บทวิเคราะห์:โครงการช้างยิ้ม ปฎิบัติการ กทม.ช่วยช้างไทย

บทวิเคราะห์:โครงการช้างยิ้ม ปฎิบัติการ กทม.ช่วยช้างไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คืนวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา เชื่อว่า คนกรุงหลายคนคงมีโอกาสได้เห็นการนำกำลังเจ้าหน้าที่และสัตวแพทย์ลุยตรวจจับและยึดช้างเร่ร่อนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยไม่มีการผ่อนผัน และ ถือเป็นวันดีเดย์ที่กทม.เริ่มนำ 6 มาตรการมาใช้ และ นี่คือหนึ่งในมาตรการแก้ปัญหาช้างเร่ร่อนซึ่งจะเป็นกรอบปฏิบัติการให้ช้างเร่ร่อนหมดไปจากพื้นที่ ซึ่งช้างที่ตรวจจับและยึดครั้งนี้ ถูกนำไปดูแลที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างกาญจนบุรี เพื่อตัดวงจรเร่ร่อน ส่วนช้างที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการโฮมสเตย์ ทางเจ้าหน้าที่โครงการฯ ก็จัดหาอาชีพแก่ควาญและดูแลช้างให้เป็นอย่างดี สำหรับเป้าหมายของโครงการ "ช้างยิ้ม ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บอกว่า กทม.มีนโยบายแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อนขอทานให้หมดไปจากพื้นที่ กทม.ภายใน 1 ปี ด้วยวิธีการแก้ปัญหาที่ครบวงจร ไม่เฉพาะการขับไล่ออกจากพื้นที่เท่านั้น แต่รวมไปถึงการช่วยดูแลคุณภาพชีวิตของช้างและควาญเจ้าของช้างให้มีความเป็นอยู่ที่ดี มีความมั่นคงทั้งด้านที่อยู่อาศัยและรายได้ ซึ่งในส่วนของควาญช้าง องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) จะหางานให้ทำด้วย สำหรับควาญช้างคนอื่นๆ ไม่ได้หมายความว่าจะนำช้างมาขายให้เราตามใจชอบได้ หากไม่อยากออกจากพื้นที่ กทม. ยังคงนำช้างเร่ร่อนในกทม.ก็มีข้อบัญญัติเรื่องช้างมาบังคับใช้ในการอายัดช้างครั้งละ 30 วันได้ โดยไม่ต้องรอ พ.ร.บ.ช้าง ที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ ส่วนความคืบหน้าของโครงการช้างยิ้ม ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เปิดเผยกับสำนักข่าวแห่งชาติ ว่า กรุงเทพมหานครมีการประชุมร่วมกับกรมปศุสัตว์ กลุ่มควาญช้างสุรินทร์ และเจ้าหน้าที่จากสำนักเทศกิจ กองการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว เพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อนระยะยาวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดย 6 มาตรการ ที่กำหนดขึ้นนี้ จะเป็นกรอบ ปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น หลังจากกทม. สามารถแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยสามารถลดจำนวนช้างเร่ร่อน ในพื้นที่ให้เหลือเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือการซื้อช้างพังบัวคำ ซึ่งเป็นช้างขอทาน เพื่อนำไปดูแลที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างลำปาง จากเงินบริจาคของประชาชน และการอายัดช้างพลายโชคดี ไปดูแลที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างกาญจนบุรี เนื่องจากตั้งข้อสงสัยว่าเป็นช้างป่า สำหรับ ช้างพังบัวคำ เป็นช้างอายุ 30 ปี ควาญช้างได้พามาเร่ร่อนขอทาน ตาข้างขวาบอด และนับเป็นช้างเชือกแรกที่ กทม.ซื้อไปปล่อยตามโครงการ ช้างยิ้ม โดยเจ้าของช้างมีความประสงค์จะขายในราคา 300,000 บาท กทม.จึงได้เปิดบัญชีรับบริจาคเงินจากผูจิตศรัทธาผ่านทางธนาคารกรุงไทย สาขาย่อยศาลาว่าการ กทม. ชื่อบัญชี ช่วยชีวีช้างไปดูแล เลขที่บัญชี 088-0-03418-1 ตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อซื้อช้างถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 77 พรรษา 12 สิงหาคม 2552 และภายหลังเปิดบัญชีรับบริจาคดังกล่าวเพียง 1 สัปดาห์ มียอดเงินบริจาคเข้าบัญชีเกือบ 800,000 บาท ต่อมายังมีผู้บริจาคเพิ่มเติมอีกกว่า 200,000 บาท นับเป็นเรื่องที่น่าปลื้มใจ ที่คนไทยให้ความสนใจช่วยเหลือช้างไทยเป็นจำนวนมาก สำหรับช้างพังบัวคำ กทม.ได้ประสานทางสถาบันคชบาลแห่งชาติ รับพังบัวคำไปดูแลที่จังหวัดลำปาง โดยจัดให้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายช้างและคืนช้างสู่ธรรมชาติ และจัดพิธีส่งมอบพังบัวคำแก่สถาบันคชบาลแห่งชาติ เมื่อวันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม ที่ผ่านมา ส่วนยอดเงินบริจาคบัญชี ช่วยชีวีช้างไปดูแล ที่ยังคงเหลืออยู่จำนวนหลายแสนบาท กทม. จะเร่งศึกษาแนวทางเพื่อจัดตั้งเป็นกองทุนช่วยเหลือช้างเร่ร่อนในส่วนของ กทม.ต่อไป และจะยังไม่ปิดบัญชี หลังได้รับรายงานว่ายังมีควาญเจ้าของช้างอีกหลายสิบรายที่ต้องการขายช้าง เพราะทนแบกภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลไม่ไหว นอกจากนี้ นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม. ผู้รับผิดชอบโครงการ ช้างยิ้ม เปิดเผยกับสำนักข่าวแห่งชาติด้วยว่า เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อนในพื้นที่ กทม.เชิงรุก ขณะนี้ กทม.ได้เตรียมร่างข้อบัญญัติของ กทม.เรื่องช้าง เพื่อประกาศใช้ควบคู่ไปกับ พ.ร.บ.ช้าง พ.ศ...ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ และเตรียมเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติภายใน 2-3 เดือนหลังจากนี้ สำหรับมาตรการ 6 อย่างที่มีข้อตกลงร่วมกัน คือ 1. ในคืนวันที่ 19 ส.ค. 52 กทม. ได้กำหนดเป็นวันดีเดย์ นำกำลังเจ้าหน้าที่และสัตวแพทย์ลุยตรวจจับและยึดช้างเร่ร่อนในพื้นที่กรุงเทพ โดยไม่มีการผ่อนปรน แล้วนำไปดูแลที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างกาญจนบุรีเป็นเวลา 30 วัน เพื่อให้เจ้าของแสดงหลักฐานเจ้าของ รูปพรรณ สัณฐาน และดำเนินการปรับตามกฎหมาย ทั้งนี้ จังหวัดท่องเที่ยวอื่นต้องให้ความร่วมมือในลักษณะเดียวกันด้วย 2. การแก้ไขปัญหาระยะยาว จะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งจากการศึกษาพบว่ามีปางช้างหลายแห่งสามารถรองรับช้างได้จำนวนหนึ่ง เช่น ปางช้างสุรินทร์ที่กทม. จะร่วมกับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ อบต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ สร้างโฮมสเตย์ให้ นักท่องเที่ยวใช้ชีวิตร่วมกับช้างและเรียนรู้วิถีช้าง ขณะนี้มีควาญช้างประสงค์เข้าร่วมงาน 13 ราย ช้าง 36 เชือก โดยควาญช้างจะมีงานทำ ส่วนช้างก็จะได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี พื้นที่ที่จะดำเนินมีจำนวน 3,000 ไร่ ส่วนศูนย์อนุรักษ์ช้างกาญจนบุรี มีพื้นที่ 130 ไร่ ก็จะจัดเป็น แหล่งท่องเที่ยว มีกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยวที่น่าสนใจ เช่น ปลูกพืชอาหารช้าง กิจกรรมการเลี้ยงช้าง การอาบน้ำให้ช้าง และอนาคตจะมีโครงการช้างบำบัดผู้ป่วยออทิสติกด้วย 3. มีความเห็นร่วมกันว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องเป็นเจ้าของงานเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาระยะยาว โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะเข้าพบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ฯ ด้วยตนเองเพื่อหารือในประด็นดังกล่าว 4. การส่งเสริมการท่องเที่ยว งานช้างสุรินทร์ที่จะจัดในเดือน พฤศจิกายน นี้ พร้อมกับการเปิดตัวศูนย์อนุรักษ์ช้างสุรินทร์ด้วย 5. กทม. ร่วมกับหลายหน่วยงานจัดคอนเสิร์ต เพื่อช้างยิ้ม ในเดือน ธันวาคม 2552 เพื่อหารายได้เข้ากองทุนอนุรักษ์ช้างที่ กทม.ได้เปิดบัญชีรับบริจาค ซึ่งรายได้จะนำไปบริหารจัดการโครงการช้ายิ้มต่อไป และ 6. กทม. โดยสำนักเทศกิจจัดเตรียมการเสนอให้ตราข้อบัญญัติช้าง ให้สามารถบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับช้างได้ในพื้นที่ ซึ่งจะนำเรื่องนี้เข้าบรรจุในวาระการประชุมสภากทม. ในเดือน มกราคม 2553 สำหรับสถานการณ์ช้างไทยขณะนี้ จากการสำรวจพบว่า มีช้างที่ไม่ใช่ช้างป่าทั้งหมด 3,825 เชือก แบ่งเป็นช้างที่อยู่ในปางช้าง 1,991 เรื่อง นอกนั้นเป็นช้างเร่ร่อนหรือลากไม้อีก 1,834 เชือก โดยทั้งหมดฝังไมโครชิปแล้ว ทั้งนี้ หากพบว่าเป็นช้างที่ลักลอบเข้ามาในประเทศไทยหรือเป็นช้างป่า ก็จะดำเนินการอายัดและดำเนินคดีต่อไป ต้องติดตามกันต่อไปว่า โครงการ "ช้างยิ้ม ของกทม. ที่มุ่งหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อนหารายได้ในเขตกรุงเทพมหานคร โดยนำวิธีการแก้ปัญหาทางด้านสังคมควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมาย นั่นคือ การไม่สนับสนุนซื้ออาหาร หรือสิ่งของใดๆ จากผู้ควบคุมช้างที่นำมาเร่ขายหารายได้ จะสามารถแก้ไขหรือลดการนำช้างมาหารายได้ในเมืองหลวง ได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ และจะทำให้ ช้าง ซึ่งเป็นสัตว์ คู่บ้าน คู่เมือง ของไทย ได้กลับมายืนหยัดอย่างสมเกียรติและศักดิ์ศรีของช้างไทย ดังเช่นในอดีต ที่ร่วมกู้เอกราชให้แผ่นดินไทยหรือไม่ เชื่อว่า ความฝันนี้ ไม่ไกลเกินเอื้อมที่จะสานต่อให้สำเร็จเป็นรูปธรรม ชุติมา สุขวาสนะ เรียบเรียง ชูชาติ เทศสีแดง บรรณาธิการ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook