นักวิจัยไทย เผย ความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญทำให้เยาวชนในพื้นที่ภาคใต้มีพฤติกรรมก้าวร้า

นักวิจัยไทย เผย ความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญทำให้เยาวชนในพื้นที่ภาคใต้มีพฤติกรรมก้าวร้า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นักวิจัยไทย เผย ความรุนแรงในครอบครัว เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญทำให้เยาวชนในพื้นที่ภาคใต้มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง แนะพม.เป็นหน่วยหลักขัดเกลาจิตใจ หวั่นเด็กกลายเป็นคนชายขอบของสังคม ผศ.มานพ จิตต์ภูษา ผู้อำนวยการแผนงานวิจัยปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวถึงผลงานวิจัยด้านการศึกษาปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการสนับสนุนงบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปี 2551 ว่า ได้ศึกษาปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อพฤติกรรมก้าวร้าวของเยาวชนไทยมุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และแนวทางแก้ไขและป้องกันปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าว โดยได้สำรวจเยาวชนไทยมุสลิมจำนวน 4,320 คน อายุระหว่าง 15-20 ปีในพื้นที่ พบว่าเยาวชนไทยมุสลิมที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวเพียงร้อยละ 22.3 เท่านั้น ขณะที่ร้อยละ 77.7 ไม่เคยมีพฤติกรรมก้าวร้าว โดยพบว่าเยาวชนไทยมุสลุมในช่วงอายุที่แตกต่าง มีพฤติกรรมก้าวร้าวที่ต่างกันออกไป โดยพบว่าเยาวชนที่มีอายุมากกว่า 19 ปีขึ้นไป จะมีพฤติกรรมก้าวร้าวสูงกว่าเยาวชนที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปีอย่างมีนัยสำคัญ สาเหตุหลักมาจากความรุนแรงในครอบครัว เห็นพ่อแม่ทะเลาะตบตีกัน ความห่างไกลจากศาสนา และการเล่นเกม อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยจัดทำโปรแกรมฝึกอบรมขัดเกลาตามจิตใจเด็กและเยาวชนในพื้นที่ตามรูปแบบอิสลาม โดยทำโครงการเมืองน่าอยู่สำหรับเด็กและเยาวชนขึ้น ซึ่งเน้นการสอดแทรกเนื้อหาที่เกี่ยวกับศาสนาเข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอนต่างๆ พร้อมกับจัดสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับเยาวชน และเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นภายใต้กิจกรรมต่างๆ มากมายให้เข้าร่วมทุกวันอาทิตย์ในช่วงเย็น อาทิ ถนนเด็กเดิน ที่มีทั้งกิจกรรมทาสีตามผาผนัง การปั่นจักรยาน เพื่อหลอมรวมจิตใจของคนในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมปรับเปลี่ยนและพัฒนากระบวนคิดของเด็กให้ถูกต้องและต่อเนื่อง เนื่องจากขณะนี้เด็กกลายเป็นวัตถุการแย่งชิง ทั้งความมั่นคง และการเมือง สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นตอนนี้ได้มีกระจายอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดละ 1 แห่งเท่านั้น ตามเขตเทศบาลเมือง ซึ่งปัญหาที่ประสบอยู่ขณะนี้ไม่ค่อยมีความต่อเนื่อง และไม่มีหน่วยงานเฉพาะเข้ามาดูแล ซึ่งหากไม่ดูแล ในระยะยาวอาจทำให้เด็กในพื้นที่กลายเป็นคนชายขอบของสังคมต่อไป อย่างไรก็ตาม ต้องการเสนอให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เข้ามารับผิดชอบดูแลเรื่องนี้ โดยสนับสนุนกำลังคนเป็นหลัก เนื่องจากปัจจุบันเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ไม่เพียงพอ เพราะเกรงกลัวอันตราย พร้อมกันนี้ ต้องการให้ประสานและบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ องค์กรพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้การทำงานเป็นรูปธรรมมากขึ้น และจะเสนอเรื่องนี้ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯพิจารณาต่อไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook