เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว แต่ยังเปราะบาง ภาครัฐต้องประคับประคอง

เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว แต่ยังเปราะบาง ภาครัฐต้องประคับประคอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมว่า จากตัวเลขเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 2/2552 ที่เริ่มกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ไตรมาส เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยจีดีพีที่ปรับฤดูกาลขยายตัวร้อยละ 2.3 จากไตรมาสที่ 1/2552 (Seasonally Adjusted Quarter-on-Quarter) และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีอัตราการหดตัวชะลอลงมาที่ร้อยละ 4.9 (Year-on-Year) จากที่ติดลบเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 10 ปี ที่ร้อยละ 7.1 ในไตรมาสที่ 1/2552 ตัวเลขดังกล่าวถือได้ว่าเป็นสัญญาณบวกที่ค่อนข้างดี ขณะที่คาดว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และการฟื้นตัวของอุปสงค์ในตลาดโลก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2/2552 จะส่งผลดีต่อเนื่องมาสู่ไตรมาสที่ 3/2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตัวเลขจีดีพีในไตรมาสที่ 3/2552 ที่ปรับฤดูกาลแล้ว อาจจะขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ( QoQ, ) ขณะที่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้จีดีพีจะยังคงเป็นตัวเลขติดลบ แต่น่าจะเป็นอัตราลบที่น้อยลง โดยอาจหดตัวประมาณร้อยละ 4.5 (YoY) และอาจจะเริ่มขยายตัวเป็นบวกในช่วงไตรมาสที่ 4/2552 ถ้าเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้จีดีพีในช่วงครึ่งปีหลังหดตัวชะลอลงมาที่ประมาณร้อยละ 1.0 จากที่หดตัวร้อยละ 6.0 ในช่วงครึ่งปีแรก อย่างไรก็ตาม แม้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 3/2552 แต่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมีมุมมองที่ระมัดระวัง โดยเศรษฐกิจไทยยังอาจเผชิญความเสี่ยงในกรณีเกิดเหตุการณ์ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัว โดยเฉพาะประเด็นที่จะกระทบให้การเบิกจ่ายงบประมาณหรือการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลต้องหยุดชะงักลง ขณะเดียวกัน ในด้านเศรษฐกิจต่างประเทศ การฟื้นตัวของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วก็ยังคงมีความเปราะบาง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ทิศทางราคาน้ำมันที่อาจปรับตัวสูงขึ้น การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ที่จะมีผลต่อค่าเงินบาทและการส่งออกของไทย เป็นต้น จากความไม่แน่นอนดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงยังคงกรอบประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2552 ไว้ที่หดตัวร้อยละ 3.5-5.0 โดยคาดว่า การบริโภคของภาคเอกชนจะหดตัวร้อยละ 1.4-1.7 การลงทุนหดตัวร้อยละ 7.4-9.0 การส่งออกในรูปมูลค่าดอลลาร์ฯ หดตัวร้อยละ 14.5-17.5 ขณะที่การนำเข้าอาจหดตัวลงร้อยละ 27.0-23.5 ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มมีสัญญาณของการฟื้นตัวแล้ว แต่เส้นทางการฟื้นตัวยังคงขึ้นอยู่กับปัจจัยเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งยังมีความไม่แน่นอน ขณะที่อุปสงค์ในภาคเอกชนโดยพื้นฐานแล้วยังคงอ่อนแรงหากปราศจากมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ ดังนั้น ในระยะเวลาที่เหลือของปี ซึ่งถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญนี้ บทบาทของรัฐบาลจึงมีความหมายอย่างยิ่งในการประคับประคองเศรษฐกิจให้มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องได้ตลอดรอดฝั่งแม้ว่าเศรษฐกิจอาจจะต้องเผชิญความเสี่ยงในหลายด้านก็ตาม หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐในระยะต่อจากนี้จึงขึ้นอยู่กับความสำเร็จของการผลักดันโครงการไทยเข้มแข็ง ควบคู่ไปกับการสร้างเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งเป็นความคาดหวังของทุกฝ่ายในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ อีกทั้งยังมีความหมายต่อการเรียกความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ให้ธุรกิจมีความมั่นใจที่จะกลับมาเดินหน้าแผนการลงทุน และผู้บริโภคมีความมั่นใจที่จะใช้จ่าย ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่มั่นคงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจให้สามารถดำเนินต่อเนื่องไปได้ในระยะถัดๆ ไป สิ่งสำคัญเฉพาะหน้าสำหรับรัฐบาลจึงอยู่ที่การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ และผลักดันโครงการลงทุนของรัฐให้มีความคืบหน้าได้ตามแผน โดยต้องมุ่งเน้นให้โครงการดำเนินการอย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพเพื่อให้เม็ดเงินงบประมาณก่อเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ส่วนในด้านนโยบายการเงินนั้น ภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ และความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่ยังคงมีอยู่ อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำดังที่เป็นอยู่ต่อไปจนถึงในช่วงกลางปี 2553
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook