นักร้องชื่อดังถูกยิงสังหาร เอธิโอเปียเกิดจลาจลหนัก คร่าไปแล้วกว่า 80 ชีวิต

นักร้องชื่อดังถูกยิงสังหาร เอธิโอเปียเกิดจลาจลหนัก คร่าไปแล้วกว่า 80 ชีวิต

นักร้องชื่อดังถูกยิงสังหาร เอธิโอเปียเกิดจลาจลหนัก คร่าไปแล้วกว่า 80 ชีวิต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กองทัพคุมเมืองหลวงเอธิโอเปีย หลังเหตุจลาจลที่ถูกจุดชนวนจากการยิงสังหาร ฮาคาลู ฮันดีซ์ซา นักร้องชื่อดัง คร่าไปกว่า 80 ชีวิต

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อวันพุธ (1 ก.ค.) กองทัพเข้าควบคุมสถานการณ์ในกรุงอาดดิสอาบาบา เมืองหลวงของเอธิโอเปีย หลังจากที่มีการจลาจลรุนแรงบนท้องถนนเข้าสู่วันที่ 2 ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 80 คน

เบเดซซา เมอร์ดัซซา ผู้บัญชาการตำรวจแคว้นโอโรมิยา ระบุว่า ผู้เสียชีวิตมีทั้งพลเรือน 78 คน สมาชิกกองกำลัง 3 คน นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าตำรวจถูกสังหาร 1 คน และเกิดเหตุระเบิดขึ้น 3 ครั้งในกรุงอาดดิสอาบาบา โดยยังไม่มีการระบุตัวเลขผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต

การประท้วงถูกจุดชนวนจากการยิงสังหาร ฮาคาลู ฮันดีซ์ซา นักร้องชื่อดังของเอธิโอเปีย เมื่อคืนวันที่ 29 มิ.ย. โดยการประท้วงเริ่มในกรุงอาดดิสอาบาบา ก่อนจะขยายไปในอีกหลายเมืองของแคว้นโอโรมิยา ยังมีการคาดการณ์ด้วยว่า งานศพของฮาคาลูในวันที่ 2 ก.ค. อาจจุดปะทุให้เกิดการจลาจลมากขึ้นกว่าเดิม

ฮาคาลูเป็นชาวชนเผ่าโอโรโม ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในเอธิโอเปีย กลุ่มชนเผ่าโอโรโมเห็นว่า พวกเขาถูกกีดกันจากอำนาจทางการเมืองมาเป็นเวลานาน โดยฮาคาลูเองก็มีบทบาทในการขับร้องบทเพลงปลุกพลังกลุ่มผู้ประท้วงตลอดการประท้วงนองเลือดยาวนานสามปี จนสามารถกดดันให้นายกรัฐมนตรีคนเก่าลาออก และทำให้อาบีย์ อาห์เหม็ด นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นชาวชนเผ่าโอโรโมเช่นกัน ได้รับการแต่งตั้งในปี 2561

เบเคเล เกอร์บา ผู้นำพรรคฝ่ายค้านโอโรโม และจาวาร์ โมฮัมเหม็ด นักธุรกิจสื่อรายใหญ่ ก็ถูกจับกุมด้วยเช่นกัน หลังจากที่บอดี้การ์ดของจาวาร์ไม่ยอมปลดอาวุธในขณะที่เผชิญหน้ากับตำรวจ

จาวาร์ ซึ่งมาจากเผ่าโอโรโมเช่นกัน ยังเคยเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ของอาบีย์ อย่างไรก็ตาม ทั้งฮาคาลูและจาววาร์ก็หันมาวิจารณ์เขามากขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

จาวาร์เป็นเจ้าของสื่อ โอโรโม มีเดีย เน็ตเวิร์ค ทำให้ตัวเขาได้รับการสนับสนุนทั่วแคว้นโอโรมิยาอย่างรวดเร็ว และอาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อพรรคของอาบีย์ในการเลือกตั้งปีหน้าได้

ภายใต้การนำของรัฐบาลชุดที่แล้ว การเลือกตั้งมักไม่เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม โดยนักเคลื่อนไหวฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลมักถูกจำคุก ทรมาน หรือเนรเทศออกนอกประเทศ ต่อมาในยุคของอาบีย์ ได้มีการเปิดเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น และรับรองว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม

อย่างไรก็ตาม กลุ่มอำนาจท้องถิ่นใหม่อย่างกลุ่มของจาวาร์ก็อาจขึ้นมาเป็นคู่แข่งสำคัญของพรรคเขา หลังจากที่มีการกดขี่ทางการเมืองในเอธิโอเปียมานานหลายสิบปี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook