สทศ.ปรับข้อสอบGAT-PATลดปัญหาทิ้งดิ่ง

สทศ.ปรับข้อสอบGAT-PATลดปัญหาทิ้งดิ่ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
จุรินทร์สั่งสังคายนาระบบคัดเลือกใหม่หาคำตอบข้อสอบคิดวิเคราะหืได้จริงหรือ

ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สทศ.กำลังปรับข้อสอบการทดสอบความถนัด ทั่วไป หรือ GAT และข้อสอบการทดสอบความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ หรือ PAT ที่จะใช้สอบครั้งที่ 3 เดือนตุลาคมนี้ เพื่อต้องการลดปัญหาการเดาข้อสอบหรือทิ้งดิ่งของนักเรียน โดย สทศ.จะปรับกระดาษคำตอบจากข้อสอบปรนัยเดิมที่เด็กสามารถทิ้งดิ่งและมีสิทธิเดาถูกถึง 25% ด้วยการเพิ่มตัวเลือกคำตอบให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้เปอร์เซ็นต์การเดาของเด็กลดลง รวมถึงจะเพิ่มเนื้อหาในการคิดวิเคราะห์มากขึ้นด้วย ซึ่งหมายความว่าเด็กจะต้อง อ่านเนื้อเรื่องทั้งหมดก่อนจึงจะสามารถตอบคำถามได้

ผอ.สทศ. กล่าวต่อไปว่า ส่วนกรณีที่นักวิชาการวิจารณ์ถึงการให้คะแนนติดลบในการสอบ GAT ตอนที่ 1 ของ สทศ.ว่าเหมาะสมหรือไม่ นั้น ขอชี้แจงว่าการที่ สทศ.ทำเช่นนี้ เพราะข้อสอบนี้เป็นข้อสอบที่ต้องการให้เด็กอ่านและวเคราะห์ก่อนตอบ และคำตอบมีหลายตัวเลือก อีกทั้ง สทศ.ต้องการวัดคุณภาพของเด็ก ที่สามารถคิด วิเคราะห์ได้ ไม่ใช่วัดความสามารถในการเดา อย่างไรก็ตาม สทศ.จะมีการทำวิจัยถึงผลดีและผลเสียของการให้คะแนนติดลบ ซึ่งหากพบว่ามีผลดีก็จะขยายการให้คะแนนติดลบในอีกหลาย ๆ วิชา แต่ถ้าพบว่ามีผลเสียก็จะลดจำนวนวิชาลง

สทศ.เคยทดลองให้นักศึกษาชั้นปี 2 มาทำข้อสอบ GAT และ PAT วิชาวิทยาศาสตร์ ความถนัดทางวิชาชีพครู คณิตศาสตร์ พบว่า นักศึกษาสามารถทำคะแนนได้สูงกว่านักเรียน ม.6 ถึง 2-3 เท่า แสดงว่า ข้อสอบนั้นสามารถวัดความรู้ของเด็กได้ว่า สามารถเรียนต่อมหาวิทยาลัยได้หรือไม่ ทั้งนี้ สทศ.กำลังคิดที่จะทดลองจัดสอบทุกวิชาให้แก่นักศึกษาที่ กำลังเรียนในมหาวิทยาลัย เพื่อนำผลมาวิเคราะห์เสนอต่อที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ด้วย ศ.ดร.อุทุมพรกล่าว

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากผลการสอบ GAT และ PAT ครั้งที่ 2 พบว่า เด็กจำนวนไม่น้อยทำข้อสอบไม่ได้ ซึ่งอาจารย์บางคนก็วิจารณ์ว่า ข้อสอบยากเกินไปขนาดอาจารย์มหาวิทยาลัยก็ยังทำไม่ได้ ขณะที่ สทศ. ก็ยืนยันว่าเป็นข้อสอบที่เน้นการคิดวิเคราะห์นั้น ก็คงต้องย้อนกลับไปถามสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ได้สอนให้เด็กคิดวิเคราะห์หรือไม่ หากสอนให้ท่องจำก็ถือเป็นกรรมของเด็ก เพราะคงไม่สามารถทำข้อสอบได้ ขณะที่มหาวิทยาลัยก็หนีไปรับตรงมากขึ้น ซึ่งตนก็ไม่ทราบว่าอะไรจริงไม่จริง ดังนั้นคงต้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมสังคายนาหรือปฏิวัติระบบการคัดเลือกกันใหม่ โดยให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เป็นเจ้าภาพเชิญทุกฝ่าย ทั้งนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครองและผู้ใช้บัณฑิตเข้าร่วม เพื่อให้ระบบการคัดเลือกเที่ยงตรง แม่นยำ ไม่เป็นภาระกับเด็กเกินควร.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook