ไอซีทีเผยผลพิสูจน์สอบคลิปอภิสิทธิ์ตัดต่อกว่า16จุด

ไอซีทีเผยผลพิสูจน์สอบคลิปอภิสิทธิ์ตัดต่อกว่า16จุด

ไอซีทีเผยผลพิสูจน์สอบคลิปอภิสิทธิ์ตัดต่อกว่า16จุด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไอซีทีเผยผลพิสูจน์ตรวจสอบคลิปเสียงนากยกฯพบถูกตัดต่อไม่น้อยกว่า 16 จุด เร่งติดตามดำเนินคดีทั้งตามพ.ร.บ.คอมพ์ และอาญา ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญทั้งจากรัฐ และเอกชนแจงเทคนิคการตัดต่อทำได้ง่าย

(28ส.ค.) นายสือ ล้ออุทัย ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า จากการที่กระทรวงไอซีทีส่งคลิปเสียงของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้ บริษัท กันตนา พิสูจน์ ในช่วงเวลา 11.00 น. วันเดียวกัน พบว่า มีการตัดต่อทั้งหมด 16 จุด ซึ่งครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมด 80% ของความยาวคลิปเสียง 3 นาที อย่างไรก็ตาม ถ้าตรวจสอบเนื้อหาให้ครอบคลุม 100% คาดว่าจะพบจุดที่ตัดต่อไม่น้อยกว่า 20 จุด แต่เนื่องจากใช้เวลาในการตรวจสอบน้อยทำให้การตรวจสอบเนื้อหายังไม่สมบูรณ์

สำหรับ ตัวอย่างข้อความที่พบว่ามีการตัดต่อเสียงในคลิปดังกล่าวมีดังนี้ คือในช่วงนาทีที่ 2.20-2.28 นาที มีบรรยากาศและเสียงรบกวนไม่คงที่ผิดกับช่วงหลัง ซึ่งสรุปว่าถ้าไม่ตัดต่อเสียงบรรยากาศและเสียงรบกวนต้องคงที่ ซึ่งเป็นประโยค "ปรากฏว่ามีผู้เสียชีวิตจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในช่วงที่มีการปฏิบัติการสลายการชุมนุม"

ส่วนอีกจุดที่พบมีการตัดต่อ คือ ช่วงเวลานาทีที่ 2.58 นาที ซึ่งพบว่าคำไม่สมบูรณ์ หัวคำขาด ไม่ต่อเนื่อง และจุดที่ 3 คือ มีเสียงบรรยากาศไม่คงที่ ประโยคไม่สมบูรณ์ และจังหวะการอ่านไม่เป็นธรรมชาติ

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบหาแหล่งที่ปล่อยคลิปเสียงดังกล่าวผ่านเว็บไซต์ เบื้องต้นพบแล้ว 2 แหล่งและอยู่ในประเทศไทย แต่ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยยืนยันว่าผลการตรวจสอบเป็นไปอย่างถูกต้องทุกขั้นตอน ดังนั้นจึงจะไม่มีแพะรับบาปอย่างแน่นอน ขณะเดียวกันข้อมูลทางเทคนิคนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของหลักฐานสำหรับเจ้าหน้าที่เพื่อใช้ดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดให้ถึงที่สุดต่อไป

สำหรับกรณีตัดต่อและเผยแพร่คลิปเสียงนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ เข้าข่ายการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ส่วนการปิดกั้นเว็บไซต์ที่เผยแพร่คลิปเสียง รมว.ไอซีทีได้ยื่นขอคำสั่งศาลเพื่ปิดเว็บไซต์ที่เผยแพร่แล้ว


ไอซีทีสั่งตรวจสอบเช้า 27 ส.ค.

ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที กล่าวว่า ทันที่ที่ได้รับทราบเรื่องการเผยแพร่คลิปเสียงตั้งแต่เช้าวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยรีบสั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ต (ISOC) ของไอซีที ตรวจสอบแล้วปิดกั้นเว็บไซต์หรือยูอาร์แอลที่เผยแพร่คลิปดังกล่าว เนื่องจากผู้ที่ตัดต่อคลิปดังกล่าวมีการกระทำที่ต้องการให้บ้านเมืองเสียหาย และต้องการปลุกระดมมวลชน และขณะนี้ได้ยื่นขอคำสั่งศาลเพื่อให้ปิดเว็บไซต์ที่แพร่เผยคลิปดังกล่าวด้วย ส่วนคลิปที่เผยแพร่ผ่านยูทูบ จะขอร้องไปยังผู้ดูแลเพื่อให้ลบยูอาร์แอลที่เผยแพร่คลิปดังกล่าวออกได้สั่งให้ผู้เกี่ยวข้องตรวจสอบ พบว่า คลิปเสียงดังกล่าว เริ่มเผยแพร่จากทีวีดาวเทียมก่อน แล้วจึงนำมาเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์

"คลิปเสียงนายกฯ เป็นการตัดต่อจริงๆ ซึ่งบริษัท กันตนา จัดเป็นผู้เชี่ยวชาญในเทคโนโลยีด้านนี้ อีกทั้งเป็นที่ยอมรับของภาคพื้นเอเชียช่วยพิสูจน์ สำหรับบทลงโทษต่อผู้ที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตด้วย พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 เข้าข่ายมาตรา 14 วงเล็บ 3 และวงเล็บ 5 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งสามารถเอาผิดในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายอาญาได้อีก" ร.ต.หญิงระนองรักษ์ กล่าว

ทั้งนี้ หากผู้กระทำความผิดอยู่ต่างประเทศหรือเผยแพร่ข้อมูลมาจากต่างประเทศก็สามารถใช้กฎหมายอาญาเอาผิดได้ แต่ถ้าผู้เผยแพร่คลิปดังกล่าวอยู่ในไทยสามารถใช้กฎหมายที่กล่าวไปข้างต้นเอาผิดได้


ผู้เชี่ยวชาญย้ำคลิปตัดต่อง่าย

นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า การตัดต่อคลิปเสียงทำได้ง่าย เพียงมีไฟล์เอ็มพี 3 และคอมพิวเตอร์เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องมีความรู้มากมาย ผู้ที่ไม่มีความรู้เลย ใช้เวลาสอน 10 นาทีก็สามารถทำได้ เพียงคลิ๊กเมาส์เป็น ส่วนโปรแกรมตัดต่อสามารถดาวน์โหลดโปรแกรมฟรีที่มีให้เลือกมากมายจากเว็บไซต์ และวิธีการตัดต่อทำโดยการเปิดไฟล์เสียงแล้วเลือกว่าจะตัดต่อช่วงไหน จากนั้นลองฟังการตัดดู หากไม่พอใจก็สามารถแก้ไขทำใหม่จนกระทั่งพอใจ หรือจะรวมเสียงให้เหมือนอยู่ด้วยกันก็ยังทำได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook