ธปท.ผนึกไทยพาณิชย์เสริมเกราะผู้ประกอบการตะวันออกรับมือเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง

ธปท.ผนึกไทยพาณิชย์เสริมเกราะผู้ประกอบการตะวันออกรับมือเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ร่วมกับ ธนาคารไทยพาณิชย์จัดเสวนาใบโพธิ์ Business Forum หัวข้อ "แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจและแนวทางการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ประเมินภาวะเศรษฐกิจและการเงินครึ่งปีหลัง 2552 ให้ผู้ประกอบการในภาคตะวันออก เพื่อเตรียมแผนธุรกิจพร้อมรับมือการแข่งขันได้เมื่อภาวะวิกฤตคลี่คลาย

นายไตรรงค์ บุตรากาศ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า "ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาธนาคารมีนโยบายมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจและการสนับสนุนทางการเงิน เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ทั้งตลาดในประเทศและตลาดโลก โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังที่เหลือของปี 2552 นี้ ผู้ประกอบการยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายในการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจ ธนาคารจึงได้ร่วมกับ ธปท. จัดสัมมนาในครั้งนี้ขึ้น เพื่อเสริมสร้างทักษะความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนให้แก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งเป็นเสมือนเครื่องมือสำคัญในการผลักดันธุรกิจให้เติบโตอย่างมีศักยภาพ รวมถึงการให้ข้อมูลล่าสุดภาวะเศรษฐกิจเพื่อให้ผู้ประกอบการวางแผนธุรกิจรองรับได้อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ในภาคตะวันออก ที่มีเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นเขตพื้นที่ธุรกิจและแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญที่สร้างรายได้ให้ประเทศได้อย่างมหาศาล

นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงภาพรรวมเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกว่า "เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปีที่เศรษฐกิจโลกหดตัวจากวิกฤตการณ์สถาบันการเงินโลก ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและภาคเศรษฐกิจสำคัญ รวมถึงก่อให้เกิดความผันผวนของค่าเงิน และการเคลื่อนย้ายเงินทุนทั่วโลก ในระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบประเทศต่างๆได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและปล่อยสภาพคล่องให้แก่สถาบันการเงินสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แม้ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญที่ออกมาเริ่มแสดงสัญญาณของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจคงต้องใช้ระยะเวลาอีกระยะหนึ่งจึงจะกลับคืนเข้าสู่ภาวะปกติ สำหรับภาวะเศรษฐกิจของไทย ขณะนี้มีเสถียรภาพอยู่ในเกณฑ์ดี การส่งออกสินค้าและบริการไปต่างประเทศปรับตัวดีขึ้น แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกยังจะขยายตัวต่ำกว่าแนวโน้มในอดีตจากกำลังการผลิตส่วนเกินที่ยังคงมีอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ดังนั้น SMEs ที่ประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ จำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อการวางแผนธุรกิจ รวมถึงการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ให้มากขึ้น

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทย และผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกว่า "วิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ส่งผลมายังเศรษฐกิจไทยใน 2 ภาคหลักๆ คือ ภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยว โดยที่ยอดการส่งออกได้ลดลงจากจุดสูงสุดมายังจุดต่ำสุดประมาณ 40% ทำให้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมมีการหดตัวสูงเป็นประวัติการณ์ยิ่งกว่าเมื่อวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 โดยอยู่ที่ประมาณ 20% แต่สัญญาณที่ดีก็คือ ตัวชี้วัดต่างๆ ของเศรษฐกิจโลก แสดงให้เห็นว่าน่าจะใกล้ถึงจุดต่ำสุดแล้ว โดยภาคการผลิตอุตสาหกรรมจะเริ่มดีขึ้น ซึ่งมองว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะถึงจุดต่ำสุดเมื่อไตรมาส 2 ที่ผ่านมา และจะค่อยๆ ดีขึ้น เบ็ดเสร็จแล้ว ส่งผลทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจปีนี้จะหดตัวประมาณ 4-4.5% และจะกลับมาขยายตัวประมาณ 3.5-4% ในปี 2553 โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดที่ยังเหลืออยู่สำหรับเศรษฐกิจไทย ซึ่งไม่ใช่การส่งออก แต่เป็นเรื่องของการท่องเที่ยว จะเห็นได้จากการหดตัวหป็นประวัติการณ์ในปีนี้ และแนวโน้มการฟื้นตัวจะช้าตามสภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะยุโรป ที่จะฟื้นตัวช้ากว่าภูมิภาคอื่นๆ รวมถึงความไม่สงบทางด้านการเมืองที่ผ่านมาของไทยเอง ทั้งนี้ การท่องเที่ยวที่หดตัวลงมีผลสำคัญต่อภาพรวมเศรษฐกิจของไทย เนื่องจาก ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และการค้าปลีก มีการจ้างงานโดย SME ในสัดส่วนที่สูงกว่าภาคการผลิตมาก คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 80-90% เมื่อเทียบการจ้างงานโดย SME ในกลุ่มการผลิตอุตสาหกรรม ที่มีจ้างงานรวมไม่ถึง 30%

นายณัฐวุฒิ สัจจพุทธวงค์ นักเศรษฐศาสตร์การเงินอาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ด้านทิศทางค่าเงินและการบริหารความเสี่ยงทางการเงินนั้น พบว่า ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทของไทยเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินสกุลอื่น ๆ อีกหลายสกุล อันเป็นผลมาจากการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศที่เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ทั้งในส่วนของดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลบัญชีเงินทุน อย่างไรก็ตามแนวโน้มในอนาคตยังคงคาดว่าจะมีเงินตราต่างประเทศไหลเข้ามายังประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งตลาดเงินยังคงมีความเปราะบางและผันผวนอยู่ค่อนข้างมาก อาจจะส่งผลให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนเพิ่มสูงขึ้นได้ในอนาคต ผู้ประกอบการควรจะให้ความสนใจต่อการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้นเพื่อป้องกันมิให้รายรับและผลกำไรของธุรกิจผันผวนไปตามสภาพตลาดการเงิน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook