สัญญาณเตือนภัยธรรมชาติปรากฏแล้ว

สัญญาณเตือนภัยธรรมชาติปรากฏแล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ขณะที่คณะรัฐมนตรี พรรคการเมืองร่วมรัฐบาล นัก การเมืองฝ่ายค้าน ตลอดจนองค์กรต่าง ๆ พากันสนใจประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง บ้างกังวลต่อปัญหาการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนใหม่ ถึงขั้นเกรงจะเกิดการยุบสภา จนละเลยต่อปัญหาสำคัญแท้จริงของ ประเทศที่กำลังก่อตัว เนื่องจากรายงานล่าสุดของกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่าภาวะเอลนินโญ่กำลังพัฒนาขึ้นในระยะอันใกล้ อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิกเขตศูนย์สูตร สูงกว่าปกติอย่างต่อเนื่อง จึง คาดว่า ปรากฏการณ์เอลนินโญ่จะพัฒนาขึ้นได้ในระยะปลายปีนี้ (ฤดูหนาว 2552-2553) และจะส่งผลกระทบที่มีต่อประเทศไทย ทำให้อุณหภูมิในช่วงฤดูหนาวสูงกว่าปกติ และปริมาณฝนของภาคใต้จะน้อยกว่าปกติ

ทั้งนี้ ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน รายงานเมื่อวันที่ 22 ส.ค. ว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศมี ปริมาตรรวมกันทั้งหมด 45,020 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 65 ของความจุอ่างฯ รวมกันทั้งหมด ยังสามารถรับน้ำได้อีกกว่า 24,000 ล้านลูก บาศก์เมตร เขื่อนใหญ่บางแห่งมีน้ำน้อย เนื่องจากฝนตกเหนืออ่างฯ น้อย และเชื่อว่าปรากฏการณ์เอลนินโญ่ที่ก่อตัวขึ้นตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา จะส่ง ผลให้ฝนตกน้อยลงอีก จึงเป็นสัญญาณว่าปลายปีนี้ อุณหภูมิช่วงฤดูหนาว จะสูงกว่าปกติ และพื้นที่ภาคใต้มีฝนน้อยลง

ปริมาณน้ำในเขื่อนที่มีน้อย และการคาดหมายว่าฝนจะน้อยลงไปด้วย ย่อมมีผลต่อภาคการเกษตรกรรม ทั้งช่วงปลายฤดูฝน ต่อเนื่องกับในช่วงฤดูแล้งอย่างแน่นอน ในชั้นนี้ กรมชลประทาน ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติการได้เตรียมออกคำเตือนเกษตรกรและประชาชนด้านท้าย อ่างเก็บน้ำให้ใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งที่จะถึงอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่ปัญหานี้ เป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลกว้างขวางทั้งประเทศ กระทบทุกภาคส่วน จึงเป็นประเด็นที่นายกรัฐมนตรี นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะให้ความสนใจ มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนรับมือ ก่อนที่ภาวะวิกฤติความแห้งแล้งจะมาถึง

ทุกฝ่ายทราบกันดีอยู่แล้วว่า ภาคเกษตรกรรมเป็นฐานที่มั่นหลักทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยอาศัยแหล่งน้ำจากธรรมชาติเป็นปัจจัยสนับสนุน และถึงจะลงทุนสร้างระบบ มีเขื่อนขนาดใหญ่หลายแห่ง ก็ยังต้องรอคอยน้ำจากฝนที่ตกเหนือเขื่อนเท่านั้น การลงทุนอื่นเช่นการชลประทานระบบท่อ หรือการจัดการน้ำทั้งระบบยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่ ขณะนี้มีเครื่องมือช่วยให้การคาดการณ์น้ำมีประสิทธิภาพขึ้น รัฐบาลรวมทั้ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรใส่ใจ เฝ้าระวัง และกำชับให้รัฐมนตรี กำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แข็งขันขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ แทนที่จะจดจ่ออยู่กับประเด็นทางการเมืองและความขัดแย้งซึ่งไม่มีทีท่าจะจบเสียที.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook