ปัญหาเทคนิคของโทรทัศน์แห่งชาติ

ปัญหาเทคนิคของโทรทัศน์แห่งชาติ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
รายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์ ซึ่งเป็น รายการที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ใช้ถ่ายทอดข้อคิด ความเห็น ให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชน ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 09.00-10.00 น. ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (เอ็นบีที) และทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (เอฟเอ็ม 92.5) ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ทั่วไปหลังจากไม่สามารถถ่ายทอดสดรายการที่นายกรัฐมนตรีไปดำเนินการที่ศูนย์แสดงสินค้าอิมแพ็ค เมืองทองธานี วันที่ 23 ส.ค. ตามเวลากำหนด ด้วยข้ออ้างปัญหาทางเทคนิค

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี สั่งย้าย ผอ.สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (เอ็นบีที) พ้นจากหน้าที่ พร้อมกับตั้งคณะกรรมการสอบสวน โดยระบุว่า เหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรก อีกทั้งรายงานปัญหาสับสนมาก ฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าอุปกรณ์อัพลิงก์สัญญาณที่รถชำรุด อีกฝ่ายหนึ่งอ้างว่าสัญญาณดาวเทียมที่ยิงขึ้นไปไม่เสถียร แต่ทั้ง 2 ส่วนเป็นเรื่องที่สามารถจะแก้ไขได้ ก่อนออกรายการก็ไม่ได้แจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบจนผ่านไปแล้วเกือบ 1าทีถึงจะแจ้ง สะท้อนถึงปัญหาการบริหารของคนมากกว่าปัญหาด้านอุปกรณ์ โดยนายสาทิตย์ยืนยันว่า การย้าย ผอ.สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ไม่ได้ทำเกินกว่าเหตุ เพราะเป็นไปตามข้อเท็จจริง เพื่อให้มีการปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพเหมาะสมและน่าเชื่อถือในสายตาประชาชน

ผู้อยู่ในวิชาชีพสื่อย่อมเข้าใจดีว่าจะต้องระมัดระวังมิให้เกิดความผิดพลาด แม้ปกติวิสัยการทำงานของมนุษย์จะพลั้งเผลอได้ จึงมีความพยายามสร้างระบบหรือกลไกเพื่อป้องกันหรือลดผลที่อาจเกิดขึ้น งานการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์มักเป็นงานสำคัญของบ้านเมือง เช่น พระราชพิธีต่าง ๆ การประกาศข่าวสาร หรือแถลงการณ์สำคัญ เพื่อให้ประชาชน ทราบเหตุอย่างรีบด่วน หากสื่อที่เป็นสถานีโทรทัศน์หลักของทางราชการ ไม่มีความพร้อม ใช้การไม่ได้ทันทีก็จะเกิดความไม่งามหรือปัญหาอื่นตามมา อย่างไรก็ตามหลายครั้งที่เกิดขัดข้องมักอ้างเป็นเรื่องทางเทคนิค แต่ผู้ที่ทำงานเชิงระบบจะเข้าใจดีว่ากลไกต่าง ๆ นั้นจะทำงานได้ดีหรือไม่อยู่ที่การกำกับดูแล หากมีความรอบคอบ ใส่ใจ เฝ้าระวังอย่างดี ก็จะเกิดปัญหาได้ยากหรือป้องกันได้ และหากเหลือวิสัยก็แก้ไขทัน

จากเหตุที่เกิดมาแล้วหลายครั้ง แสดงให้เห็นถึงปัญหาของระบบ คำอธิบายว่าการย้าย ผอ.สถานีโทรทัศน์ มิใช่เกินกว่าเหตุ จึงควรแก่การรับฟัง และหวังว่าจะมิใช่เป็นเพียงการลงโทษเพื่อสังเวยความผิดพลาดเพียงครั้งคราว ทั้งนี้บนพื้นฐานความมั่นใจว่าเป็นปัญหาเชิงการบริหาร หรือความบกพร่องในระบบ เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาทั้งกระบวนการและองค์กร นับแต่การจัดสรรงบประมาณ การจัดซื้อจัดหา เครื่องมืออุปกรณ์ อะไหล่เพียงพอหรือไม่ การจัดการบุคลากรทำให้เกิดขวัญกำลังใจหรือความกระตือรือร้นในงานได้ดีขนาดไหน และควรเร่งหาข้อสรุปแล้วแก้ไขโดยเร็ว เพราะงานถ่ายทอดสดรายการที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดำเนินการยังพลาด กับรายการอื่นก็น่าจะเกิดได้เหมือนกัน.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook