การ์ตูนล้อ กระตุกต่อมฮา

การ์ตูนล้อ กระตุกต่อมฮา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ไม่มีวันตายในหน้าหนังสือพิมพ์

มนุษย์โบราณจำลองสิ่งรอบ ๆ ตัวด้วยการขีดเขียนเค้าโครงง่าย ๆ บนผนังถ้ำ และนั่นถือเป็นที่มาของการ์ตูนในยุคปัจจุบัน

แม้จะเคยซบเซาถึงขั้นต้องทำ การ์ตูนเล่มละบาท ออกมาประทังชีวิต หรือแม้จะถูกโจมตีด้วยการ์ตูนต่างชาติ ทั้งซีกตะวันตกอย่างการ์ตูนอเมริกา หรือการ์ตูนญี่ปุ่นจากซีกตะวันออก แต่การ์ตูนไทยก็ยังไม่เคยหายไปจากแผงหนังสือ

นอกจากการ์ตูนที่เป็นเรื่องราวยาว ๆ แล้ว การ์ตูนแก๊ก การ์ตูนล้อเลียน การ์ตูนชวนหัว ที่เน้นให้ผู้ดูเกิดอารมณ์ขัน การ์ตูน ช่องทั้งแบบ 1 ช่องเรื่อยไปจนถึงหลายช่องจบ ก็เป็นการ์ตูนอีกแบบหนึ่งที่คนให้ความสนใจ ซึ่งการ์ตูนชนิดนี้จะเน้นไปที่การหยิบจับเอาสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว ทั้งด้านชีวิตความเป็นอยู่ สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง มาเขียนโดยสอดแทรกมุกตลกเข้าไป เราจะเห็นการ์ตูนลักษณะนี้ในหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ

อย่างที่บอกแล้วว่าการ์ตูนหนังสือพิมพ์จะเน้นการล้อเลียนในหลาย ๆ ด้าน บางครั้งมีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ รัฐบาล หรืออาจสอดแทรกวิธีการแก้ปัญหา ตามความคิดของนักวาดการ์ตูน จึงมีคนเรียกว่า การ์ตูนล้อการเมือง แต่ ทั้งนี้มีจุดหมายเพื่อความสนุกสนาน ขบขัน มากกว่ามุ่งทำลาย การ์ตูนหนังสือพิมพ์จึงเป็นคอลัมน์แรก ๆ ที่มีผู้นิยมอ่าน

การ์ตูนนิสต์การเมืองคนแรกคือชาวอังกฤษ ชื่อ เจมส์ กิลล์เรย์ (ค.ศ. 1757 -1815) ได้เขียนภาพล้อเลียนพระบรมวงศานุวงศ์ของประเทศอังกฤษ ที่ใช้จ่าย อย่างฟุ่มเฟือย ศีลธรรมของชนชั้นสูง และการทำงานของรัฐบาล ทำให้ประชาชนคลาย ความเครียดจากภาวะสงครามในขณะนั้น ภาพล้อของ กิลล์เรย์ ไม่ได้ตีพิมพ์ในหนัง สือพิมพ์ แต่มีวางจำหน่ายในร้านใกล้ ๆ สวนสาธารณะ ทำให้เป็นที่สนใจของผู้ที่ผ่านไปมา

หนังสือที่พิมพ์ภาพล้อการเมืองเล่ม แรก คือ นิตยสารฝรั่งเศส ชื่อ CARIVARI ต่อมานิตยสารรายสัปดาห์ของอังกฤษ ชื่อ PUNCH ก็ได้ลง้อเลียนการเมืองของ John Leech ในช่วงนั้นการ์ตูนเสียดสีทางการเมืองเป็นที่นิยมมากในอังกฤษอีกด้วย และจากจุดเริ่มต้นนี้เอง ก็ทำให้ประเทศอื่น ๆ อย่าง เยอรมนี จีน ก็เริ่มตีพิมพ์หนัง สือการ์ตูนลงในสื่อต่าง ๆ ด้วย

สำหรับการ์ตูนล้อในเมืองไทย เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงบันทึกไว้ในพระราชหัตถเลขา ปี พ.ศ. 2407 กล่าวถึงช่างวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ที่แทรกรูปวาดล้อเลียน ข้าราชบริพารไว้หลายรูป

ปี พ.ศ. 2440 (ค.ศ. 1897) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาส ยุโรปเป็นครั้งแรก มีผู้วาดภาพการ์ตูนข่าวการเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนั้น ลงตีพิมพ์ในนิตยสาร วารสาร หนังสือพิมพ์ พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมสิ่งพิมพ์เหล่านั้นส่งกลับมาให้พระบรมวงศานุวงศ์ที่เมืองไทย

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยศิลปะการวาดภาพมาก ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานคำว่า ภาพล้อ ซึ่งมาจากภาษาอังกฤษคำว่า CARTOON พระองค์ยังทรงวาดภาพล้อเลียนข้าราชบริพารตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ 3 ฉบับ คือ ดุสิตสมัย ดุสิตสมิต และ ดุสิตสักขี

ส่วนการ์ตูนนิสต์การเมืองคนแรกของไทยคือ เปล่ง ไตรปิ่น ที่นำวิชาศิลปะวาดภาพจากยุโรปที่ไปร่ำเรียนมา รวม ไปถึงการพิมพ์สมัยใหม่เข้ามาเผยแพร่ โดยเขียนการ์ตูนล้อเลียนนักการเมืองในยุคนั้นจนได้รับรางวัลจากการประกวดจากร.6 และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนปฏิภาคพิมพลิขิต

วงการการ์ตูนซบเซาอยู่ช่วงหนึ่ง แต่มาพ.ศ. 2475 สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองวงการการ์ตูนเริ่มฟื้นตัว พอหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประยูร จรรยาวงศ์ ในชื่อ ศุขเล็ก เขียน การ์ตูนล้อการเมืองจนได้รับรางวัลจากการประกวดการ์ตูนสันติภาพโลกที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในปีพ.ศ. 2503 และได้รับรางวัลแมกไซไซ ที่ ประเทศฟิลิปปินส์ หลังจากนั้นการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองผ่านการวาดการ์ตูนได้ั่งห้ามในยุคเผด็จการครองเมือง

การ์ตูนนิสต์ที่มีชื่อเสียงเกิดขึ้นมากมายหลังเหตุการณ์ 14 ต.ค. พ.ศ. 2516 ไม่ว่าจะเป็น สมชัย กตัญญุตานันท์ หรือ ชัย ราชวัตร จากการ์ตูนชุด ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน, ชูชาติ หมื่นอินกุล ในชื่อ หมื่น, บัญชา-คามิน, ศักดา เอียว ในชื่อ เซีย, อรรรณพ กิติชัยวรรณ ในชื่อ แอ๊ด เดลินิวส์ ซึ่งตอนหลังเปลี่ยนไปเขียนประจำในหนังสือพิมพ์อีกหลายฉบับ เรื่อยมาจนถึง ณรงค์ จรุงธรรมโชติ ในชื่อ ขวด เดลินิวส์ ในคอลัมน์ ขาประจำ และ ฮากันวันเสาร์ ยังมีการ์ตูนนิสต์อีกหลายคนที่ไม่สามารถเอ่ยถึงได้หมด เหล่านี้ล้วนเพิ่มสีสันให้กับวงการการ์ตูนไทย โดยเฉพาะการ์ตูนล้อในหนังสือพิมพ์

และเพื่อเฟ้นหาการ์ตูนนิสต์หน้าใหม่ประดับวงการ ตอนนี้ทางหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ได้จัดประกวดวาดภาพการ์ตูนล้อ หรือ การ์ตูนหนังสือพิมพ์สร้างสรรค์สังคม ใน โครงการดีดี & ดี 2 (DD & D 2: Daily News'' Design & Develop- ment 2) ที่เปิดตัวโครงการและเริ่มรับสมัครแล้ว ทั้งในรุ่นอายุต่ำกว่า 18 ปี และอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดได้ที่ www.dailynews.co.th/DD & D2

คอลัมน์การ์ตูนล้อ นับเป็นเสน่ห์และดึงดูดใจสำหรับผู้อ่านที่สนใจในอารมณ์ขัน และมุมมองต่อสังคมบ้านเมือง ซึ่งจะไม่มีวันตายไปจากหน้าหนังสือพิมพ์ไทย.

นภาพร พานิชชาติ

napapornp@dailynews.co.th

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook