เปิดกลยุทธ์ป่าล้อมเมือง ''โกลบอลเฮ้าส์'' เป้ายอดขาย 4.4 พันล้านสิ้นปี

เปิดกลยุทธ์ป่าล้อมเมือง ''โกลบอลเฮ้าส์'' เป้ายอดขาย 4.4 พันล้านสิ้นปี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
การเข้ามาระดมทุนนำบริษัทเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อเร็ว ๆ นี้ของ บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นร้านค้า โมเดิร์น เทรด ขายวัสดุก่อสร้าง ครบวงจร ที่มีการเติบโตจาก เครือข่ายสาขาในต่างจังหวัด ผู้บริหารล้วนแล้วแต่นักธุรกิจท้องถิ่น

นับเป็นเรื่องที่น่าจับตาไม่ใช่น้อยไม่ว่าจะเป็นแนวรุกแบบป่าล้อมเมืองคือ มีเครือข่ายสาขา ในภาคอีสาน ภาคเหนือ ตะวันออก ภาคกลางตอนบนและล่าสุดกำลังสร้างอาณาจักรแห่งใหม่ ใหญ่ระดับยักษ์ที่เมืองทองธานีในเนื้อที่ 140 ไร่ กับเม็ดเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ 663 ล้านบาท จะต่อยอดอาณาจักรของ โกลบอลเฮ้าส์ ได้มากน้อยแค่ไหน อ่านได้จาก สัมภาษณ์ นายวิทูร สุริยวนากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารดังนี้

+++ ผุดโปรเจ็กต์พันล้านเมืองทองธานี

เหตุผลสำคัญที่เข้ามาลงทุนใน กรุงเทพฯ ซีอีโอ โกลบอลเฮ้าส์ ระบุว่า เป็นเพราะได้ซื้อที่ดิน 140 ไร่บริเวณเมืองทองธานี มูลค่าร่วม 500 ล้านบาท เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาหลังจากก่อนหน้านั้นมองหาที่ดินมานานแต่ไม่ลงตัว และมีแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯอยู่แล้ว การได้ที่ดินผืนนี้มา ด้วยจังหวะและโอกาส ซึ่งถือเป็นที่ดินผืนใหญ่ที่มีแผนจะพัฒนาอย่างครบวงจร ด้วยงบประมาณราว 1 พันล้านบาท

ภายในโครงการที่วางไว้จะมีทั้งร้านขายวัสดุก่อสร้างภายใต้แบรนด์ โกลบอลเฮ้าส์ ในพื้นที่ 28,000 ตารางเมตร มีสินค้ามากกว่า 80,000 รายการ ที่คาดว่าจะใช้พื้นที่ในราว 30 ไร่ ส่วนที่เหลือจะหาพันธมิตรทางธุรกิจเข้ามาร่วมทุนด้วย ในลักษณะของ คอมมิวนิตี มอลล์ ร้านค้า ร้านอาหาร ที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนกรุงเทพฯ

จุดเด่นของโครงการนี้คือ การคมนาคมสะดวก เชื่อมต่อได้ทุกทิศทาง แต่ละปีมีคนไปอิมแพ็ค เป็นล้านคน จะผ่านโครงการ อีกทั้งขนาดพื้นที่ใหญ่มากมีที่จอดรถสะดวกสบายและเพียงพอ จากการคำนวณเบื้องต้น เนื้อที่ 1 ไร่ จอดรถได้ 55 คัน และปัญหาใหญ่ของ ห้างในกรุงเทพฯ คือเรื่องที่จอดรถ แต่โครงการนี้ไม่มีปัญหา ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการออกแบบ รายละเอียด ทำมาสเตอร์แพลน

ส่วนการเข้ามาขยายการลงทุนในกรุงเทพฯ ไม่เป็นอุปสรรค แม้ว่าจะเติบโตมาจากต่างจังหวัดเนื่องจาก แหล่งผลิตวัสดุ อยู่ในกรุงเทพฯ มีไม่กี่ราย และตลาดก็อยู่ในกรุงเทพฯ เกือบของ 50 % ของตลาดรวมดังนั้นยังมีช่องว่างทางการตลาดอีกมาก แต่อาจจะมีการปรับเปลี่ยนตัวสินค้าหันมาเพิ่มสินค้าด้านการตกแต่งให้มากขึ้น เพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ในกรุงเทพฯ อีกทั้งการขยายเครือข่ายก็เหมือนกับห้างสรรพสินค้าทั่วไปที่จะเปิดตามจุดต่าง ๆ เพื่อดักลูกค้า

+++ ซีเมนต์-เหล็ก ราคาพุ่ง ตลาดโตสวนทางเศรษฐกิจ

สำหรับตลาดวัสดุก่อสร้างที่ผ่านมาจะโตสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจ ยิ่งดอกเบี้ยถูก คนจะสร้างบ้านวัสดุก่อสร้างจะขายดี เพราะเก็บเงินฝากแบงก์ดอกเบี้ยต่ำไม่คุ้ม คนจะหันมาซื้อที่อยู่อาศัย หรือถ้าเศรษฐกิจฟื้น คนก็กลัววัสดุก่อสร้าง ราคาจะเพิ่ม ดอกเบี้ยจะขึ้นคนก็หันมารีบสร้างบ้านเพราะกลัวต้นทุนพุ่ง เรียกว่าได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง ขณะนี้ราคาปูนซีเมนต์เริ่มปรับขึ้นแล้วถุงละ 25 บาท ส่วนเหล็กก็กำลังจะปรับราคาซึ่งก็เชื่อว่า คงปรับราคาไม่รุนแรง เพราะก่อนหน้านั้นเคยปรับขึ้นสูงมาก และผันผวนมาก

ยิ่งถ้ารัฐบาล อัดฉีดงบประมาณ ไทยเข้มแข็ง มากระตุ้นเศรษฐกิจ เชื่อว่าความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างจะขยายตัวสูงขึ้น ส่วนราคาน้ำมันจะกระทบในเรื่องระบบขนส่งวัสดุก่อสร้างมากกว่า และยิ่งถ้าพืชผลเกษตรขายได้ราคาวัสดุก่อสร้างในต่างจังหวัดจะขายดีไปด้วย

เรื่องนี้ยืนยันได้จากการเปิดสาขาแรกที่จังหวัดร้อยเอ็ดในปี 2540 แม้อยู่ในยุคฟองสบู่แตก

แต่ยอดขายกลับพุ่ง นอกจากนี้ยังมีสาเหตุมาจากการปล่อยสินเชื่อด้านที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินที่เริ่มกระจายไปสู่ต่างจังหวัดมากขึ้นไม่ว่าจะเป็น ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ฯลฯ จึงทำให้มีการตื่นตัวจากเดิมซึ่งไม่มีมาก่อนและพฤติกรรมลูกค้าในต่างจังหวัดคือใช้เงินสด ตามงบประมาณที่มีอยู่

จุดขายสำคัญของ โกลบอลเฮ้าส์ คือลูกค้าคืนสินค้าได้ภายใน 30 วัน โดยไม่มีเงื่อนไข อีกทั้งยังสามารถลดต้นทุนได้มาก อีกทั้งการขายสินค้าราคาเดียว จะได้รับความนิยม เพราะเหมือนการจับสินค้ามาจัดระเบียบใหม่ ต่างจากร้านค้าปลีกที่ต้องมีการต่อรองราคา การขายลักษณะนี้มีใบเสร็จแน่นอนสะดวกทั้งเจ้าของบ้านและผู้รับเหมา

นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมโยงข้อมูลออนไลน์กับซัพพลายเออร์ ซึ่งในแต่ละวันจะทำให้ ซัพพลายเออร์รู้ว่าสินค้าชนิดใดขายดี เหลือสินค้าเท่าไร หรือสินค้าชนิดไหนขายไม่ดีก็จะเอาออกจากสต๊อก เป็นต้น ทำให้การบริหารสินค้าคงคลังเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการขาย เพราะจะรู้ว่าสินค้าชนิดไหนขายดีขายไม่ดี

+++ ตั้งเป้าโตปีละ 20-25 %เพิ่มปีละ2-3 สาขา

ส่วนการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯเป้าหมายหลักก็เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการขยายการลงทุนการเพิ่มสาขา ตามเป้าหมายเราอยากจะมีสาขาทั่วประเทศ แต่ก็คงจะเป็นไปลำบาก แต่อย่างน้อย ต้องเปิดสาขาให้ได้ปีละ 2-3 แห่ง แต่ละสาขาจะใช้เงินลงทุน 350-400 ล้านบาทรวมค่าที่ดินและสินค้าคงคลัง

ขณะที่ยอดขายต้องโตปีละ 20-25 % ซึ่งทำได้ไม่ยาก เพราะที่ผ่านมาอัตราการขยายตัวก็อยู่ในเกณฑ์นี้หรือบางปีก้าวกระโดดสาขาที่เปิดอยู่ตัวแล้วยอดขายก็จะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 800 ล้านบาทต่อปี จากปัจจุบันมีสาขาอยู่ 7 แห่งประเทศทั่วประเทศคือ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น อุบลราชธานี เชียงใหม่ ระยอง ชลบุรี นครปฐม และอยู่ในระหว่างการดำเนินการอีก 6 สาขา โดยภายในปีนี้จะเปิดที่ ราชบุรี และทยอยเปิดสาขา นครสวรรค์ อยุธยา กาฬสินธุ์ เมืองทองธานี

การขยายสาขาจะดูเรื่องการคมนาคมเป็นหลัก ทำเลต้องติดถนนเมน เพราะต้องมีรถบรรทุกต้องส่งสินค้าเข้าออกได้แต่ละสาขาจะมีรัศมีห่างกัน 40-50 กิโลเมตร เพื่อให้เอื้อซึ่งกันและกัน การ

สต๊อกสินค้า ยิ่งมีสาขามากก็ยิ่งลดต้นทุนเพราะสามารถในการต่อรองกับซัพพลายเออร์ได้มาก ส่วนเป้าหมายรายได้นั้นในปี 2551 มียอดขาย 4,000 ล้านบาท ในปี 2552 คาดว่าจะอยู่ที่ 4,400 ล้านบาท

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook