หุ่นยนตร์เอ็มเค งานง่ายที่ทำยาก

หุ่นยนตร์เอ็มเค งานง่ายที่ทำยาก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ข่าวการพัฒนานวัตกรรมที่ร้านเอ็มเคสุกี้ สั่งทำหุ่นยนต์บริการลูกค้า เป็นประเด็นที่มีผู้สนใจ ถามหาความคืบหน้า อยากจะเห็นของจริง พอ ๆ กับอยากรู้ว่า จะใช้ได้จริงขนาดไหน

พร้อมกับความใส่ใจ ใคร่จะสัมผัสกับ อุปกรณ์เทคโนโลยี นี้ มีความสงสัยไปด้วยว่า เมืองไทยถึงยุคที่เรามีหุ่นยนต์สารพัดประโยชน์ใช้แล้ว และมันจะมาแย่งอาชีพพนักงานเสิร์ฟหลายสิบ หลายร้อยชีวิตในร้านหรือเปล่า

พักความอยากรู้ที่ให้ใจไม่สบายไว้ก่อน ไปดูกันว่า น้องหุ่นที่จะเข้ามารับใช้ลูกค้าจะมีฝีไม้ลายมือเยี่ยมวรยุทธสักปานใดกันก่อน โดย ดร.ณัฐภพ นิ่มปิติวัน คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผู้รับผิดชอบห้องปฏิบัติการ เสกเป่าชุบชีวิตพนักงานใหม่ของเอ็มเค พาเราเข้าไปดูการสร้างสรรค์ครั้งสำคัญแบบไม่ปิดบัง

ข้อมูลที่เปิดเผยจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ บอกว่าหุ่นยนต์บริการสำหรับธุรกิจร้านอาหาร ตัวนี้จะสูงประมาณ 1.50 เมตร ทำหน้าที่พนักงานต้อนรับหน้าร้านอาหาร และสามารถติดต่อสื่อสารอย่างง่ายกับลูกค้าได้ โดยหลักการทำงานจะใช้เทค โนโลยีเคลื่อนที่ด้วยระบบนำร่องที่อาศัยการประมวลผลภาพ ใช้ระบบควบคุมและการสื่อสารผ่านเครือข่ายไร้สาย ประกอบด้วยเซ็นเซอร์ ทำหน้าที่ แปลงสัญญาณต่าง ๆ เช่น เสียง แสง การมองเห็นเป็นสัญญาณไฟฟ้า นำไปประ มวลผลข้อมูลและควบคุมการทำงานคล้ายสมองของมนุษย์ ซึ่งควบคุมด้วย กระแสไฟฟ้า อาศัยล้อหมุนเพื่อความคล่องตัวในการเคลื่อนที่แม้อยู่ในพื้นที่คับแคบ ติดเซ็นเซอร์ช่วยในการคำนวณองศา มุม เพิ่กเลี่ยงสิ่งกีดขวาง

โจทย์ที่กำหนดไว้นี้ สำหรับนักทำหุ่นยนต์อาจมองว่าไม่ยาก แต่ปัญหาอยู่ที่กระบวนการเตรียมการ ปรากฏว่ามหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาเอกชนมีความคล่องตัวและเหมาะสมที่สุดเมื่อเทียบกับรายละเอียดของการใช้ประโยชน์หุ่นยนต์ โดย ดร.ณัฐภพ เอาความต้องการของผู้ใช้มาแปรผล มีข้อสรุปว่า จะไม่ทำให้หุ่นมาแทนคน เพราะยังไงคนก็ดีกว่า แต่หุ่นจะเป็นสื่อแสดงถึงนวัตกรรม และให้ทำหน้าที่ต้อนรับลูกค้า รับคำสั่ง และเป็นผู้ช่วยพนักงานเสิร์ฟ

ใช้เงินไม่มากและต้องเสร็จภายในสามเดือน!

ดร.ณัฐภพ ตีความโจทย์ว่า งานนี้ไม่ยาก แต่ ลำบากในการทำ เพราะกลไกการทำงานไม่ได้ซับซ้อน ไม่มีเทคนิคใหม่ ๆ ให้ตื่นเต้น ไม่ต้องมีระบบควบคุมแขนกลมากมายเหมือนหุ่นในโรงงานอุตสาหกรรม แต่ต้องมีลักษณะเป็นมิตร ใช้งานง่าย เคลื่อนที่ได้ มีความปลอดภัย และมีลักษณะทางนวัตกรรม ดูทันสมัย

ต้องระดมองค์ความรู้ของภาควิชาทั้ง 4 ที่มีแบ่งกัน รับผิดชอบไป เช่น ภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม ดูแลระบบและการสื่อสาร ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ทำระบบไฟฟ้า ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ รับเหมาฮาร์ดแวร์ ส่วนภาควิชาวิศวกรรมมัลติมีเดียและระบบอินเทอร์เน็ต มีหน้าที่วางรูปแบบการใช้งานให้ดูทันสมัย

ทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่น แม้ระหว่างทำจะมีความต้องการใหม่ ๆ ที่ทีมงานอยากเติมนู่นเพิ่มนี่ ที่บางอย่างอาจต้องคิดใหม่ เช่น มีคำท้วงว่าถ้าเอาจอคอมพิวเตอร์มาใช้รับคำสั่งจะดูใหญ่ไป ก็ปรับ เอาจท็บเลตพีซี หรือคอมพิวเตอร์พกพาแบบจอสัมผัสที่เขียนด้วยลายมือได้มาแทน

หุ่นเคลื่อนที่ได้ด้วยดี โดยอาศัยเซ็นเซอร์ที่วางบนพื้น แต่พอเอาไปทดลองใช้ในร้านมันกลับไม่เดินเอาดื้อ ๆ ตรวจสอบได้ความว่า พื้นร้านเป็นสีเทาใกล้เคียงกับแถบเซ็นเซอร์ ไม่เหมือนพื้นห้องแล็บของมหาวิทยาลัยที่เป็นพื้นขาว

แต่ก็ปรับใหม่จนใช้ได้

ตอนนี้หุ่นยนต์พร้อมใช้งานสำหรับการต้อนรับและรับคำสั่งอาหารจากลูกค้า การเคลื่อนตัวก็ราบรื่นด้วยล้อชุดใหม่ หน้าตาสดใสจิ้ม ลิ้ม โดยมีภารกิจแฝงที่ทุกฝ่ายเฝ้าจับตา คือเฝ้ามองว่ามีจุดที่ต้องปรับปรุงตรงไหน เพื่อเอามาปรับให้ดีขึ้น

เพราะมันต้องทำงานกับคนที่ไม่ได้ถูกตั้งค่าใด ๆ ไว้และพร้อมจะเปลี่ยนใจ เปลี่ยนที่นั่ง หรือจะสั่งของที่ไม่มีในเมนูอยู่บ่อย ๆ

ซึ่งตั้งโปรแกรมเอาใจได้ลำบาก

ถ้าเห็นหุ่นยนต์ในร้านเอ็มเคแล้วรู้สึกว่ามันแอ๊บแบ๊ว ไม่แจ๋วเจ๋งเหมือนหุ่นยนต์ในหนังไซไฟ ก็เข้าใจเถอะว่า นี่เป็นผลงานที่สรรค์สร้างได้อย่างยากยิ่ง

ยากที่สุดก็ตรงเอาใจมนุษย์นี่แหละ.

วีระพันธ์ โตมีบุญ

VeeraphamT@Gmail.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook