แบงก์ชิงเค้กปล่อยกู้ไทยเข้มแข็ง เลี่ยงปล่อยภาคธุรกิจเสี่ยงสูง - ธกท.เสือปืนไว เสนอตัวพร้อมปล่อยหลายห

แบงก์ชิงเค้กปล่อยกู้ไทยเข้มแข็ง เลี่ยงปล่อยภาคธุรกิจเสี่ยงสูง - ธกท.เสือปืนไว เสนอตัวพร้อมปล่อยหลายห

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
แบงก์พาณิชย์ รุมชิงเค้กปล่อยกู้โครงการไทยเข้มแข็ง 300,000 ล้านบาท ชดเชยสินเชื่อปล่อยภาคธุรกิจหดตัว ชาติศิริ เผยแบงก์กรุงเทพเตรียมวงเงินพร้อมปล่อยหลายหมื่นล้านบ. , กสิกรไทยขยับพอร์ตสินเชื่อภาครัฐเพิ่ม ด้านดร.อนุสรณ์ ห่วงเศรษฐกิจโตต่ำกว่าเสถียรภาพนำปัญหาสู่ฐานะการคลังในปี 2555-2556

โครงการไทยเข้มแข็งวงเงิน 1.43 ล้านล้านบาท ซึ่งได้กำหนดสัดส่วน 57% หรือคิดเป็นวงเงินประมาณ 800,000 ล้านบาทเป็นวงเงินเพื่อการลงทุน โดยรัฐบาลได้เตรียมแผนก่อหนี้วงเงิน 800,000 ล้านบาทรองรับโครงการลงทุนดังกล่าว ผ่านการจำหน่ายพันธบัตรในโครงการไทยเข้มแข็งรวม 400,000 ล้านบาทหรือไตรมาสละ 100,000 ล้านบาท และอีกราวกว่า 300,000 ล้านบาทจะเป็นการกู้โดยตรงจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะเปิดให้สถาบันการเงินทุกแห่งเสนอวงเงินและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เข้ามาเพื่อ ( Bid )หรือประมูล ล่าสุด คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้อนุมัติโครงการลงทุนล็อตแรก วงเงิน 200,000ล้านบาทภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 จำนวน 400 โครงการ

นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ในฐานะโฆษก สบน. เปิดเผยกับ ฐานเศรษฐกิจถึงความคืบหน้าการเสนอโครงการลงทุนในโครงการไทยเข้มแข็ง ว่าขณะนี้ในแต่ละหน่วยงานได้ยื่นขอวงเงินเข้ามาในระบบE-Budgeting บ้างแล้ว แต่ยังไม่สามารถรายงานผลชัดเจนถึงจำนวนเงินที่แน่นอนของแต่ละหน่วยงาน เมื่อระบบมีตัวเลขเงินลงทุนที่ชัดเจนแล้ว จึงจะสามารถวางแผนได้แน่นอนว่าจะต้องออกพันธบัตรรัฐบาลในระยะต่อไปเท่าไรอย่างไร

เบื้องต้นกระทรวงการคลังจะประกาศให้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งที่สนใจจะปล่อยกู้ในโครงการไทยเข้มแข็ง ( วงเงินรวมกว่า 300,000 ) ลงนามในสัญญาเงินกู้ภายในเดือนสิงหาคม 2552 ก้อนแรก 30,000 ล้านบาท เพื่อให้ในโครงการลงทุนที่มีความพร้อมมูลค่ากว่า 27,000 ล้านบาทโดยกำหนดระยะเวลากู้ไม่เกิน 10 ปี ก.คลังวางเงื่อนไขสามารถใช้คืนหนี้ก่อนกำหนดได้ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ในระบบต่างพุ่งเป้าร่วมชิงเค้กปล่อยกู้ท่ามกลางความคาดหวังว่าโครงการลงทุนไทยเข้มแข็งจะทดแทนการหดตัวของสินเชื่อที่ผ่านมา โดยจากรายงานของธปท. พบว่าสินเชื่อทั้งระบบในรอบ 6 เดือนได้หดตัวลงจากเมื่อสิ้นปี 2551 ถึง 229,571 ล้านบาท และคาดว่าสินเชื่อทั้งระบบปีนี้จะติดลบ

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) (บมจ.) กล่าวว่า การปล่อยกู้ให้กับโครงการของภาครัฐนั้น ที่ผ่านมาได้มีการติดต่อมายังธนาคารแล้วหลายครั้ง โดยในส่วนของธนาคารเองพร้อมจะปล่อยกู้หลายหมื่นล้านบาท แต่ยังไม่ทราบว่าทางการจะพิจารณาเลือกอย่างไร ซึ่งเงื่อนไขส่วนใหญ่ขณะนี้เหลือเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้ที่จะคิดคำนวณ

เป้าสินเชื่อธนาคารปีนี้คาดว่าจะเติบโต 0-3% โดยได้รวมการปล่อยสินเชื่อภาครัฐ แต่ยอดการปล่อยช่วงที่ผ่านมายังติดลบ 6% เนื่องจากมีการชำระหนี้คืนเข้ามามาก

นายจงรัก บุญชยานุรักษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ. ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ปีนี้โครงการลงทุนไทยเข้มแข็งเป็นความหวังที่จะเห็นความต้องการใช้สินเชื่อภาครัฐเพิ่ม โดยธนาคารกสิกรไทยคาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อภาครัฐ จากเดิมที่สัดส่วนสินเชื่อประเภทนี้ยังมีน้อย

ได้มีการพูดคุยกับภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้ลงรายละเอียด เข้าใจว่ารัฐพยายามจะแบ่งสัดส่วนระหว่างการใช้วงเงินสินเชื่อจากแบงก์กับที่ระดมทุนโดยการออกพันธบัตร เพราะไม่อยากให้กระทบกระเทือนตลาด โดยดูจังหวะระยะเวลาการกู้ที่เหมาะนายจงรักกล่าว

ในขณะที่ บมจ.ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี ) นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจขนาดใหญ่ กล่าวว่า ธนาคารต้องการเก็บสภาพคล่องเพื่อปล่อยกู้ให้กับภาคธุรกิจที่แท้จริงมากกว่าจะเน้นสินเชื่อภาครัฐ เนื่องจากสินเชื่อภาครัฐนั้นต้องเข้าไปร่วมประมูลแข่งขันราคาหรือการกำหนดดอกเบี้ยเงินกู้ค่อนข้างต่ำ ขณะที่ธนาคารจำเป็นต้องรักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาธนาคารก็เข้าร่วมประมูลวงเงินปล่อยกู้สำหรับรัฐวิสาหกิจจำนวน 40,000ล้านบาทและมีสัดส่วนสินเชื่อภาครัฐอยู่บ้างแล้ว

ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และในฐานะกรรมการและประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) กล่าวว่า แผนไทยเข้มแข็งถ้าทำให้สำเร็จประเทศจะมีอนาคตในระยะยาว อย่างไรก็ตามคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปีนี้ตามการฟื้นของเศรษฐกิจโลก แต่ประมาณจีดีพีประเทศทั้งปียังติดลบ 3.5%

ผมห่วงว่าถ้าปี 2554 จีดีพีไม่กระเตื้องระดับ 5%ประเทศไทยจะมีปัญหาเรื่องฐานะทางการคลังตามมาในปี 2555-2556 ฉะนั้นจึงขึ้นอยู่เม็ดเงินกู้ที่นำไปลงทุนจะคุ้มค่า ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้หรือไม่ หรือจะรั่วไหล และหากเศรษฐกิจไม่ติดลบแต่เติบโตต่ำกว่า 2% ต่อเนื่อง 3 - 4 ปี ก็จะมีปัญหาด้านการคลังได้เช่นกัน เศรษฐกิจไทยมีโอกาสที่จะมีปัญหาด้านการเติบโตต่ำกว่าเสถียรภาพเป็นเวลาหลายปีแล้ว จนนำไปสู่ปัญหาฐานะทางการคลัง และความไม่เรียบร้อยทางสังคม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook