สภาที่ปรึกษาฯ แนะปฏิรูป รฟท. แทนแปรรูป

สภาที่ปรึกษาฯ แนะปฏิรูป รฟท. แทนแปรรูป

สภาที่ปรึกษาฯ แนะปฏิรูป รฟท. แทนแปรรูป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายณรงค์ เพชรประเสริฐ ประธานคณะทำงานกระจายรายได้ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวในการเป็นประธานเปิดงานสัมมนา "แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ปฏิรูปการรถไฟเข้มแข็ง" เพื่อระดมความคิดเห็นและชี้แจง แผนปฏิรูป รฟท. ซึ่งผลที่ได้จะนำเสนอต่อภาครัฐบาล ไปกำหนดแนวทางต่อไป โดยนายณรงค์ มองว่าในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยละเลยการพัฒนาระบบขนส่งทางราง แต่กลับมุ่งเน้นการขนส่งทางรถยนต์เป็นหลัก ทั้งที่ไทยมีความพร้อมด้านระบบรางและการขนส่งทางน้ำ ที่มีต้อนทุนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับรถยนต์

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยมีต้นทุนการขนส่งสินค้าออกต่างประเทศสูงถึงร้อยละ 20 ของมูลค่าการส่ง ซึ่งถือว่าสูงมาก หากเทียบกับต่างประเทศ ที่ส่วนใหญ่เน้นการขนส่งแบบเชื่อมโยงโดยเฉพาะระบบราง แต่ไทยมีการวางกรอบการบริหารงานเกี่ยวกับระบบรางค่อนข้างช้ามาก และมักจะพูดอยู่เสมอหากกิจการใดขาดทุนก็ให้แปรรูป จนทำให้เกิดการมองว่า จะกลายเป็นกิจการของต่างชาติไป ตนจึงเห็นว่าควรหันมาใช้การปฏิรูประบบการทำงานแทน ซึ่งที่ผ่านก็ไม่มีนโยบายที่ชัดเจนจากรัฐบาลที่ถือเป็นหัวใจสำคัญ

"แม้ที่ผ่านมา รฟท. จะมีปัญหาขาดทุน แต่สามารถปฏิรูปแทนการแปรรูปได้ แต่ก็ยังไม่ได้ดำเนินการ หากมีการปฏิรูป การบริหาร การบริการและการจัดการและอื่นๆ ได้ เชื่อว่าจะแข่งขันและวางกรอบการบริหารการจัดการได้ดี แต่ที่ผ่านมายังไม่เห็นนโยบายที่ชัดเจนขอรัฐบาล ว่าจะให้ปฏิรูปอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายรอความชัดเจนจากรัฐบาล" นายณรงค์กล่าว

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ทางกลุ่มสหภาพไม่ขัดข้อง และเห็นด้วยหากรัฐบาลจะปฏิรูปแทนการแปรรูป ซึ่งที่ผ่านมาได้ยื่นเงื่อนไขให้กับรัฐบาล หากต้องการปฏิรูป รฟท. ก็พร้อมดำเนินการ เพราะเชื่อว่า รฟท. โดยเฉพาะระบบรางคู่ ที่กล่าวถึงกันมานานแล้ว ทั้งนี้ รฟท.สามารถแข่งขันต่างประเทศได้ แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่เห็นแนวทางความชัดเจนของรัฐบาล ว่าจะให้ปฏิรูปอย่างไร เพราะหากดูจากระบบรางคู่ หากสามารถปฏิรูปและมีแผนก่อสร้างชัดเจน นอกเหนือจากจะช่วยระบบการขนส่งโดยเฉพาะโลจิสติกส์ ยังสามารถให้บริการแก่ประชาชนได้เต็มที่ ไม่เพียงแต่ในเรื่องของการปฏิรูประบบรางเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลต้องมีการปรับเปลี่ยนหัวจักร เส้นทาง เพราะเห็นว่ามีการใช้มานานแล้ว หากปรับและย่นเส้นทางได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการขนส่ง

ส่วนความพร้อมการเปิดให้บริการแอร์พอร์ตลิงก์ที่จะเชื่อมไปสนามบินสุวรรณภูมิ สหภาพฯ รฟท.ไม่ขัดข้องหากจะเปิดดำเนินการเดินรถใน 5 ธันวาคม 2552 นี้ แต่สิ่งที่ติดขัดโดยเฉพาะเมื่อแอร์พอร์ตลิงก์อยู่ภายใต้การบริหารงานของ รฟท. นั้น หนี้สะสม 35,000 ล้านบาทจากการก่อสร้าง หน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบ และสุดท้ายหากให้ รฟท. เป็นผู้รับผิดชอบเงินจำนวนดังกล่าวก็ถือเป็นภาระภาษีของประชาชนโดยตรง ซึ่งรัฐบาลต้องทำความเข้าใจกับสาธารณะและสหภาพฯ .-สำนักข่าวไทย

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook