สภานิติบัญญัติจีนลงมติรับ "ประมวลกฎหมายแพ่ง" ฉบับแรกของประเทศ

สภานิติบัญญัติจีนลงมติรับ "ประมวลกฎหมายแพ่ง" ฉบับแรกของประเทศ

สภานิติบัญญัติจีนลงมติรับ "ประมวลกฎหมายแพ่ง" ฉบับแรกของประเทศ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปักกิ่ง, 28 พ.ค. (ซินหัว) — วันพฤหัสบดี (28 พ.ค.) สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจีนลงมติรับรองประมวลกฎหมายแพ่งฉบับแรกของประเทศ ณ ที่ประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) ชุดที่ 13 ครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติสูงสุด โดยประมวลกฎหมายแพ่งข้างต้นจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2021

นอกจากบทบัญญัติทั่วไปและบทบัญญัติเพิ่มเติมแล้ว ประมวลกฎหมายแพ่งฉบับนี้ ซึ่งเป็นกฎหมายแพ่งยุคใหม่ฉบับล่าสุดของโลก ประกอบด้วย 6 ส่วน ได้แก่ ทรัพย์สิน สัญญา สิทธิในสถานะบุคคล การสมรสและครอบครัว มรดก และความรับผิดทางละเมิด

ส่วนนำของประมวลกฎหมายแพ่งฉบับนี้ระบุว่าสิทธิส่วนบุคคล สิทธิในทรัพย์สิน และสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายอื่นๆ ตลอดจนผลประโยชน์ของคู่สัญญาต่อนิติสัมพันธ์ทางแพ่งนั้น ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายและไม่อาจถูกละเมิดโดยองค์กรหรือบุคคลใด

สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจีนระบุว่าการจัดทำประมวลกฎหมายครั้งนี้มิใช่การออกกฎหมายแพ่งฉบับใหม่ แต่เป็นการประมวลข้อกฎหมายและกฎข้อบังคับทางแพ่งต่างๆ ที่มีอยู่แล้วอย่างเป็นระบบ รวมถึงแก้ไขและพัฒนากฎหมายเหล่านี้ให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ แต่ยังรักษาความมั่นคงและสอดคล้องกันของกฎหมาย

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประมวลกฎหมายแพ่งของจีนปรากฏให้เห็นประจักษ์ชัดเจนในบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิในสถานะบุคคล ขณะที่บางประเทศมีบทบัญญัติทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่มีเพียงไม่กี่ประเทศที่ระบุกฎหมายเฉพาะลงในประมวลกฎหมายโดยมุ่งคุ้มครองสิทธิในสถานะบุคคล

บทบัญญัติว่าด้วยสิทธิในสถานะบุคคล ครอบคลุมข้อบัญญัติว่าด้วยสิทธิของบุคคลในทางแพ่ง ทั้งชีวิต ร่างกาย สุขภาพ ความคิดเห็น รูปลักษณ์ ชื่อเสียง ความเป็นส่วนตัว ฯลฯ

เฉินจิงอิ๋ง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจีนและรองอธิการบิดีมหาวิทยาลัยรัฐศาสตร์และกฎหมายหัวตง (ECUPL) ระบุว่าบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิในสถานะบุคคลเผยให้เห็นว่าจีนได้บรรลุความก้าวหน้าครั้งใหม่ในการพิทักษ์ศักดิ์ศรีของประชาชน

หวังอี้ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเหรินหมินแห่งประเทศจีน (RUC) ชี้ว่าประมวลกฎหมายแพ่งนี้เป็นหมุดหมายแห่งการพัฒนาระบบกฎหมายสังคมนิยมอันมีอัตลักษณ์จีน และจะช่วยผลักดันการเสริมสร้างความเป็นสมัยใหม่แก่ระบบและความสามารถในการกำกับดูแลของจีนได้อย่างมาก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook