เศรษฐกิจไทยวิ่งผ่านจุดตํ่าสุด

เศรษฐกิจไทยวิ่งผ่านจุดตํ่าสุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 52 ยังหดตัวติดลบที่ 4.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกพบว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 2.3% ดีขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ของปีก่อนและไตรมาสแรกของปีนี้ ถือว่าเศรษฐกิจไทยได้หลุดพ้นจากจุดต่ำสุดมาแล้วและเริ่มมีสัญญาณของการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในช่วงปลายไตรมาส 2 ทั้งเรื่องการว่างงานที่เชื่อว่าจะมีไม่ถึง 1 ล้านคนอย่างที่หลายคนเป็นห่วงแน่นอน แต่จะอยู่ในระดับเดียวกับภาวะเศรษฐกิจปกติที่จะมีการว่างงานประมาณ 400,000-500,000 คนเท่านั้น การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมส่งออก การใช้กำลังผลิต การลงทุนภาครัฐและการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ รวมถึงภาคการก่อสร้าง

เมื่อรวมกับไตรมาสแรกที่ยังหดตัวติดลบที่ระดับ 7.1% ทำให้ในครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยหดตัวติดลบ 6% และมั่นใจว่าตลอดทั้งปี 52 จะหดตัวติดลบที่ 3-3.5% โดยค่อนข้างไปทางหดตัวที่ 3.1% มากกว่า เพราะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อเดือน เม.ย. 52 ทำให้การประ ชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนและคู่เจรจาต้องยกเลิกไป

ทั้งนี้ สศช.ประเมินว่าปริมาณผลผลิตมวลรวมในประเทศหรือจีดีพีในปี 52 จะอยู่ที่ระดับ 8.78 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นรายได้ต่อหัว 130,749 บาทต่อคนต่อปี ลดลงจากการคาดการณ์เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่คาดว่ามีปริมาณจีดีพี ที่ 8.83 ล้านล้านบาท หรือมีรายได้ต่อหัวที่ 131,426 บาทต่อคนต่อปี

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้นและผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น และมีแรงกดดันต่อต้นทุนการผลิตสิน ค้าและค่าใช้จ่ายของประชาชน แต่หากไม่เกินบาร์เรลละ 60-65 ดอลลาร์สหรัฐจะอยู่ในกรอบที่คาดการณ์

ทั้งนี้แนวทางการบริหารจัดการเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง รัฐบาลต้องดำเนินการใน 6 มาตรการ คือ เตรียมมาตรการรองรับและควบคุมการแพร่ระบาดของไข้หวัด 2009 อย่างเข้มงวด ต้องเร่งรัดการใช้จ่ายของรัฐบาลในไตรมาสสุดท้ายของปี 52 ให้เข้าเป้าหมายการเบิกจ่ายงบประมาณ 94% และเตรียมการล่วงหน้าให้เร่งใช้จ่ายงบประ มาณปี 53 ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณให้ได้อย่างต่อเนื่อง ต้องเร่งรัดการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ให้ลงทุนได้ในไตรมาสสุดท้ายของปี 52, เร่งรัดให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ขยายสินเชื่อให้ผู้ประกอบการอิสระและเอสเอ็มอีที่ขาดสินเชื่อ,เร่งดูแลระบบการประกันราคาสินค้าเกษตรในช่วงที่ราคาพืชผลตกต่ำเพื่อให้ประโยชน์ถึงมือเกษตรกรอย่างแท้จริง และต้องเร่งดูแลค่าเงินบาทให้เหมาะสม โดยไม่อ่อนค่าเกินไปในช่วงที่ราคาน้ำมันสูงและผันผวน ทั้งนี้ต้องไม่แข็งค่า จนส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกและผู้ประกอบการท่องเที่ยว แต่ต้องระวังไม่ทำให้ราคาสินทรัพย์ถูกกดดันให้สูงขึ้นเร็วกว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อยากขอร้องและวิงวอนทุกฝ่าย ให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศโดยอย่าทำให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศต้องสะดุดลง เพราะจะส่งผลกระทบต่อประเทศและประชาชน โดยขณะนี้ในเรื่องของการเมืองนั้นแทบไม่มีผลอะไร แต่ทุกอย่างจะมีผลต่อเศรษฐกิจแน่นอน โดยขณะนี้เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัดและมั่นใจว่าทั้งปีแม้จะไม่กลับมาเติบโตเป็นบวกแต่ก็หดตัวน้อยลงโดยติดลบที่ประมาณ 3-4%.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook