สมเด็จฯ ปลื้มพระทัย

สมเด็จฯ ปลื้มพระทัย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
แหล่งความรู้ศิลปะใจกลางเมือง

ในการเสด็จฯ ทรงเปิดอาคาร หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายชื่อ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครและประติมากรรม ช้างเอราวัณสามเศียร ณ หอศิลปวัฒนธรรมฯ ซึ่งอาคารดังกล่าว กรุงเทพฯ จัดสร้างขึ้นเมื่อเดือน พ.ย.2548 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา และเพื่อเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมของเมือง ตลอดจนเป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน โดยออกแบบผสานเอกลักษณ์ความเป็นไทยและสากล ครอบคลุมพื้นที่กว่า 4,000 ตารางเมตร เป็นอาคารขนาดใหญ่ 9 ชั้น และชั้นใต้ดิน 3 ชั้น โดยการดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือนพ.ค. 2551

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเปิดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรตพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ชุด บารมีแห่งแผ่นดิน จากนั้นเสด็จฯ โดยลิฟท์ยังชั้น 9 ทอดพระเนตรนิทรรศการ ภาพของพ่อ...บารมีแห่งแผ่นดินซึ่งได้รวบรวมผลงานทัศนศิลป์พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่หาชมได้ยากและทรงคุณค่าต่อประวัติศาสตร์ไทย ผลงานของศิลปินอาวุโส จนถึงศิลปินร่วมสมัยกว่า 30 ผลงาน จากนั้นเสด็จฯ ยังชั้น 8 ทอดพระเนตรนิทรรศการโขน ชุด พรหมาศ นำเสนอประวัติความเป็นมาของโขน ฉากจำลองท้องพระโรง,ฉากโรงพิธี,เครื่องสูง,พัตราภรณ์, หุ่นละครตัวเอก และนิทรรศการภาพถ่ายกว่า 2,000 ภาพ ถ่ายทอดเรื่องราวรายละเอียดเบื้องหน้าเบื้องหลังทุกขั้นตอน

ม.ล.ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี รองประธานอำนวยการ การจัดแสดงโขนชุด พรหมาศ กล่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ รับสั่งชมการจัดงานออกมาได้สวยงาม และสำเร็จเรยบร้อยเป็นอย่างดี ทรงพอพระทัยที่กรุงเทพฯ มีสถานที่จัดแสดงศิลปะทุกแขนง รวมถึงเป็นแหล่งความรู้ที่ดีแก่เด็กและเยาวชน และระหว่างทรงพระดำเนินในส่วนนิทรรศการภาพของพ่อ...บารมีแห่งแผ่นดิน ทอดพระเนตรภาพพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเปียโน ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ ผลงาน ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ รับสั่งว่า วาดได้เหมือนมาก เมื่อทอดพระเนตรแล้ว ทำให้ทรงย้อนระลึกถึงความหลัง ในโอกาสเดียวกันนี้รับสั่งถึง การจดรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับโขนพรหมาศหรือไม่ ซึ่งตนกราบทูลว่า จัดเก็บรวบรวมเนื้อหาเป็นจดหมายเหตุ เพื่อเป็นความรู้แก่เยาวชนและประชาชนได้ศึกษาต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook