มนุษยธรรม

มนุษยธรรม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กลายเป็นปมขัดแย้งทางการเมือง และการทูตระหว่างประเทศไปแล้ว หลังจากอังกฤษปล่อยตัวนักโทษ มือระเบิดสายการบินแพน แอม เมื่อปี 2531 ซึ่งถูกตัดสินลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ให้กลับไปตายที่บ้านในลิเบีย เนื่องจากกำลังป่วยหนักด้วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก และแพทย์วินิจฉัยว่าจะอยู่ดูโลกได้อีกไม่ถึง 3 เดือน

นายอับเดล บาสเซต อัล-เมกราฮี วัย 57 ปี จำเลยคนเดียวในคดีที่ถูกตัดสินลงโทษ ถูกปล่อยตัวจากเรือนจำในสกอตแลนด์เมื่อวันที่ 20 ส.ค. ที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม

ย้อนรอยเหตุการณ์ วันที่ 21 ธ.ค. 2531 เครื่องบินโดยสารแบบโบอิ้ง 747-121 สายการบินแพน แอมของสหรัฐ เที่ยวบินที่ 103 บรรทุกผู้โดยสาร 243 คนพร้อมด้วยนักบินและลูกเรือ 16 คน ออกเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก จากท่าอากาศยานฮีทโทรว์ กรุงลอนดอน เมืองหลวงอังกฤษ มุ่งหน้าสู่จุดหมายท่าอากาศยานจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ นครนิวยอร์ก สหรัฐ

เวลา 1 ทุ่มกับ 1 นาที ขณะเครื่องบินเดินทางด้วยความเร็ว 580 กม./ชม. เหนือท้องฟ้าเมืองล็อคเคอร์บี ทางใต้ของสกอตแลนด์ ในระดับความสูง 31,000 ฟุต เครื่องระเบิดตูมสนั่น แตกกระจายทั่วท้องฟ้า และหล่นลงสู่แหล่งชุมชนเบื้องล่าง

ผู้โดยสารและลูกเรือบนเครื่อง 259 คนเสียชีวิตเกลี้ยงลำ และคนที่อยู่ข้างล่างอีก 11 คน รวมเสียชีวิตเบ็ดเสร็จในเหตุการณ์ 270 ศพ โดย 189 ศพ ในจำนวนนี้เป็นชาวอเมริกัน

ทางการอังกฤษใช้เวลาสืบสวนสอบสวนอยู่ 3 ปี ก่อนจะได้ข้อสรุป เป็นฝีมือหน่วยข่าวกรองลิเบีย ก่อนจะออกหมาย่งฟ้องผู้ต้องหา 2 คน เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2534 คนแรกนายอับเดล บาสเซต อัล-เมกราฮี สาย ลับลิเบีย ซึ่งตอนนั้นหน้าที่การงาน (บังหน้า) อย่างเป็นทางการคือ หัวหน้าหน่วย รปภ. สายการบินลิเบีย อาหรับ แอร์ไลน์ส (แอลเอเอ) และนายลามิน คาห์ลิฟา ฟิมาห์ ผู้จัดการแอลเอเอ ประจำสนามบินลูกา ประเทศมอลตา

ทั้งสองหลบหนีอยู่ในลิเบีย โดยมี พ.อ. โมอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำลิเบีย ให้การปกป้อง แต่พอถูกสหประชาชาติใช้มาตรการคว่ำบาตร และถูกชาติตะวันตกกดดันอย่างหนัก ในที่สุดลิเบียก็ส่งตัวผู้ต้องหาทั้งสองให้สกอตแลนด์

การดำเนินคดีใช้ศาลเนเธอร์แลนด์ เพื่อความเป็นกลาง และศาลตัดสินเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2544 ให้ลงโทษจำคุกอัล-เมกราฮี ตลอดชีวิต ส่วนฟิมาห์หลักฐานไม่เพียงพอ ศาล ยกฟ้อง

อัล-เมกราฮี ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกรีน็อค ในสกอตแลนด์ กระทั่งถึงวันที่ถูกปล่อยตัวให้กลับไปตายบ้าน เท่ากับรับโทษทัณฑ์ ในคุกรวมแล้วแค่ 8 ปีครึ่ง และตลอดเวลา ดังกล่าว เขายืนยันกระต่ายขาเดียว ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

การปล่อยตัวอัล-เมกราฮี สร้างความขุ่นเคืองให้รัฐบาลสหรัฐ และญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะเมื่อได้เห็นภาพข่าวจากทีวี การต้อนรับอัล-เมกราฮี เยี่ยงวีรบุรุษ ตอนเดินทางกลับถึงสนามบินกรุงตริโปลี

และเรื่องนี้คงไม่จบง่าย ๆ เมื่อมีการให้สัมภาษณ์จากปากของนายเซอีฟ อัล-อิสลาม บุตรชายของกัดดาฟี ที่บินไปรับตัวอัล-เมกราฮีถึงสกอตแลนด์ ต่อหนังสือพิมพ์ อะ ไทม์ส ของสหราชอาณาจักร โดยเซอีฟบอกว่า การปล่อยตัวอัล-เมกราฮี เกี่ยวพันกับข้อตกลง การค้า ระหว่างอังกฤษกับลิเบีย

เมื่อไม่นานมานี้ ลอร์ด ปีเตอร์ แมน เดลสัน รัฐมนตรีพาณิชย์ของอังกฤษ เดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนที่เกาะคอร์ฟูของกรีซ และได้มีการพบปะหารือกับเซอีฟที่นั่น แต่จะมีการตกลงกันลับ ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่ อีกไม่นานคงได้ทราบกัน

เซอีฟยังบอกอีกว่า เรื่องการปล่อยตัวอัล-เมกราฮี ได้ถูกหยิบยกขึ้นหารือทุกครั้ง ที่อดีตนายกฯ โทนี่ แบลร์ ของอังกฤษ เดินทางเยือนลิเบีย โดยครั้งล่าสุดไปเยือนเมื่อเดือน พ.ค. 2550 ตอนนั้นบริษัทบีพี ยักษ์ใหญ่ด้านการพลังงานของอังกฤษ เซ็นลงนามในข้อตกลงสำรวจกับลิเบียมูลค่า 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เรื่องการปล่อยตัว กับข้อตกลงการค้า ลับ ๆ รัฐบาลอังกฤษออกโรงปฏิเสธอย่างแข็งขัน แต่คำพูดจากปากของคนระดับลูกชายผู้นำลิเบีย ก็มีน้ำหนักน่าเชื่อถือไม่น้อยเช่นกัน.

เลนซ์ซูม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook