เทือกอ้ำอึ้งเด้งพัชรวาทเข้ากรุผวาถูกฟ้องกลับ

เทือกอ้ำอึ้งเด้งพัชรวาทเข้ากรุผวาถูกฟ้องกลับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 26 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.จะพิจารณาแต่งตั้งนายตำรวจระดับรอง ผบ.ตร. เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างใหม่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ว่า เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว เพราะการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจตามโครงสร้างใหม่ของสตช. ควรจะดำเนินการให้เสร็จตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา แต่เมื่อมีอุปสรรคเกิดขึ้นจึงต้องเร่งทำให้เสร็จโดยเร็ว ซึ่งการโยกย้ายนั้นแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ระดับนายพลที่จะเพิ่มขึ้นตั้งแต่ระดับพันตำรวจเอกเป็นพลตำรวจตรี จำนวน 10 นาย นอกนั้นจะเป็นการเกลี่ยตำแหน่งในส่วนของสำนักผู้บัญชาการตำรวจ รองผู้บัญชาการตำรวจ ตามโครงสร้างใหม่ ซึ่งมีประมาณ 142 นาย ซึ่งการพิจารณาจะต้องผ่านที่ประชุมของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่ตนเป็นประธาน และจากการประชุมกันมาหลายครั้ง ที่ประชุม ก.ตร.ก็ยืนยันตามบัญชีรายชื่อที่เคยมีการเสนอมา ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง นายสุเทพ กล่าวว่า สำหรับบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจระดับล่างนั้น ตั้งแต่รองผู้บังคับการลงมาจนถึงระดับสารวัตรก.ตร.มีมติให้ ผบ.ตร.ร่วมกับรอง ผบ.ตร.ทุกคนรวมทั้งจเรตำรวจเป็นกรรมการพิจารณา โดยประเด็นสำคัญคือการแต่งตั้งโยกย้ายการโครงสร้างใหม่ อาจมีนายตำรวจบางคนที่ต้องได้รับการแต่งตั้งเพื่อไปบรรจุลงในโครงสร้างใหม่ ซึ่งอาจไม่ตรงตามกฏที่ ก.ตร.ระบุ เช่น ไม่ได้สังกัดหน่วยงานนั้นๆในช่วงเวลาที่ระเบียบกำหนดไว้ เพราะมีการเกลี่ยตำแหน่งมาจากที่อื่น ซึ่ง ก.ตร.เห็นว่าเพื่อให้การแต่งตั้งโยกย้ายเป็นไปด้วยความเป็นธรรม ผู้ที่จะถูกเสนอชื่อบรรจุแต่งตั้งใหม่ โดยยกเว้นกฎของ ก.ตร.จะต้องเสนอรายชื่อขึ้นมาขออนุมัติเป็นรายๆไป ซึ่งตนเห็นว่าไม่มีอะไรที่น่าตื่นเต้น ถือเป็นเรื่องปกติถ้าทำตามที่ ก.ตร.กำหนด ทุกอย่างก็จะเรียบร้อย เมื่อถามว่าโผดังกล่าวจะเรียบร้อยได้เมื่อใด นายสุเทพ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับ ผบ.ตร.และคณะต้องไปประชุมหารือกันให้ลงตัว จากนั้นก็ดำเนินการได้ทันที ซึ่งจากการประชุม ก.ตร.ครั้งสุดท้าย ที่ประชุมมีมติให้ประสานงานเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 7 ก.ย.นี้ ดังนั้นบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายทั้งหมดก็ต้องเสนอขึ้นมาก่อน โดยก่อนวันที่ 7 ก.ย.นี้ต้องสามารถบรรจุแต่งตั้งได้ในระดับนายพลได้ เพราะไม่เช่นนั้นก็ต้องทำเป็นตำแหน่งรักษาการ ซ่งค่อนข้างจะยุ่งยาก ที่ต้องเร่งทำให้เสร็จก่อนวันดังกล่าว เพราะช่วงเดือน ก.ย.จะต้องมีการจัดทำบัญชีแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างลง หลังการเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย. ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีข่าวว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เตรียมตั้งคณะกรรมการสอบ พล.ต.อ.พัชรวาท เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการย้ายมาช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ กล่าวว่า เรื่องนี้ตนเป็นคนเสนอเอง แต่ขอชี้แจงว่าเรื่องนี้สืบเนื่องมาเป็นเวลาค่อนข้างยาว ซึ่งที่ต้องดำเนินการเพราะมีคนร้องเรียนกล่าวโทษ พล.ต.อ.พัชรวาท และเจ้าหน้าที่ตำรวจรายอื่นว่า พล.ต.อ.พัชรวาท ไม่ดำเนินการตามขั้นตอน กฎกติกา กรณีการว่าจ้างทำประชาสัมพันธ์ วงเงินประมาณ 17 ล้านบาทของ สตช. ซึ่งเรื่องนี้ถูกร้องเรียนมาตั้งแต่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช จนมาถึงรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต่อเนื่องถึงช่วงที่นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย เป็นผู้รักษาการนายกรัฐมนตรี ซึ่งในความเห็นของรัฐบาลนายสมชายนั้น ได้สั่งการค้างเอาไว้ว่าให้ไปดำเนินการสอบสวน ดังนั้นเมื่อตนเข้ามากำกับดูแลสตช.ในรัฐบาลชุดนี้ จึงต้องเข้าไปดำเนินการต่อ แต่ยังไม่แน่ใจในคำสั่งของนายสมชายว่าสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง ทางปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จึงเสนอความเห็นว่ากรณีดังกล่าว หลังจากได้ตรวจสอบเอกสารการร้องเรียนและเอกสารต่างๆแล้ว เห็นว่าไม่เป็นเรื่องที่สามารถจะกล่าวหาได้ จึงสมควรให้ยุติ ตนจึบนำเรื่องไปปรึกษาผู้รู้ทางด้านกฎหมาย เช่น อัยการสูงสุด ก็ได้รับความเห็นว่าควรตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งจากความเห็นที่แตกต่างกันนี้ ตนจึงได้หารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา และได้รับคำตอบว่าสามารถทำได้ 2 เรื่อง คือ 1. ให้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ตามมาตรา 84 ของ พ.ร.บ.ตำรวจ จากนั้นเมื่อได้ข้อสรุปแล้วจึงใช้ดุลยพินิจตัดสินว่าจะทำอย่างไรต่อไป เช่น ดำเนินการทางวินัย หรือสั่งยุติเรื่อง 2. ตนสามารถใช้ดุลยพินิจในการสั่งยุติเรื่องทันทีเลยก็ได้ เมื่อถามว่าอำนาจในการแต่งตั้งคณะกรรมการฯนี้ ไม่เกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีใช่หรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า ใช่ เรื่องนี้เป็นอำนาจของตน แต่เมื่อผู้ร้องเรียนส่งเรื่องมาถึงนายกรัฐมนตรี ตนจึงต้องทำความเห็นชี้แจง รายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบว่าเรื่องนี้ควรจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนให้เกิดความกระจ่าง จึงเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ เมื่อนายกรัฐมนตรีเห็นชอบตนจึงมอบหมายให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีไปยกร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ ส่วนจะแต่งตั้งได้เมื่อไหร่นั้นขึ้นอยู่กับหนังสือที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจะส่งมาให้ตนลงนาม เพราะเรื่องนี้ต้องทำอย่างรอบคอบ เนื่องจากคนที่จะเป็นคณะกรรมการสอบบุคคลระดับ ผบ.ตร.จะต้องมีอาวุโสและตำแหน่งที่สูงกว่า ผู้สื่อข่าวถามว่าระหว่างการสอบสวนจะต้องสั่งพักราชการ ผบ.ตร.ไว้ก่อนหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับผลสอบข้อเท็จจริงว่าจะบ่งชี้ออกมาอย่างไร ถ้ามีแนวโน้มว่ามีการปฏิบัติไม่ถูกต้อง ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย เมื่อถามว่าในคำสั่งสมัยนายสมชายระบุในเรื่องนี้เอาไว้อย่างไร นายสุเทพ กล่าวว่า ให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนและให้ย้ายมาช่วยราชการที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ตนไม่แน่ใจ เพราะถ้าทำเช่นนั้น พล.ต.อ.พัชรวาทจะสามารถฟ้องร้องตนได้ และที่สำคัญคือต้องให้ความเป็นธรรม โดยทำตามกฎหมายและอย่าล้ำเส้น เมื่อถามว่าการสอบบุคคลที่ยังอยู่ในตำแหน่งจะเป็นปัญหากับคณะกรรมการที่จะเข้ามาสอบสวนหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า ที่สำคัญคือคณะกรรมการต้องไม่ใช่ผู้ใต้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหา เมื่อถามว่าในเมื่อผลสอบยังไม่ชัดเจน เหตุใดนายชวรัตน์จึงมีคำสั่งให้ พล.ต.อ.พัชรวาท กลับไปทำงานที่ สตช.ได้ นายสุเทพ กล่าวว่า ต้องไปถามนายชวรัตน์เอาเอง ตนยอมรับว่าเรื่องนี้ค่อนข้างชุลมุน ซึ่งถ้าสื่อสงสัย ตนก็พร้อมให้ดูข้อมูล เมื่อถามว่าจะชี้แจงกรณีที่หลายฝ่ายวิจารณ์ว่านายกรัฐมนตรีพยายามหาข้ออ้างจะย้ายให้ พล.ต.อ.พัชรวาทมาช่วยราชการได้อย่างไร นายสุเทพ กล่าวว่า ไม่มี เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นนักกฎหมาย และรอบรู้กฎหมายเป็นอย่างดี เชื่อว่าทำทุกอย่างตามกติกา ขออย่าให้ทุกฝ่ายเป็นกังวลในเรื่องนี้ เพราะนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องบริหารบ้านเมือง คงไม่มีหน้าที่ที่จะมาดูข้าราชการคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ ผู้สื่อข่าวถามว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากความขัดแย้งของอดีต ผบ.ตร. 2 คนใช่หรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า ตนคิดว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น แต่ถ้าพูดไปก็จะถูกเล่นงาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook