ปฏิรูปการศึกษา...

ปฏิรูปการศึกษา...

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ครูเท่านั้นที่จะนำพาไปถึงฝั่ง

หากดูถึงคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยในยุคปัจจุบันนี้แล้วก็ยังมีอีกหลายอย่างที่ผู้รับผิดชอบทั้งหลายจะต้องหาทางแก้ไขและร่วมกันพัฒนาอย่างเร่งด่วน ทั้งศักยภาพด้านความรู้ ความสามารถ ทักษะคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็นเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ในสังคมอย่างมีความสุขและร่วมเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการนำพาประเทศแข่งขันกับนานาชาติได้อย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งคุณภาพชีวิตเด็กไทยที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม นี้คิดว่าทุกฝ่ายก็ทราบกันดีจึงได้มีการปฏิรูปการศึกษาขึ้นรองรับกับความเจริญก้าวหน้าในทุกด้านดังกล่าว เพื่อให้เด็กและเยาวชนไทยสามารถรู้เท่า รู้ทัน เข้าถึงและเข้าใจ เป็นคนเก่ง คนดี และมีความสุข อะไรทำนองนั้น

แต่จากการใช้เวลาปฏิรูปการศึกษามาแล้วกว่า 10 ปี ผลสำเร็จที่ต้องการเห็นเด็กไทยเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ก็ยังเป็นแค่ความฝันอยู่ ยิ่งเมื่อดูถึงคุณภาพชีวิตของเด็ก ในยุคปัจจุบันหลายด้านกลับลดต่ำลงด้วยซ้ำไปซึ่งจะเห็นได้จากผลการประเมินอย่างเป็นทางการของ สมศ. ผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (O-Net) และการสอบประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (NT) หรือแม้แต่พฤติกรรมการแสดงออกของเด็กและเยาวชน ที่เห็น ๆ กันอยู่ทั่วไปจากปัญหาคุณภาพการศึกษาของประเทศที่ก้าวเดินได้ช้านี้คงจะไปโทษอยู่แค่ว่าการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาล้มเหลวเพราะมัวไปยุ่งอยู่กับการปรับโครงสร้างและตำแหน่งของหน่วยงานและข้าราชการก็คงไม่ถูกต้องไปทั้งหมด เพราะสิ่งที่มักกล่าวอ้างกันนั้นก็ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยเข้าที่ไปนานแล้วพอสมควร ที่สำคัญโรงเรียนเองก็ไม่ได้ไปยุ่งกับการปรับโครงสร้าง ที่ว่านี้มากมายอะไรนัก แต่คุณภาพการศึกษาก็ยังมีปัญหาอยู่เช่นเดิม

ดังนั้นปัญหาคุณภาพการศึกษาที่เกิดขึ้นนี้ปัจจัย หลักน่าจะมาจากตัว ครู มากกว่า ซึ่งในที่นี้ก็ไม่ได้หมายความว่า ครูไทย ไม่เก่ง ไม่ดี ไม่มีความรู้ ความสามารถแต่อย่างใด แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวครูในขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านคุณภาพครูที่จะก้าวได้ทัน กับวิวัฒนาการของโลกยุคใหม่ซึ่งเรื่องนี้ ต้องยอมรับ กันว่าในปัจจุบันยังมีครูอีกจำนวนไม่น้อย ที่ขาดการพัฒนาหรือไม่ยอมพัฒนาตนเองให้ก้าวทันองค์ความรู้และปัจจัยภายนอกที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) หรือภาษาต่างประเทศ ที่เข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิตประจำวันและเรียนรู้ในระดับที่สูงของเด็กซึ่งปัจจัยภายนอกหลายอย่างโดยเฉพาะด้าน IT ที่เด็กบางส่วนเข้าถึง แต่ครูบางคนกลับไม่มีทักษะเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง การใช้งานของเด็กจึงเป็นไปในลักษณะเรียนรู้ด้วยตนเอง ทำให้สื่อทันสมัยเหล่านั้นแทนที่จะเกิดประโายเป็นการสร้างปัญหาให้แก่เด็กและสังคมเข้ามาแทนที่

ปัญหาต่อมา เจตคติด้านการสอนของครูที่การปฏิรูปการศึกษา ครั้งที่ ผ่านมา ไม่สามารถปรับเปลี่ยนแนวคิด วิธีการสอนของครู ให้เป็นไปตามหลักการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ในทิศทางเดียวกันได้ ทั้งนี้อาจจะเกิดจากปัจจัยหลายอย่างทั้งการขาดแคลนครู ขาดแคลนสื่อ ความไม่พร้อมของเด็กในด้านต่าง ๆ รวมถึงตัวครูส่วนหนึ่งไม่สนใจและไม่คิดที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการสอนด้วยเหตุผลที่ว่า การสอนแบบเดิมก็สามารถทำให้เด็กเข้าเรียนต่อในระดับสูงขึ้นได้ทุกรุ่น หรือไม่ก็ สอนตามใจลูกค้า คือผู้ปกครองส่วนมากที่ยังต้องการให้ลูกหลานเข้าเรียนต่อในสถานศึกษาและมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในอนาคตได้การสอนของครูจึงมุ่งเน้นวิชาที่จะใช้กับการสอบเข้าเรียนต่อ หรือไม่ก็สอนตามประสบการณ์ของตนเองที่เคยสอนมา รวมไปถึงสอนตามเนื้อหาจากตำรา ที่สำนักพิมพ์ทั้งหลายจัดพิมพ์จำหน่าย โดยไม่สนใจถึงคุณลักษณะประสงค์ มาตรฐานการศึกษา เป้าหมายคุณภาพของเด็กที่ประเทศชาติต้องการก็ยังมีอยู่มาก

ภาระงานอื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมายที่นอกเหนือจากงานสอนของครูที่ถูกนำมาให้ดำเนินการอย่างมากมาย ก็ถือว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประสิทธิภาพและเวลาที่จะทำการสอนของครูลดลง ซึ่งงานอื่น ๆ ที่ว่านี้ปัจจุบันนับวันจะมีเพิ่มมากขึ้นทั้งจากการคิดและสั่งการของหน่วยงานต้นสังกัดโดยตรงและงานฝากจากกระทรวง กรม และหน่วยงานนอกสังกัดอื่น ๆ ที่ส่งมาให้ร่วมทดลอง นำร่อง ร่วมรณรงค์ สารพัดรูปแบบ พร้อมกับการให้เข้าร่วมอบรม สัมมนา เพื่อให้มีความรู้ เข้าใจกับวิธีการดำเนินงานในโครงการหรือกิจกรรมนั้น ๆ และที่สำคัญสุดคือ ทุกงานจะมีการเก็บข้อมูล ให้รายงานผลการดำเนินการ ซึ่งภาระงานเหล่านี้ครูและ ผู้บริหารสถานศึกษา ไม่สามารถที่จะปฏิเสธได้เลยด้วยถือเป็นนโยบายและเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาเด็ก

แต่ด้วยข้อจำกัดด้านบุคลากรทางการศึกษาของ แต่ละโรงเรียนโดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่นอกจากจะไม่มีบุคลากรอื่น ๆ ช่วยเหลืองานดังกล่าวแล้วแม้แต่ครูที่จะใช้สอนเด็กก็ยังขาดแคลนเมื่ออยู่ก่อนแล้วเมื่อภาระงานอื่น ๆ เพิ่มเข้ามาด้วยจำนวนครูที่มีอยู่อย่างจำกัดก็จะต้องเสียเวลากับการทำงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นซึ่ว่ากันตามความจริงแล้วภาระงานอื่น ๆ หลายกิจกรรมและโครงการประโยชน์ที่จะตกกับเด็กจริง ๆ ก็ไม่มากนักเพราะจากข้อจำกัดดังกล่าว แค่การไปรับความรู้ การจัดทำรายงานข้อมูล การประเมินผล ในแต่ละกิจกรรมที่ถูกส่งเข้ามาอย่างต่อเนื่องก็แทบไม่ทันกับเวลาที่กำหนดไว้แล้ว ส่วนนี้ได้ส่งผลให้การจัดการเรียนการสอนซึ่งเป็นภาระงานหลักขาดประสิทธิภาพไปด้วย การที่จะจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพได้ครูจะต้องมีเวลาศึกษา เตรียมความพร้อมก่อนการสอนตามหลักการและทฤษฎีที่ว่ากันไว้ ดังนั้นหากจะให้ครูได้มีเวลาพัฒนาคุณภาพเด็กอย่างจริงจังครูจะต้องสอนเป็นงานหลัก ๆ ส่วนงานฝากอื่น ๆ ควรจะต้องลดน้อยลงหรือจัดหาบุคลากรอื่น ๆ มาดำเนินการแทน

ปัญหาด้านจำนวนของอัตราส่วนเด็กต่อครูของแต่ละโรงเรียนหรือแต่ละห้องเรียนที่ไม่สมดุลกับการพัฒนา ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นกับโรงเรียนทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก โดยโรงเรียนขนาดใหญ่จะประสบปัญหาจำนวนนักเรียนที่มีมากแต่ขาดอาคารสถานที่และจำนวนครูในแต่ละห้องเรียนจึงอัดเด็กเข้าไป 40-50 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่เกินกว่ากำลังครูจะรับไหวทั้งด้านการสอนและการจัดกิจกรรม ที่จะดูแลเด็กเป็นรายบุคคล ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กแม้จะมีเด็กน้อยแต่ด้วยจำนวนครูขาดแคลนไม่พอสอนครบชั้น ทำให้การสอนของบางโรงเรียนต้องรวมหลายชั้นจัดการเรียนการสอนร่วมกันส่งผลให้การเรียนรู้ของเด็กไม่เป็นไปตามศักยภาพที่มีอยู่กับการเรียนรู้ในแต่ละระดับชั้น

นอกจากนั้นก็ยังมีปัญหาด้านขวัญกำลังใจที่ครูยุคปัจจุบันนี้โดยเฉพาะกลุ่มครูที่รับราชการมานานดูเหมือนจะตกต่ำลงค่อนข้างมาก ทั้งนี้นอกจากจะเกิดจากอุปสรรคปัญหาต่าง ๆ ในการปฏิบัติงานที่ได้กล่าวมาเบื้องต้นแล้ว เรื่องของความก้าวหน้าในอาชีพก็ถือเป็นที่ส่งผลต่อความกระตือรือร้นในการปฏิบัติหน้าที่อย่างยิ่ง ทั้งนี้ด้วยความเจริญก้าวหน้าของครูในปัจจุบันยังใช้วิธีการประเมินผลงานด้านวิชาการเป็นหลัก ซึ่งงานที่ว่านี้ครูส่วนใหญ่ไม่ค่อยถนัดเหมือนอาจารย์มหาวิทยาลัยที่อยู่ใกล้แหล่งข้อมูลวิชาการ แต่สำหรับครูทั่วไปทักษะ ประสบการณ์ที่มีอยู่ก็ คือการสอนเด็ก แต่ต้องมาทำผลงานวิชาการที่ไม่มีความถนัดจึงนับเป็นการสร้างความทุกข์กาย ใจอย่างมากและยิ่งผลงานไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินด้วยแล้ว ขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานก็พลอยหมดไป ซึ่งจะเห็นได้จากเมื่อมีโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดเกิดขึ้นครั้งใด ข้าราชการ ครูนับเป็นกลุ่มที่มีผู้สมัครขอเข้าร่วมโครงการจนเกินโควตาที่ได้รับมาทุกครั้งไป

จากปัญหาที่เกี่ยวข้องกับครูทั้งหลายที่ได้นำมา ยกตัวอย่างในที่นี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาจริงที่เกิดขึ้น ในพื้นที่ต่าง ๆ เมื่อครู ซึ่งมีหน้าที่หลักกับการพัฒนาคุณภาพเด็กยังประสบปัญหามากมายก่ายกองเช่นนี้หากภาครัฐไม่รีบแก้ไขให้ครูมีความพร้อมกับการทำหน้าที่การจัดการเรียนการสอนอย่างเต็มที่ เต็มใจ และเต็มกำลังความสามารถแล้วแม้จะมีการปฏิรูปการศึกษากันอีกสักกี่ครั้ง หรือมีการกำหนดหลักการ ยุทธศาสตร์สวยหรูขนาดไหน หากครูไม่นำไปสู่ตัวเด็กทุกอย่างก็จบอยู่แค่ตัวหนังสือเท่านั้นเองแหละครับ.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook