ผลวิจัยยืนยัน “ไวรัสโคโรนา” เวอร์ชั่นใหม่กระจายตัวเร็ว แต่ไม่ทำให้ป่วยหนัก

ผลวิจัยยืนยัน “ไวรัสโคโรนา” เวอร์ชั่นใหม่กระจายตัวเร็ว แต่ไม่ทำให้ป่วยหนัก

ผลวิจัยยืนยัน “ไวรัสโคโรนา” เวอร์ชั่นใหม่กระจายตัวเร็ว แต่ไม่ทำให้ป่วยหนัก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

งานวิจัยค้นพบหลักฐานที่ยืนยันว่า เชื้อไวรัสโคโรนาที่กลายพันธุ์เป็นเวอร์ชั่นใหม่และมีแนวโน้มที่จะติดต่อสู่คนมากขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้คนป่วยหนักกว่าเวอร์ชั่นเดิม

เอริกา ออลล์มันน์ แซฟไฟร์ จากสถาบันภูมิคุ้มกันวิทยาลา จอลลา และคณะทำงานด้านการบำบัดเชื้อไวรัสโคโรนาด้วยภูมิคุ้มกัน กล่าวว่า ไวรัสในเวอร์ชั่นปัจจุบันนี้ เป็นรูปแบบหลักที่ติดต่อสู่คน

งานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Cell ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสายพันธุกรรมที่บ่งชี้ว่า เชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์ใหม่ได้เกิดขึ้นแล้ว โดยเรียกว่า G614 จากนั้น คณะนักวิจัยได้ทดสอบไวรัสเวอร์ชั่นใหม่นี้ในคน สัตว์ และเซลล์ในห้องทดลอง และพบว่าเชื้อไวรัสตัวนี้มีลักษณะร่วมที่มากกว่าและมีแนวโน้มที่จะติดต่อสู่คนมากกว่าเวอร์ชั่นอื่นๆ รวมทั้งมีลักษณะที่แตกต่างจากเชื้อไวรัส D614 ที่ระบาดจากยุโรปสู่สหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาคร่าวๆ ยังไม่พบว่าเชื้อไวรัสเวอร์ชั่นใหม่นี้จะส่งผลให้ร่างกายของผู้ที่ติดเชื้อแย่ลงกว่าเดิม

นอกจากนี้ นักวิจัยกำลังตรวจสอบว่าไวรัส G614 นี้ จะสามารถควบคุมโดยวัคซีนได้หรือไม่ เนื่องจากวัคซีนที่กำลังพัฒนาอยู่ในขณะนี้ มุ่งทำลายโปรตีนรูปตะปู ที่เชื้อไวรัสใช้แทรกตัวเข้าสู่เซลล์ และยังเป็นวัคซีนที่ใช้สำหรับเชื้อไวรัสสายพันธุ์เก่า

“จากการติดตามข้อมูลในระดับโลก พบว่า เชื้อ G614 สามารถแพร่กระจายได้เร็วกว่า D614 ซึ่งหมายความว่าเชื้อไวรัสมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อสู่คนได้มากกว่าเดิม แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เรายังไม่พบหลักฐานที่ยืนยันว่าเชื้อ G614 จะทำให้เชื้อโรคมีความรุนแรงยิ่งกว่าเดิม” เบตต์ คอร์เบอร์ นักชีววิทยาเชิงทฤษฎี จาก ห้องทดลองแห่งชาติลอสอะลามอส กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบว่า ในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2020 ไวรัส G614 จัดว่าพบได้ยากในยุโรป ทว่าในช่วงปลายเดือนมีนาคม กลับมีการค้นพบไวรัสตัวนี้มากขึ้นทั่วโลก โดยในขณะที่ D614 ระบาดในวงกว้าง ในพื้นที่อย่างเวลส์และน็อตติงแฮมในอังกฤษ รวมทั้งรัฐวอชิงตัน G614 ก็เกิดขึ้นมาและแทนที่ D614 ทันที

“ความถี่ของ G614 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่มีการใช้มาตรการให้ประชาชนอยู่บ้าน และผ่านระยะฟักตัว 2 สัปดาห์ตามลำดับ” นักวิจัยระบุ

ไวรัสเวอร์ชั่นใหม่ดูเหมือนว่าจะมีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วในระบบทางเดินหายใจส่วนบน ได้แก่ จมูก โพรงจมูก และคอ ซึ่งอาจอธิบายได้ว่าเหตุใดเชื้อไวรัสตัวใหม่นี้จึงแพร่กระจายได้ง่าย อย่างไรก็ตาม จากการทดสอบในผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลจำนวน 1,000 คน ในสหราชอาณาจักร พบว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสเวอร์ชั่นใหม่ ไม่ได้มีอาการหนักมากขึ้นกว่าผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเวอร์ชั่นเก่า

เดวิด มอนเตฟิออเร นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยดุ๊ก และผู้อำนวยการห้องทดลองของศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีนเอดส์ ระบุว่า หลังจากที่มีการทดสอบว่าเชื้อไวรัสชนิด G มีความสามารถในการแพร่เชื้อมากกว่าชนิด D หรือไม่ พบว่า เชื้อไวรัสชนิด G มีความสามารถในการแพร่เชื้อมากกว่าชนิด D ราว 3 – 9 เท่า

คอร์เบอร์กล่าวในการแถลงข่าวว่า ผลการวิจัยที่ระบุว่า เชื้อไวรัสเวอร์ชั่นใหม่มีความสามารถในการแพร่เชื้อมากกว่าเวอร์ชั่นเก่า ถือเป็นเครื่องยืนยันว่า การสวมหน้ากากและรักษาระยะห่างทางสังคมยังเป็นสิ่งที่จำเป็น

ด้านแซฟไฟร์ก็ระบุว่า เชื้อไวรัส G614 สามารถนำมาปรับให้เป็นกลางได้โดยใช้เซรุ่มระยะฟื้นโรค ซึ่งได้จากเลือดของผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการทดลอง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เหล่านักวิจัยกังวลก็คือ หากการกลายพันธุ์ทำให้เชื้อไวรัสสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วกว่าเดิมในระดับที่สูงขึ้น ก็อาจจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันต้องทำงานอย่างหนักเพื่อปราบเชื้อไวรัส ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ COVID-19 ได้ที่นี่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook