

นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ของไทยรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่ 9-15 สิงหาคม 2552 ได้รับรายงานผู้เสียชีวิต 14 ราย เป็นชาย7 ราย หญิง 7 ราย ในจำนวนนี้ร้อยละ85 มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคปอดหรือสูบบุหรี่จัด ภาวะอ้วน โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคไต โรคระบบเลือดและโรคเบาหวาน สรุปภาพรวมตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2552ถึงวันนี้ ไทยมีผู้เสียชีวิตรวม 111 ราย

"เตือนประชาชนในช่วง 2 เดือน อย่าเพิ่งประมาท เพราะเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว โดยขอให้ประชาชนระวังตัว ล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากาไปในชุมชน โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะเสี่ยง ที่มีโรครื้อรัง โรคอ้วน และหญิงตั้งครรภ์ ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ" นพ.ไพจิตร กล่าว และว่า ทั้งนี้ในกลุ่มประชาชนที่ไม่มีโรคประจำตัว แต่หากมีอาการปวดศีรษะ ไข้สูง และท้องเสีย ควรรีบไปโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง แต่สำหรับคนที่มีโรคประจำตัวและมีภาวะเสี่ยงต่อโรครุนแรงเมื่อเริ่มมีอาการควรไปโรงพยาบาลทันที ส่วนการการกระจายยาโอเซลทามีเวียร์ไปยังคลินิกนั้น ขณะนี้ได้มีการสรุปตัวเลขคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมโครงการกระจายยาแล้ว มีจำนวน 571 แห่ง จากจำนวนคลินิกทั่วประเทศ คิดเป็นร้อยละ 12.99

ดร.มัวรีน เบอร์มิงแฮม ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้องค์การอนามัยโลกแจ้งว่าประเทศต่างๆไม่จำเป็นต้องส่งข้อมูล จำนวนผู้ป่วยที่ตรวจยืนยันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่มายังองค์การอนามัยโลกเป็นประจำเช่นในระยะแรกของการระบาด และจะไม่มีการจัดอันดับประเทศตามจำนวนผู้ป่วยหรือผู้เสียชีวิตอีกต่อไป แต่สามารถติดตามข้อมูลสถานการณ์การระบาดในระดับนานาชาติทั้งจากองค์การอนามัยโลกและสื่อต่างๆ ซึ่งการรายงานเมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตแล้ว 1,735 ราย ขณะที่การแพร่ระบาดเกิดขึ้นเกือบทุกทวีปแล้ว ซึ่งในบางประเทศเริ่มพบการแพร่ระบาด เช่น มาเลเซีย อินเดีย ส่วนประเทศไทยนั้นการแพร่ระบาดเริ่มชะลอตัวลดลง

ดร.มัวรีน กล่าวต่อว่า ในการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นั้น ทางองค์การอนามัยโลกได้ร่วมกับประเทศสมาชิกเพื่อทำการประเมินและติดตามปัญหา และนำมาใช้ประโยชน์ในการวางแผนควบคุมและรับมือการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ได้ร่วมมือในเรื่องนี้ โดยมีการจัดตั้งทีมงานวิชาการร่วมกัน โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากเจนีวา และฮ่องกง เพื่อร่วมกันทบทวนยุทธศาสตร์ต่างๆ ตลอดจนประสบการที่ได้ดำเนินการมา

ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัญหาการผลิตวัคซีนของทางองค์การเภสัชกรรมซึ่งพบว่าความเข้มข้นของเชื้อในตัวไข่นั้น ได้น้อยกว่าที่จะนำมาทดลองฉีดได้ ทางองค์การอนามัยโลกจะแนะนำอย่างไร ดร.มัวรีน กล่าวว่า รายละเอียดทางเทคนิคเกี่ยวกับวัคซีนนี้สามามารถดูได้ทางเว็บไซด์องค์การอนามัยโลก และปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ปัญหาสำคัญอะไร เป็นแค่เรื่องทางเทคนิคเท่านั้น และในวันพรุ่งนี้ (20 ส.ค.) จะมีการนำเรื่องนี้หารือในการประชุมผ่านวีดีโอคอนเฟอเร้นท์กับทางเจนีวาเพื่อขอคำแนะนำด้านเทคนิค อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาทั้งผู้เชี่ยวชาญในการทำวัคซีนของไทย และองค์การอนามัยโลกได้มีการพูดคุยกันเป็นระยะๆ อยู่แล้ว

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ โฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการประมาณการผู้ติดเชื้อโรคไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ขณะนี้ใช้หลักการคำนวณทางวิชาการ เป็นการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ ซึ่งทำให้ทราบข้อมูลที่ใกล้เคียงความเป็นจริง โดยผู้เสียชีวิต 1 รายจะมีผู้ป่วยประมาณ 10,000 ราย ซึ่งที่ผ่านมาคาดว่าประเทศไทยน่าจะมีผู้ป่วยอยู่ที่ 500,000 รายแล้ว อย่างไรก็ตามขณะนี้ทางสำนักระบาดได้มีการคาดการณ์ตัวเลขใหม่แล้ว ซึ่งเป็นตัวเลขที่คำนวณในช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคม และจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะทำด้านยุทธศาสตร์ในวันจันทร์ที่ 24 ก.ค. นี้

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook