ฟรีทีวีรับลูกคุมเข้มโฆษณาแฝง ช่อง 5 เอาพวกซิกแซ็ก ขั้นระงับออกอากาศ ส.โฆษณาฯ ชงเรื่องเพิ่มเวลาพิเศษ

ฟรีทีวีรับลูกคุมเข้มโฆษณาแฝง ช่อง 5 เอาพวกซิกแซ็ก ขั้นระงับออกอากาศ ส.โฆษณาฯ ชงเรื่องเพิ่มเวลาพิเศษ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ฟรีทีวี ขานรับนโยบายรัฐ จำกัดขอบเขตโฆษณาแฝง ช่อง 5 แรงจัด ออกกฎเหล็กคุมผู้จัดห้ามละเมิด ช่อง 3 ยืนยันขานรับนโยบาย และมีมาตรการคุมเข้มอยู่แล้ว ด้านช่อง 7 ท้าพิสูจน์ นับโฆษณาแฝงแต่ละช่อง ขณะที่สมาคมโฆษณาฯ เสนอจัดระเบียบโฆษณาแฝงในรายการทีวี พร้อมชงเรื่อง เพิ่มเวลาพิเศษโฆษณา โชว์สินค้า-โลโก

พ.อ. ชัยณภนท์ อเนกเวียง หัวหน้าฝ่ายตรวจรายการ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เปิดเผย ฐานเศรษฐกิจ ว่า การโฆษณาแฝงผ่านรายการต่างๆ ทาง ช่อง 5 ในปีนี้ สถานีค่อนข้างเข้มงวดอย่างหนัก เพราะตรวจสอบพบว่ายังมีบางรายการพยายามสอดแทรกโฆษณาแฝงต่างๆ เข้ามาในรายการ ซึ่งผิดระเบียบสถานีที่ออกมาใหม่ตั้งแต่ต้นปี 2552 ที่เน้นมาตรการคุมเข้ม พร้อมทั้งแจกแจงลักษณะโฆษณาแฝงอย่างชัดเจน โดยแบ่งเป็นหลายลักษณะ เช่น 1. สปอตสั้น 2.โลโกมุมจอ 3. สินค้าตั้งโต๊ะ 4. ป้ายบริเวณฉาก 5. การกล่าวโดยพิธีกร 6. การผสมผสานสินค้าในเนื้อของรายการ

ปัญหาโฆษณาแฝงส่วนใหญ่พบมากในรายการเกมโชว์ และรายการเกี่ยวกับอาหารและความงาม ซึ่งทางสถานีจะมีขั้นตอนตั้งแต่ตักเตือน แจ้งแก้ไข จนถึงการระงับการออกอากาศ หากฝ่าฝืนก็ต้องโดนลงโทษตามระเบียบ เนื่องจากบางรายการยังซิกแซ็ก หาช่องทางแฝงโฆษณา โดยอ้างปัญหาทางเศรษฐกิจหาโฆษณายาก จำเป็นต้องเสริมรายได้จากการโฆษณาแฝงเพื่อความอยู่รอด พ.อ.ชัยณภนท์กล่าว

ขณะนี้บรรดาผู้ผลิตมีการพัฒนารูปแบบการลงโฆษณาแฝงได้หลากหลายและมีความชัดเจน แนบเนียนต่างกันออกไป เช่น การวางสินค้าในฉากรายการ, ให้พิธีกรยกโชว์สินค้า, การโฆษณาตามมุมจอ, การชิงโชคชิงรางวัล และการสนับสนุนรายการในรูปแบบอื่นๆที่อยู่นอกเหนือจากเวลาโฆษณาสินค้า

สำหรับสถิติผลการตรวจเทปรายการผ่านการตรวจสอบจากฝ่ายตรวจรายการ ททบ.5 พบว่ามีจำนวนที่ลดลงเรื่อยๆ จากต้นปี 2552 ที่ ททบ.5 ได้กำหนดกติกาใหม่ให้รัดกุมและเข้มงวด โดยรวมลดลงในแต่ละงวดประมาณ 20% แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงกลางปี กลับมีแนวโน้มการโฆษณาแฝงเพิ่มขึ้นพิจารณาจากสถิติเดือน มิถุนายน 2552 จากรายการที่ส่งตรวจ 171 รายการ พบว่ามีโฆษณาแฝง 18 รายการ แต่มาถึงเดือนกรกฎาคม 2552 มีโฆษณาแฝงถึง 26 รายการ จาก 180 รายการ ซึ่งทางฝ่ายตรวจได้มีการตักเตือน และส่งให้แก้ไขทุกราย ทั้งนี้เพื่อเป็นการพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มิให้ถูกรบกวนหน้าจอด้วยโฆษณามากเกินไป รวมทั้งเป็นการเพิ่มพื้นที่ให้แก่เนื้อหาสารประโยชน์ในรายการอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ช่อง 5 จะมีการติดตามความเคลื่อนไหวด้านโฆษณาแฝงต่อไป เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลให้ส่วนบริหารประกอบการพิจารณาปรับผังรายการประจำปี 2553

แหล่งข่าวในวงการคอนซูเมอร์โปรดักต์รายหนึ่ง กล่าวว่า การซื้อโฆษณาในรายการ หรือการ tie-in ชื่อสินค้าหรือสินค้าในรายการมีจำนวนมาก ที่ผ่านมาสินค้าของบริษัท เคยซื้อเวลาโฆษณาในรายการคุยข่าว ในอัตราโฆษณากว่า 2 แสนบาท ต่อการพูดประชาสัมพันธ์สินค้า 1 ครั้ง หรือการวางสินค้าไว้ในรายการตลอดทั้งเดือน เสียอัตราโฆษณาในหลักล้านบาท เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการ tie-in ในรายการละครซิตคอม และเกมโชว์ อีกหลายรายการ

แหล่งข่าวระดับสูง จากสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 กล่าวว่า คงไม่พูดถึงเรื่องการควบคุมโฆษณาแฝง แต่ถ้าสถานีมีมาตรการดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าให้รองสังเกตดูโฆษณาแฝงที่มีอยู่ในรายการของทีวีแต่ละช่อง ว่าช่องไหนมีมากที่สุด และช่องไหนมีน้อยที่สุด และเมื่อรัฐบาลมีมาตรการคุมเข้มและขอความร่วมมือ ทางสถานีพร้อมที่จะให้การสนับสนุนอยู่แล้ว

นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 กล่าวว่า ขณะนี้ทางสถานีมีการควบคุมดูแลเรื่องโฆษณาแฝงอยู่แล้วเช่นกัน และยังขอความร่วมมือกับบรรดาผู้ผลิต ซึ่งหากผู้ผลิตรายไหนไม่ปฏิบัติตาม สถานีก็มีมาตรการในการควบคุมดูแลเช่นกัน

ส่วนนายวิทวัส ชัยปาณี นายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย ได้ชี้แจงเรื่องโฆษณาแฝงในรายการทีวี กับที่ประชุม ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2551 ของสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา ว่า ในวันจันทร์ที่ 24 สิงหาคมนี้ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่มีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสมาคม เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาและจัดระเบียบโฆษณาแฝงในรายการโทรทัศน์ ที่มีนักวิชาการออกมาแสดงความคิดเห็นว่า เป็นสิ่งที่รบกวนการชมรายการและเอาเปรียบผู้ชม

สำหรับสมาคม จะนำเสนอต่อหน่วยงานรัฐ เกี่ยวกับการปรากฏของภาพสินค้าและโลโก ที่เป็นไปโดยธรรมชาติ ไม่มีการพูดถึงหรือบรรยายสรรพคุณสินค้า เช่น การตั้งโชว์โน้ตบุ๊ก หรือการแสดงภาพแก้วกาแฟ ในรายการคุยข่าว ไม่ถือว่าเป็นโฆษณาแฝง เพราะการใช้ชีวิตของผู้บริโภคในแต่ละวันจะต้องเห็นภาพสินค้าและโลโก ในสถานที่ต่างๆ อยู่แล้ว

นอกจากนี้ สมาคมยังต้องการจัดระเบียบการโฆษณาแฝง โดยจะนำเสนอให้มีการกำหนดเวลาการโฆษณาแฝง ประเภท Tie- in สินค้า การแสดงภาพการใช้สินค้า การแสดงโลโกผู้สนับสนุนรายการช่วงก่อนจบและเข้ารายการ (VTR) เป็นเวลาพิเศษ สามารถทำได้ในเวลาที่กำหนดร่วมกันระหว่างผู้เกี่ยวข้อง นอกเหนือจากเวลาโฆษณาปกติ 12 นาทีต่อชั่วโมง และเมื่อได้ข้อสรุปร่วมกันแล้ว สมาคม จะเสนอภาครัฐให้ออกเป็นระเบียบ เพื่อให้สมาคม ดำเนินการควบคุมและดูแลกันเอง เช่นเดียวกับการดูแลเซ็นเซอร์โฆษณาในปัจจุบัน โดยไม่จำเป็นต้องออกเป็นกฎหมาย ซึ่งจะใช้เวลานานการพิจารณาเพื่อประกาศใช้

สำหรับการลงโฆษณา ลูกค้ามักต้องการลงโฆษณาแฝงในรายการทีวี นอกเหนือจากการซื้อสปอตโฆษณาปกติ โดยสัดส่วน 50% ผู้ผลิตรายการจะไม่ได้รับรายได้จากโฆษณาแฝง และเชื่อว่าเป็นรายได้ไม่ถึง 1% ของมูลค่าเม็ดเงินในอุตสาหกรรมโฆษณากว่า 9 หมื่นล้านบาท หากรัฐบาลจะเข้ามาจัดระเบียบโฆษณาแฝง จึงไม่กระทบกับภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาแต่อย่างใด

สำหรับรายการที่มีโฆษณาแฝงจำนวนมาก ได้แก่ รายการทอล์กโชว์, คุยข่าว, เกมโชว์ และซิตคอม มีโฆษณาแฝงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะละครซิตคอม ที่จงใจแสดงภาพสินค้า มีบทให้นักแสดงพูด และทดลองใช้สินค้า ซึ่งถือเป็นการกระทำที่จงใจโฆษณาแฝงอย่างชัดเจน

ด้านสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร่วมกับ สำนักนายกรัฐมนตรี จะมีการจัดประชุมเรื่อง มาตรการการกำกับดูแลการโฆษณาแฝง ในวันที่ 24 สิงหาคมนี้ โดยมีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในที่ประชุม โดยก่อนหน้านี้ ได้มีการประชุมนอกรอบในเรื่องนี้แล้ว ซึ่งนายสาทิตย์ ระบุว่า จะควบคุมโฆษณาแฝง ให้มีน้อยที่สุ ด หรือไม่มีเลย เนื่องจากได้รับข้อร้องเรียนจากผู้บริโภค และองค์กรเอกชน รวมทั้งประชาชนทั่วไปเป็นจำนวนมาก โดยเป็นห่วงรายการถ่ายทอดสดต่างๆ ที่ยากจะควบคุมโฆษณาแฝง เช่นรายการข่าว และวาไรตีโชว์ หรือทอล์กโชว์ ที่มักมีสินค้าอยู่ในจอตลอดเวลา ซึ่งจะต้องมีการหารือเพื่อกำหนดมาตรการขั้นเด็ดขาด ในการควบคุมโฆษณาแฝง เพื่อคุณภาพรายการ และคุ้มครองสิทธิ์อันชอบธรรมของผู้บริโภคต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook