เปิดข้อกำหนด-ประกาศพื้นที่มั่งคงคุมเขตดุสิต สกัดเสื้อแดงป่วนกรุงฯ

เปิดข้อกำหนด-ประกาศพื้นที่มั่งคงคุมเขตดุสิต สกัดเสื้อแดงป่วนกรุงฯ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
หมายเหตุ...รายละเอียดข้อกำหนดและประกาศให้เขตพื้นที่เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคมถึงวันที่ 1 กันยายน 2552 ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.รมน.) เป็นผู้เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม และนายอภิสิทธิ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามในประกาศและข้อกำหนดดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าเพื่อป้องกันมิให้การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในวันที่ 30 สิงหาคมขยายตัวลุกลามเป็นเหตุการณ์ก่อความไม่สงบ

---------------

ประกาศ เรื่อง พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ.2552 เป็นต้นไปมีแนวโน้มจะเกิดความวุ่นวายทางการเมืองจากการที่มีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มได้ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนในการปลุกระดมมวลชนให้เข้าร่วมประท้วงและปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล และสถานที่ใกล้เคียง เพื่อขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ราชการของนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งเพื่อกดดันให้นายกรัฐมนตรียุบสภาหรือลาออก ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการบริหารราชการแผ่นดินและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ตลอดจนอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้นำต่างประเทศที่จะเดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 23 ถึงวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2552 และมีแนวโน้มลุกลามเป็นเหตุการณ์ก่อความไม่สงบอันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

ดังนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการในการรักษาความสงบและความปลอดภัยมีเอกภาพ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขมิให้สถานการณ์ขยายตัวลุกลามเป็นเหตุการณ์ก่อความไม่สงบ หรือหากเกิดสถานการณ์ขึ้นเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถแก้ไขปัญหาให้ยุติโดยเร็ว โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการ เกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 และมาตรา 31 ประกอบกับ มาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 41 มาตรา 43 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายคณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2552 ดังต่อไปนี้

1.ให้เขตพื้นที่เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

2.ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรเป็นผู้รับผิดชอบในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และจัดทำแผนการดำเนินการในการบูรณาการ กำกับ ติดตาม และเร่งรัดหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด รวมทั้งจัดตั้งศูนย์อำนวยการหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น เพื่อปฏิบัติภารกิจนี้เป็นการเฉพาะ

ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2552 ถึง วันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2552

----------------

ประกาศ

เรื่อง การให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เป็นเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย

ตามที่ได้มีประกาศพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในเขตพื้นที่เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2552 ถึงวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2552 และมอบหมายให้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการนั้น

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 และมาตรา 31 ประกอบกับ มาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 41 มาตรา 43 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะรัฐมนตรี จึงมีมติเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2552 ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรมีอำนาจดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาต อนุมัติสั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟู หรือช่วยเหลือประชาชนในเขตท้องที่ ที่มีการประกาศพื้นที่และห้วงเวลาปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ดังต่อไปนี้

1.พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551

2.พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547

3.พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522

4.พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530

5.พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550

6.พระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493

7.พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522

8.พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522

9.พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535

10.พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490

11.ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เฉพาะบทบัญญัติที่เกี่ยวกับมูลนิธิและสมาคม

12.ประมวลกฎหมายอาญา

13.ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เฉพาะบทบัญญัติเกี่ยวกับการใช้อำนาจสืบสวนและสอบสวน และการใช้อำนาจของพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ

ทั้งนี้ ให้รวมถึงกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวข้างต้นด้วย

ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เป็นเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว ทั้งนี้ให้มีอำนาจดำเนินการโดยให้ถือเสมือนเป็นเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายนั้น โดยการใช้กฎหมายดังกล่าวให้ดำเนินการเท่าที่จำเป็นและไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ ในการนี้ การดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าว มิได้เป็นการทำให้การบังคับใช้กฎหมายของผู้รับผิดชอบเดิมหมดไป ซึ่งยังคงครอบคลุมหน้าที่ตามปกติ

ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2552 ถึงวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2552

-----------------------

ข้อกำหนด

ออกตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551

ตามที่ได้มีประกาศเขตพื้นที่เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2552 ถึงวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2552 และมอบหมายให้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการนั้น

เพื่อให้สามารถป้องกัน ควบคุม และแก้ไขเหตุการณ์ในพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรดังกล่าว เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเกิดประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 และมาตรา 31 ประกอบกับมาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 38 มาตรา 41 มาตรา 43 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรโดยความเป็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2552 จึงออกข้อกำหนด ดังนี้

1.ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการหรืองดเว้นการปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนการดำเนินการในอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน.และพนักงานเจ้าหน้าที่ของ ผอ.รมน.ทั้งนี้ ตามที่ ผอ.รมน.ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจาก ผอ.รมน. หรือผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ มีคำสั่ง หรือเป็นการปฏิบัติตามแผนการดำเนินการ เพื่อป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร

2.ห้ามบุคคลใดเข้าหรือต้องออกจากบริเวณพื้นที่ อาคาร หรือสถานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของ กอ.รมน.และภายในระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ของ กอ.รมน.ทั้งนี้ ตามที่ ผอ.รมน.ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจาก ผอ.รมน.หรือผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ ประกาศกำหนด เว้นแต่เป็นบุคคลที่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้น

3.ห้ามนำอาวุธออกนอกเคหสถาน

4.ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ ทั้งนี้ ตามที่ ผอ.รมน.ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจาก ผอ.รมน. หรือผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการประกาศกำหนด

5.ให้บุคคลปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติอย่างใดอันเกี่ยวกับเครื่องมือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตามชนิด ประเภท ลักษณะการใช้หรือภายในเขตบริเวณพื้นที่ที่ ผอ.รมน.ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจาก ผอ.รมน.หรือผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ ประกาศกำหนด เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่ชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สินของประชาชน

ในการนี้ ผอ.รมน.ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจาก ผอ.รมน.หรือผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ จะกำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนด หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของพนักงาน เจ้าหน้าที่ตามที่เห็นสมควร เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุได้

ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2552 ถึง วันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2552

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook