ไทยผนึกทีเซป-ซิป้าลุยแดนตากาล็อก ตั้งเป้าขายซอฟแวร์ 50 ล้าน

ไทยผนึกทีเซป-ซิป้าลุยแดนตากาล็อก ตั้งเป้าขายซอฟแวร์ 50 ล้าน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นายประมุข มนตริวัต ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมธุรกิจบริการ กรมสงเสริมการสงออก เปิดเผยว่า กรมร่วมกับสมาคมส่งเสริมอุตสาหกรรมส่งออกซอฟต์แวร์ไทย(TSEP) และสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) เปิดรับนักธุรกิจซอฟแวร์ไทยร่วมเดินทางไปเปิดตลาดซอฟต์แวร์ไทยในฟิลิปปินส์ โดยเน้นสาขาการเงินธนาคาร ก่อสร้างและธุรกิจบริการ เช่น โรงแรม ท่องเที่ยว ขนส่ง คาดว่าจะมีเม็ดเงินกลับเข้าประเทศไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท

"กรมไม่ได้คาดหวังจะนำเม็ดเงินจะกลับเข้าประเทศเป็นหลัก แต่หวังว่าจะสร้างเครือข่ายและความสัมพันธ์ในระยะยาวกับธุรกิจที่มีหน่วยงานภาครัฐถือหุ้นเป็นหลัก เนื่องจากการทำงานที่จะประสบความสำเร็จในทุกธุรกิจ ย่อมต้องมีระบบปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพสูงเป็นฐานรองรับ ประกอบกับไทยมีฐานการผลิตในอุตสาหกรรมซอฟแวร์ ที่ฟิลิปปินส์เป็นแหล่งรองรับ ดังนั้นการส่งเสริมอย่างต่อเนื่องในธุรกิจนี้ จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จสูง ซึ่งผู้ประกอบการใดสนใจเข้าร่วมเดินทาง(โรดโชว์)ไปฟิลิปปินส์กับกรมขอให้แจ้งความจำนงก่อนการเดินทางในวันที่ 18 กันยายนนี้ นายประมุข กล่า

น.ส.นิรชราภา ทองธรรมชาติ รองผอ.การตลาดต่างประเทศ ซิป้า กล่าวว่า การวางระบบและพัฒนาซอฟแวร์ ถือเป็นความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ที่ควรได้รับการสนับสนุนและต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ขณะนี้ได้เสนอให้กระทรวงพาณิชย์และเอสเอ็มอีแบงก์ร่วมกับจัดตั้งกองทุนให้กู้ยืมและประกันความเสี่ยงการขยายตลาดในต่างประเทศของผู้ประกอบการไทย ซึ่งคาดว่าจะได้งบประมาณจัดตั้งเบื้องต้น1-2 พันล้านบาท

"เป็นโอกาสดีที่รัฐบาลให้ความสนใจ จัดทำโครงการครีเอทีฟไทยแลนด์ในธุรกิจที่มีศักยภาพและทิศทางที่จะสร้างรายได้เข้าประเทศ เชื่อว่าจะทำให้การเติบโตในธุรกิจนี้เพิ่มขึ้นอีก 30% จากตลาดซอฟแวร์ส่งออกที่มีมูลค่ากว่า 2,200 ล้านบาท ในขณะที่ตลาดซอฟแวร์ภายในประเทศมีมูลค่าประมาณ 67,000 ล้านบาท ซึ่งอัตราการเติบโตในแต่ละปีน้อย

สำหรับการเปิดตลาดในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ได้พบข้อมูลหลายประการที่มีความสำคัญมาก เพราะช่วยให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟแวร์ไทย รวมถึงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่จะพัฒนาซอฟแวร์ให้สามารถแข่งขันกับนานาชาติ

นายกิตตินันท์ อนุพันธ์ อุปนายกสมาคมฯ กล่าวว่า หลังจากประสบความสำเร็จในการทำตลาดที่เวียดนามมียอดขายถึง 400 ล้านบาทและญี่ปุ่น 20 ล้านบาท โครงการที่ฟิลิปินส์จะประสบความสำเร็จไม่แพ้เวียดนาม เพราะพื้นฐานของประเทศที่กำลังพัฒนาจะมีการลงทุนในแต่ละภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ส่วนประเทศต่อไปที่จะทำตลาด คืออินโดนีเซีย คาดว่าจะเดินทางไปในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพราะคู่แข่งที่เป็นกลุ่มท้องถิ่นยังไม่แข็งแกร่งพอ

อีกทั้งกลุ่มผู้ประกอบการของฟิลิปปินส์ยังมีงบประมาณค่อนข้างจำกัด หากต้องการซื้อซอฟแวร์แพงจากประเทศในฝั่งตะวันตก ทำให้ซอฟแวร์ไทยมีโอกาสที่จะเข้าไปเจาะตลาดได้ง่าย เนื่องจากซอฟแวร์ไทยมีจุดแข็งที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของลูกค้า ราคาไม่สูงเกินไป ทั้งนี้สมาคมฯมีเป้าหมายว่า ภายใน 5 ปีจะส่งเสริมและผลักดันให้บริษัทของคนไทยไม่น้อยกว่า 5 ราย เป็นนักวางระบบของเอเซีย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook