แอมเนสตี้ สหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ กรณีการประท้วงจากการเสียชีวิตของ “จอร์จ ฟลอยด์”

แอมเนสตี้ สหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ กรณีการประท้วงจากการเสียชีวิตของ “จอร์จ ฟลอยด์”

แอมเนสตี้ สหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ กรณีการประท้วงจากการเสียชีวิตของ “จอร์จ ฟลอยด์”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สืบเนื่องจาก วันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา ตำรวจมินนิอาโปลิส ได้เข้าทำการตรวจค้นตัว จอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำวัย 46 ปี โดยในระหว่างการจับกุม เจ้าหน้าที่ได้ใช้เข่ากดทับที่คอนายฟลอยด์เป็นเวลาหลายนาที ทั้งที่นายฟลอยด์ถูกล็อคมือไขว้หลังไว้ด้วยกุญแจมือ และร้องบอกตำรวจว่า "หายใจไม่ออก" และร้องขอชีวิตแล้วก่อนจะหมดสติและเสียชีวิตในเวลาต่อมา เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับพลเมืองสหรัฐฯ และนำไปสู่การชุมนุมประท้วงในกว่า 30 เมืองใหญ่ในสหรัฐฯ

เรเชล วอร์ด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหรัฐอเมริกา ได้ออกมาแถลงต่อปฏิบัติการของตำรวจตามเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในระหว่างการชุมนุมประท้วงเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ตำรวจสหรัฐฯ ทั่วประเทศต่างไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีของกฎหมายระหว่างประเทศ ที่จะต้องเคารพและอำนวยให้มีการใช้สิทธิในการชุมนุมประท้วงอย่างสงบ ส่งผลให้สถานการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้น และทำให้ชีวิตของผู้ประท้วงตกอยู่ในอันตราย โดยในหลายเมืองมีปฏิบัติการที่อาจถือได้ว่าเป็นการใช้กำลังโดยไม่จำเป็นหรือเกินกว่าเหตุ จึงเรียกร้องให้ยุติการใช้กำลังของผู้รักษากฎหมายเช่นนี้โดยทันที เพื่อประกันและคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายในการชุมนุมประท้วง

“การใช้อุปกรณ์ปราบจลาจลขั้นวิกฤต อาวุธและอุปกรณ์ทางการทหาร เพื่อควบคุมผู้ชุมนุมประท้วงที่ส่วนใหญ่เป็นไปอย่างสงบ การกระทำเช่นนี้อาจเป็นการข่มขู่ผู้ประท้วงที่ออกมาใช้สิทธิในการชุมนุมอย่างสงบ ยุทธวิธีเช่นนี้ยังอาจเร่งให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น การที่เจ้าหน้าที่ติดอาวุธราวกับจะออกไปปฏิบัติการในสนามรบ อาจจะกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่คิดว่า การเผชิญหน้าและสงครามความขัดแย้งนี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ตำรวจต้องมีส่วนร่วมในการลดความตึงเครียด ก่อนสถานการณ์จะเลวร้ายยิ่งขึ้น โดยลดแนวปฏิบัติที่ก้าวร้าวแบบทหาร และเข้าร่วมการเจรจากับแกนนำผู้ประท้วง เพื่อลดความตึงเครียดและเพื่อป้องกันความรุนแรง หรือเพื่อยุติความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุด ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบ”

“การใช้กำลังที่ไม่จำเป็นหรือเกินกว่าเหตุต้องยุติลงทันที และต้องมีการสอบสวนการใช้กำลังที่อาจไม่จำเป็นหรือเกินกว่าเหตุในทุกกรณีต่อผู้ประท้วง และเจ้าหน้าที่ที่ละเมิดกฎหมายต้องรับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าว”

“นอกจากนั้น เราเรียกร้องรัฐบาลกลาง เมืองและรัฐต่าง ๆ ในสหรัฐฯ ให้ดำเนินการโดยเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อแก้ไขสาเหตุที่แท้จริงของการประท้วงเหล่านี้ และใช้มาตรการอย่างเร่งด่วนเพื่อยุติการสังหารอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายของตำรวจต่อคนผิวสีและคนอื่น ๆ เจ้าหน้าที่ต้องถูกดำเนินคดี รัฐทุกแห่งในสหรัฐฯ ต้องออกกฎหมายเพื่อจำกัดการใช้กำลังรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต โดยให้ใช้เป็นมาตรการสุดท้ายเพื่อป้องกันภัยคุกคามที่กำลังจะทำให้เสียชีวิต และรัฐสภาควรผ่านร่างกฎหมาย PEACE Act เพื่อกำหนดมาตรฐานในส่วนกลางและกระตุ้นให้เกิดการปฏิรูประดับรัฐ”  

แนวคิดแบ่งแยกเชื้อชาติและแนวคิดที่เชิดชูคนผิวขาวต่างเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการสังหารเหล่านี้ และสนับสนุนปฏิบัติการของตำรวจต่อการประท้วง รัฐบาลกลางควรจัดตั้งคณะกรรมาธิการระดับชาติเพื่อแก้ไขวิกฤติครั้งนี้อย่างรอบด้าน รวมทั้งกรณีการสังหารโดยตำรวจ สิทธิในการประท้วง และการยุติการเลือกปฏิบัติ ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องยุติการพูดจาและนโยบายที่สนับสนุนความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติ”

“รัฐบาลสหรัฐฯ ในทุกระดับต้องรับประกันสิทธิในการประท้วง ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศ” เรเชลกล่าว

ย้อนกลับไปปี 2561 "โคลิน เคเปอร์นิก" เป็นที่รู้จักและถูกพูดถึงมากขึ้น ในช่วงก่อนฤดูกาลของการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลในลีกระดับชาติ (American National Football League) โคลินคุกเข่าลงระหว่างการเปิดเพลงชาติสหรัฐฯ เป็นการแสดงท่าทีอย่างเคารพเพื่อเรียกร้องให้ประเทศนี้คุ้มครองและปกป้องสิทธิของคนทั้งปวง การกระทำที่กล้าหาญเช่นนี้เป็นการตอบโต้การสังหารคนผิวดำจำนวนมากโดยตำรวจ กระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวอย่างไม่ใช้ความรุนแรงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์

“การคุกเข่าเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ทางกายภาพ ผมต้องการท้าทายว่ายังมีการกีดกันและละทิ้งคนออกจากแนวคิดที่สนับสนุนเสรีภาพ อิสรภาพ และความยุติธรรมที่มีสำหรับทุกคน การประท้วงเช่นนี้มีรากเหง้ามาจากการหลอมรวมระหว่างความเชื่อทางศีลธรรมและความรักในเพื่อนมนุษย์ของผม” โคลินกล่าว

ในปีเดียวกันนั้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้มอบรางวัล Ambassador of Conscience award หรือ “รางวัลทูตแห่งมโนธรรมสำนึก” ให้กับโคลินในฐานะนักกีฬาและนักกิจกรรมที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วโลก และเขาได้กล่าวในการรับรางวัลครั้งนี้ว่า

“ผมขอขอบคุณแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสำหรับรางวัลนี้ แต่ความจริงแล้ว ผมควรได้รับรางวัลนี้พร้อมกับคนอีกจำนวนมากทั่วโลก ที่ช่วยกันต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากน้ำมือของตำรวจ และการใช้กำลังปราบปรามจนเกินกว่าเหตุ ผมอยากอ้างคำพูดของมัลคอม เอ็กซ์ (Malcolm X) ซึ่งเคยบอกไว้ว่า เขา ‘พร้อมจะเข้าร่วมกับทุกคน ไม่ว่าจะมีสีผิวใด ตราบที่คนเหล่านั้นต้องการเปลี่ยนแปลงสภาพที่เลวร้ายซึ่งดำรงอยู่ในโลก’ ผมขอร่วมมือกับทุกท่านในการต่อสู้กับความรุนแรงจากการกระทำของตำรวจ”

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook